Wednesday, May 24, 2023
More

    ดันสร้างทางเชื่อมพิเศษบูรพาวิถี – ถ.เลี่ยงเมืองชลบุรี แก้รถติด รับการพัฒนาพื้นที่ EEC

    การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดันแผนสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี 4.4. กม. มูลค่า 5.5 พันล้านบาท แก้ปัญหารถติดด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ถึงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี พร้อมรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC คาดเริ่มก่อสร้างมกราคม 2566 เปิดใช้งานได้มกราคม 2568

    แก้ปัญหาการจราจรติดขัด รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

    โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสุขุมวิท ช่วงจากทางลงทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถึงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และโครงข่ายถนนโดยรอบ และเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการนี้เริ่มต้นเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา – ชลบุรี) ในปัจจุบัน แนวเส้นทางจะอยู่บนเกาะกลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนเทพรัตน) ผ่านด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมติซิตี้ ชลบุรี ตลองตำหรุ เทสโก้ โลตัส พลัสมอลล์ และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ระยะทางรวม 4.4 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับความสูงประมาณ 14.50 เมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร (3 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีทางขึ้น – ลง 2 แห่ง คือ จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณถนนบ้านเก่า และจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี


    อัตราค่าผ่านทางเริ่มต้น 20 กม. แรก 20 บาท กม.ต่อไปบวกเพิ่ม 1.33 บาท/กม.

    สำหรับด่านเก็บค่าผ่านทาง มี 2 แห่ง คือ ด่านเก็บค่าผ่านทางที่ 1 (ด่านชลบุรี – บ้านเก่า) มีช่องเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 12 ช่อง (6 ช่องต่อทิศทาง) ประกอบด้วย ช่องเก็บค่าผ่านทางระบบ Easy Pass ทิศทางละ 2 ช่อง ช่องเก็บค่าผ่านทางระบบเงินสด ทิศทางละ 4 ช่อง และด่านเก็บค่าผ่านทางที่ 2 (ด่านเลี่ยงเมืองชลบุรี) มีช่องเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 8 ช่อง (4 ช่องต่อทิศทาง) ประกอบด้วย ช่องเก็บค่าผ่านทางระบบ Easy Pass ทิศทางละ 2 ช่อง ช่องเก็บค่าผ่านทางระบบเงินสด ทิศทางละ 2 ช่อง

    ส่วนการจัดเก็บค่าผ่านทาง ของโครงการนี้จะเป็นระบบปิด (Closed System) เก็บค่าผ่านทางตามระยะทางที่เกิดขึ้นจริง โดยรับบัตรที่ทางขึ้น และคืนบัตรที่ทางลง แบบเดียวกับโครงการทางพิเศษบูรพาวิถีในปัจจุบัน โดยเบื้องต้นได้กำหนดอัตราค่าผ่านทางที่จะจัดเก็บ เริ่มต้นที่ 20 กม. แรก เก็บ 20 บาท จากนั้นจะบวกเพิ่ม 1.33 บาท/กม.

    วงเงินลงทุน 5,550 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้าง มกราคม 2566 พร้อมให้บริการ มกราคม 2568

    โดยโครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุน ประมาณ 5,550 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) ประมาณ 5,240 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 310 ล้านบาท โครงการนี้มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ที่ 20% สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 12% ซึ่ง กทพ. จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเอง หลังจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาส่งให้ กทพ. ภายในเดือน พฤศจิกายน 2563 จากนั้นในเดือน ธันวาคม 2563 กทพ. จะส่งรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 1-2 ปี ขณะเดียวกัน กทพ. จะเสนอโครงการเพื่อขอความเห็นชอบในการดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควบคู่กันไป โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ในเดือนมกราคม 2566 และเปิดให้บริการเดือนมกราคม 2568

    ปริมาณการจราจรบนถนนสุขุมวิท 3 ทิศทางมากถึง 132,000 คัน/วัน

    ในปัจจุบันบนถนนสุขุมวิท มีปริมาณการจราจร เฉลี่ย 40,000 คัน/วัน ซึ่งเป็นสัดส่วนของรถบรรทุกขนาดใหญ่ถึง 57.41% ขณะที่ปริมาณจราจรบนทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี มีเฉลี่ย 48,000 คัน/วัน และรถที่ออกจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีปริมาณเฉลี่ย 44,000 คัน/วัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรรวมจากทั้ง 3 ทิศทางมากถึง 132,000 คัน/วัน ก่อให้เกิดการตัดกระแสจราจร เนื่องจากมีรถประมาณ 81,000 คันที่ต้องการวิ่งเข้าถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี อีกประมาณ 32,000 คัน ต้องการเข้าไปยังตัวเมืองชลบุรี และที่เหลือจะกลับรถเพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เปิดให้ใช้บริการจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนถนนสุขุมวิท ช่วงจากทางลงทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ถึงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และโครงข่ายถนนโดยรอบ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น