Friday, December 8, 2023
More

    รัฐบูรณาการร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระบบการศึกษาวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม

    ที่ผ่านมา การมีบุตรของวัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15 – 19 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ซึ่งปัญหาดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

    สศช. เผย ภาพรวมอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นไทยปี 2562 ลดลงจากปี 2558

    รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมแม่วัยรุ่นให้อยู่ต่อในระบบการศึกษา เพื่อจะได้มีโอกาสเท่าเทียมกับผู้อื่นและยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมนโยบายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็มีหลายๆปัจจัยที่ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องหยุดเรียน พักการเรียน หรือลาออก


    สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี ในประเทศไทย ภาพรวมมีจำนวนลดลงจาก 51 คน ต่อประชากร 1,000 คนในปี 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2562

    โดยการมีบุตรของแม่วัยรุ่นนั้น พบมากสุดในภาคเหนือและภาคใต้ สำหรับภาคเหนือ มีอัตราการมีบุตรของวัยรุ่น 42 คนต่อประชากร 1,000 คน ภาคใต้อัตราการมีบุตร 35 คนต่อประชากร 1,000 คน อีกทั้งยังพบว่าอัตราการมีบุตรของคุณแม่วัยใส อายุต่ำกว่า 15 ปี มากที่สุดคือ 0.8%

    ปัญหาการตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบทางด้านการศึกษา

    แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย จบการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด 130 คนต่อประชากร 1,000 คน และลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงในครอบครัวยากจนจะมีปัญหาแม่วัยรุ่นสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง อีกทั้งยังพบว่า แม่วัยรุ่นจำนวนมากได้หลุดออกจากระบบการศึกษา มีเพียงแค่ 23% เท่านั้นที่กลับมาศึกษาระดับประถมศึกษาคงเดิม นั้นแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่จะมีงานและรายได้ที่เพียงพอน้อยมาก จึงทำให้ต้องอยู่ด้วยการพึ่งพิงผู้อื่น

    สร้างโอกาสให้แม่วัยรุ่น สามารถอยู่ในระบบศึกษาด้วยรูปแบบเหมาะสมและต่อเนื่อง

    กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ได้ร่วมมือบูรณาการการทำงาน เพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษา ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จัดระบบดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมที่ดี

    สำหรับสวัสดิการของแม่วัยรุ่นที่ประสบปัญหา เช่น การให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว การฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอด การประสานงานเพื่อจัดหางานตามความเหมาะสม จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้