Thursday, October 5, 2023
More

    กัญชาธิปไตย สมุนไพรในคราบยาเสพติด

    ประเด็นร้อนที่ไม่เคยมอด อย่างการเรียกร้องให้กัญชาเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ยังคงมีการถกเถียงในแวดวงเสมอ แม้จะมีความคืบหน้าจากภาครัฐในการผลักดันให้ยาบ้า กัญชา และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดของไทย แต่ก็ยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนในเรื่องนี้
    ไทยล้มเหลวปราบยาเสพติด
    20 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขยาเสพติดในสังคมไทยยังคงเป็นปัญหา สะท้อนได้จากสถิติปี 2559 ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. มีคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 132,850 คดี ผู้ต้องขังในเรือนจำร้อยละ 70 เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ สิ่งนี้สะท้อนว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ
    7 มี.ค. 60 ตร.เมืองชลจับหนุ่มปลูกกัญชา อ้างรักษาแม่เป็นมะเร็ง ตร.หัวเราะลั่น ก่อนทิ้งประโยคเด็ด “พี่ก็ลองเป็นมะเร็งดูสิ”
    6 มี.ค. 60 จับอีกแก๊งค้ายาไซซะนะ ขนกัญชาเกรดเอครึ่งตันส่งชายแดนใต้ อ้างใช้ปรุงทำยารักษามะเร็ง
    24 ธ.ค. 59 หนุ่มเสพกัญชาซิ่งเก๋งแหกด่าน ชนรถพัง 7 คัน ในเขตกรุงเทพฯ มีผู้เสียหาย 7 ราย
    27 ต.ค. 59 หนุ่มวัย 23 ปี ขอเงินแม่ซื้อกัญชาไม่ได้ เกิดคลุ้มคลั่ง จับลูกสาว 2 ขวบ ใช้มีดจี้ต่อรองเพื่อเอาเงินหลังเสพกัญชา
    ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ในปี 2558 มีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดมากถึง 214,144 คนจากผู้ต้องขังทั้งหมด 310,399 คน และยังส่งผลให้ประเทศไทยครองอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในโลก ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคดียาเสพติด
    ประเทศไทยจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้าม บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับอนุญาตจะผลิต (เพาะปลูก) จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งขณะนั้นบ้านเราประสบปัญหายาเสพติดทั้งในด้านการผลิต พื้นที่การค้า พื้นที่แพร่ระบาด และการเป็นทางผ่านยาเสพติด กระทบต่อภาคสังคมอย่างหนักหน่วง แม้จะมีโทษตามกฎหมาย แต่อีกแง่หนึ่งกัญชาก็มีประโยชน์ในการที่มีสารสามารถสกัดเป็นยารักษาโรคด้วย
    การกำหนดให้กัญชาผิดกฎหมายก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนในสังคมมัวเมา แต่อีกนัยหนึ่งก็สร้างความสูญเสียโอกาสทางการพัฒนาด้านการแพทย์ ยารักษาโรค ทำให้ไทยยังขาดดุลการค้า และพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

    โลกสนับสนุนกัญชาถูกกฎหมาย
    ในประเทศตะวันตก กัญชาคือสารเสพติดที่ได้รับการลดหย่อนโทษทางอาญาเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากให้ผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ
    นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา หลายประเทศจึงได้รุดหน้าในการลดหย่อนโทษทางอาญาของกัญชาอย่างต่อเนื่อง
    สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายให้ใช้ในทางการแพทย์ 20 มลรัฐ ทั้งนี้ที่รัฐโคโลราโดยังเปิดให้ประชาชนลงมติผ่านการเปิดเสรีกัญชา โดยมีข้อแม้ว่าสามารถมีการเพาะปลูก จำหน่าย และให้ประชาชนที่มีอายุไม่น้อยกว่า 21 ปี ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ เหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อีก 8 มลรัฐในสหรัฐฯ โหวตให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายเป็นผลสำเร็จ ทำให้ในขณะนี้สหรัฐฯ มีทั้งหมด 28 มลรัฐด้วยกันที่สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
    ขณะที่รัฐบาลแคนาดาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า กัญชาในแคนาดาจะเป็นสิ่งถูกกฎหมายภายในปี 2560 แต่ต้องเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ เพื่อจะทำให้ผู้ป่วย สามารถเข้าถึงการใช้กัญชา เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของตนได้อย่างถูกกฎหมาย
    ด้านอิสราเอล ได้ประกาศยกเลิกโทษอาญาสำหรับการใช้กัญชาส่วนบุคคลเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยผ่านการเห็นชอบร่างจากคณะรัฐมนตรี ทำให้การใช้กัญชาในพื้นที่ส่วนบุคคลในอิสราเอลไม่เป็นความผิด
    ส่วนประเทศญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรกระท่อมให้เป็นพืชยาแล้ว โดยนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร ในส่วนของ สารอนุพันธ์ Alkaloid ในใบกระท่อมซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการระงับอาการปวด รักษาอาการอ่อนเพลีย ระบบทางเดินอาหาร เป็นสารที่ดีที่สุดในใบกระท่อมที่ช่วยในการแก้อาการเหล่านี้ การยื่นจดสิทธิบัตรครั้งนี้เป็นการยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT เพื่อให้มีผลในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
