การผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการออกแบบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างฐานประเทศไทยสู่การเป็น Creative Thailand
เร่งสร้างอุตสาหกรรมครีเอทีฟ
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศ แต่ในยุคที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านความคิดสร้างสรรค์ โดยมีฐานคิดหลักคือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนการขับเคลื่อนประเทศจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ด้านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้กำหนดขอบเขตขนาดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยยึดตามรูปแบบขององค์การสหประชาชาติด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และปรับเพิ่มเติมตามรูปแบบของยูเนสโก โดยจำแนกประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
- กลุ่มมรดกทางวัฒนธรรม เช่น อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สินค้า OTOP การแปรรูปสมุนไพรไทย ฯลฯ
- กลุ่มศิลปะและการแสดง เช่น การแสดงโขน การแสดงหุ่นละครเล็ก การร่ายรำมโนราห์ การเชิดหนังตะลุง
- กลุ่มสื่อสมัยใหม่ เช่น งานภาพยนตร์ งานเพลง งานแอนิเมชั่น งานโฆษณา ฯลฯ
- กลุ่มงานออกแบบ เช่น งาน BIG + BIH มีสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงออกแบบมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้เป็นจำนวนมาก หรือ TREND Book ของสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นเพื่อให้นักออกแบบไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริโภคสินค้าสิ่งทอและแฟชั่น
รายงานของยูเนสโก เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมทั่วโลกมีรายรับ 22.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 80 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานถึง 29.5 ล้านคน
ขณะที่อุตสาหกรรมไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึง 1.66 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13.18% ของจีดีพีซึ่งมีมูลค่ารวม 12.14 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาที่มีมูลค่าสูง 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมการออกแบบ และอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียง
ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งพัฒนาสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อสร้างฐานประเทศไทยสู่การเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2560 โดยสติถิพบว่า จำนวนผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ปี 2559 มี 359,515 ราย จำนวนการจ้างงานอาชีพสร้างสรรค์มี 860,654 คน และในด้านสถิติทางทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ปี 2558 จำนวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทยมี 2,090 ครั้ง
เร่งเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี (TCDC) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริบทที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ติดอาวุธใหม่ให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างผลงานที่มีศักยภาพ ล่าสุดได้เนรมิต “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพ” แห่งใหม่ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ครอบคลุมทั้งหมด 5 ชั้น รวมเกือบ 9,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้นเพราะพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว
การย้ายศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบมายังอาคารไปรษณีย์กลางนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างสรรค์เจริญกรุงในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์นำร่องของประเทศไทย ผ่านการพัฒนาพื้นที่ให้มีระบบนิเวศสร้างสรรค์ ส่งเสริมพื้นที่โดยรอบให้มีสีสันและเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนเจริญกรุงให้กลับมามีบทบาทในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง พร้อมพลิกโฉมเจริญกรุงให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ระดับสากล และเพื่อเป็นพื้นที่หลักการจัดงานเทศกาลสร้างสรรค์ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกในปี 2022
ที่ผ่านมา TCDC ให้บริการประชาชนไปถึง 15 ล้านครั้ง ผ่านพื้นที่แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์และบริการออนไลน์ พัฒนาความรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการกว่า 100,000 ราย ส่งเสริมการส่งออกแก่ผู้ประกอบการวัสดุไทยมากกว่า 200 บริษัท ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการในภาคการผลิตและธุรกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านการใช้บริการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ พบว่า ธุรกิจต่างๆ เหล่านั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 26% จากรายได้เดิม
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย คือ ยังขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ข้อมูล Value Chain หรือจำนวนแรงงานสร้างสรรค์ เช่น จำนวนนักออกแบบ
อีกทั้ง ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีจุดแข็ง เช่น บุคคลากรในด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่คนทั่วไปกลับไม่ได้รับรู้ถึงความสามารถและศักยภาพของคนเหล่านี้ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเชิงบวก ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดทางนโยบาย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสื่อสมัยใหม่ในภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว ไม่เพียงแต่สนับสนุนโครงการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ควรเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เน้นให้เกิดการสร้างความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะให้ความคิดนั้นเกิดการต่อยอดและนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว
การสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ผ่านความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไทยไปสู่สนามเศรษฐกิจโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิและก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นประตูสู่ Creative Thailand ได้ในเร็ววัน
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
“หนึ่งในบทบาทสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้า คือ การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ พร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ผลิต เพื่อขับเคลื่อนสังคม ฉะนั้นแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้อย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลมีหน้าที่ได้สนับสนุนงานสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
“การย้ายมาของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบมายังอาคารไปรษณีย์กลางว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างสรรค์เจริญกรุงในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์นำร่องของประเทศไทย เป็นแหล่งรวมงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ เอื้อต่อการดึงดูด บ่มเพาะ และเติบโตของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการดิจิทัล โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนเจริญกรุงให้กลับมามีบทบาทในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง”
อรวรา คงไพบูลย์ Startup ด้านการท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการ TCDC
“ในบริบทที่เราเป็นดีไซน์เนอร์ TCDC ตอบโจทย์ในด้านการออกแบบอย่างมาก ให้ข้อมูลและคอนเนคชั่นที่เกิดจากผลพวงการเข้าร่วมเวิร์คชอป ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ ได้ช่วยเหลือกันในแง่ของธุรกิจที่เราทำอยู่ด้วย TCDC ถือเป็นแหล่งข้อมูลอันดับ 1 ด้านดีไซน์ของเมืองไทย ซึ่งตอนนี้ก็กำลังขยายฐานไปสู่สตาร์ตอัพ และ SMEs เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น”