    ขณะที่โลกได้ประกาศยกธงขาวกับยาเสพติดอย่างเป็นทางการในปี 2558 เมื่อ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ผลักดันสงครามต่อต้านยาเสพติดในเวทีโลก ออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า “โลกที่ปราศจากยาเสพติดเป็นเพียงภาพลวงตา สงครามต่อต้านยาเสพติด คือสงครามต่อต้านประชาชน”
    อุตสาหกรรมกัญชาพุ่ง
    จากสถิติของ The Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐฯ ระบุว่าปี 2567 คนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการจะตกงานถึง 814,000 อัตรา เช่น บริการไปรษณีย์
    ขณะที่อุตสาหกรรมสายเขียวในสหรัฐฯ กำลังไปได้ดี เมื่อ 28 มลรัฐประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย  New Frontier Data บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการเงินคาดว่าปี 2563 ในสหรัฐฯ น่าจะผ่านการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายในทางการแพทย์และอนุญาตให้ผู้ใหญ่สามารถใช้ได้ในทุกๆ มลรัฐ ดังนั้นจึงทำให้อุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐฯ หลังปี 2563 จะเติบโตเป็นอย่างมาก
    Giadha Aguirre De Carcer ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ของ New Frontier Data เผยว่า “การสร้างงานในตลาดอย่างมีศักยภาพจะมีความเป็นไปได้สูง หากทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายอย่างเสรีและเปิดเผย” โดยเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ธุรกิจกัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 – 150,000 อัตรา มีทั้งคนปลูกกัญชา นักวิทยาศาสตร์ พนักงานขาย รวมถึงผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาบริการเสริมต่างๆ เช่น Yelp of weed หรือ Uber for pot ที่เป็นการสั่งกัญชาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและส่งตรงถึงหน้าบ้านแบบเดลิเวอรี่
    นอกจากนั้น มีหลักฐานว่ากัญชาจะกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในไม่ช้านี้ โดยสถิติของ The Marijuana Policy Group ระบุว่า ในมลรัฐโคโรลาโดที่กัญชาถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2555 ทำให้คนมีงานทำมากกว่า 18,000 อัตรา หรือในมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่หากทำให้กลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมด้านกัญชาได้จริง ก็จะสามารถสร้างงานได้อีกกว่า 20,000 อัตรา และที่สำคัญยังคาดว่าในปี 2568 อุตสาหกรรมกัญชาจะยิ่งใหญ่มากโดยมีมูลค่าในตลาดสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท
    ไทยเดินหน้าผลักดัน
    ขณะที่ประเทศไทย พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ประกาศว่าจะผลักดันให้ยาบ้า กัญชา และกระท่อมออกจากยาบัญชียาเสพติดของไทย ซึ่งหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และภาคประชาสังคมต่างออกมาขานรับแนวทางดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน
    อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลง ซึ่งดูจะเป็นการมุ่งลดภาระของรัฐมากกว่าพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม เนื่องจาก คดีที่มีสาเหตุจาก ‘ยาบ้า’ หรือเมทแอมเฟตตามีน มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่นๆ โดยมองว่าหากเอายาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดได้ การลดหย่อนโทษของสารเสพติดอื่นๆ ก็จะตามมาในไม่ช้า
    กัญชงมาแรงแซงกัญชา
    มีหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า กัญชงคือกัญชา แต่แท้จริงแล้วต้นกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น โดยใบกัญชง (Hemp) เมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3% ขณะที่กัญชา (Marijuana) เมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร (tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10%
    เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติด เพื่อให้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้ตามพื้นที่ที่กำหนด โดยครม.อนุมัติให้กัญชง สามารถปลูกได้แต่ในพื้นที่ๆ กำหนด มีผลตั้งแต่ปี 2560 โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน ส่วนกัญชาซึ่งเป็นพืชเสพติดทางคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ที่มี นายชาญเชาว์  ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมให้รอบด้าน เนื่องจากยังมีความเห็นขัดแย้งโดยแพทย์มองว่าสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้แต่ก็มีอันตรายจากสารที่เป็นตัวอนุพันธ์จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม
    ถกเถียงเรื่องศีลธรรมคงไม่เพียงพอ 
    ปัญหากัญชาถูกหยิบยกมาพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในแวดวงเสวนาบ้านเรา ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยนักวิชาการแพทย์และประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนามองว่า กัญชา สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ แต่ต้องผลักดันการวิจัยอย่างจริงจัง รวมไปถึงการแก้กฎหมาย เพื่อปลดล็อกให้กัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5
    มีผลวิจัยชี้ชัดว่า กัญชาเป็นพืชยา โดยนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือสุขภาพ มากกว่าที่จะขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด ขณะที่เว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า สารสกัดในกัญชาสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้มะเร็งได้
    ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐฯ ก็กำลังไปได้ดี ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งคนปลูก นักวิทยาศาสตร์ พนักงานขาย รวมถึงผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ดังนั้น หากจะถกเถียงแต่เพียงว่า กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายมอมเมาประชาชน ก็คงไม่เพียงพอ เพราะเมื่อพืชอย่างกัญชาสามารถต่อลมหายใจผู้ป่วยได้ เราจะรอช้าอยู่ไย แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า ไทยจะให้กัญชาหลุดพ้นจากบัญชียาเสพติด แต่ความคืบหน้าในการผลักดันจากหน่วยต่างๆ ก็พอจะทำให้เหล่า “กัญชาชน” ไม่ต้องรออย่างไร้จุดหมายอีกต่อไป

    ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล 
    “ในวงการแพทย์ไทยได้สนับสนุนให้กัญชา เป็นพืชที่ถูกกฎหมายมานานแล้ว เพราะมองว่าประโยชน์ของกัญชา สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากกว่า”
    สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ป.ป.ส.
    “ยังกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ แต่ในอนาคต กัญชาอาจจะเป็นพืชถูกกฎหมายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ล่าสุดเสนอให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมาย แต่ต้องควบคุมการใช้ ไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว สำหรับกัญชา ต้องรอการวิจัยอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะนำเสนอให้เป็นพืชถูกกฎหมายได้”
    นพ.สมยศ กิตติมั่นคง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์มะเร็งและเจ้าของหนังสือ ‘กัญชาคือยารักษามะเร็ง’
    “อุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์จะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล เนื่องจากทุกวันนี้หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยกัญชา จำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น หากมีการเปิดให้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ จะช่วยพัฒนาชีวิตเกษตรกรไทยอย่างก้าวกระโดด”
    ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
    “เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรใบกระท่อมให้เป็นยาแล้ว ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนายาจากสมุนไพรไทยแท้ ดังนั้นควรมีการออกกฎหมายพิเศษให้กัญชาสามารถทำการวิจัยได้ เพื่อให้ไทยได้ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรได้มากขึ้น จะช่วยลดการสั่งซื้อยาจากต่างชาติได้”
    ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
    “ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งกันมาก จะเห็นว่าในแต่ละปีจะมีการสั่งยาเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไทยต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และถ้าถอดกัญชาออกจากสารเสพติดได้ ก็จะลดภาระของรัฐบาล ขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีการใช้กัญชารักษาโรคกันอย่างแพร่หลายแล้ว”
    แอดมินเพจ “กัญชาชน”
    “ถ้าพูดในเรื่องให้กัญชาถูกกฎหมายในเร็วๆ นี้ ผมว่าอาจจะยังไกลไปสำหรับเรา แต่ความคาดหวังตอนนี้ อย่างน้อยก็น่าจะลดโทษทางอาญาลงได้แล้ว เพราะการใช้กัญชาไม่น่าจะต้องถูกตีความเป็นอาชญากรรมแบบที่เป็นอยู่ แม้การนำมาใช้ทางการแพทย์จะถูกยกเว้นแล้วบ้าง แต่เราก็ยังไม่รู้ว่ารายละเอียดว่าต้องใช้ยังไง”