Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    กฎหมายไทยกับความเท่าเทียมทางเพศ

    กฎหมายไทยกับความเท่าเทียมทางเพศ
    ในยุคดิจิทัลสังคมไทยมีการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เห็นได้จากค่านิยมต่อตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านวิชาการ การศึกษา และบันเทิง อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง อคติทางสังคม และการกีดกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต การเรียกร้องให้มีกฎหมาย พ.ร.บ. รับรองเพศ จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อลดปัญหาเหล่านี้

    เพศทางเลือกที่ไม่ได้เลือก!
    ในยุคนี้ เราจะคุ้นหูกับคำว่า LGBT มากขึ้น อย่างเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม LGBT จากทั่วโลกมาร่วมเดินขบวนพาเหรดในกรุงมาดริด เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสเวิลด์ไพรด์ เปิดเสรีแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น


    หรือแม้แต่แบรนด์แฟชั่นชื่อดัง Gucci ที่เปิดตัวน้ำหอมใหม่ โดยความพิเศษสุดอยู่ที่ตัวนางแบบ ฮาริ เนฟ ที่ป็น “นางแบบข้ามเพศ” แต่ถูกเลือกให้มาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาน้ำหอมผู้หญิง

    แม้ LGBT จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่การกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ก็เกิดตามมา ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศห้าม “คนข้ามเพศ” เข้าทำงานในกองทัพสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและความยุ่งยากอื่นๆ

    ก่อนหน้านี้ สังคมไทยรู้จักคำว่า กะเทย หมายถึงเพศชายที่มีลักษณะการแสดงออกเหมือนเพศหญิง ต่อมาก็มีคำว่า เกย์คิง/เกย์ควีน และ ทอม/ดี้ เกิดขึ้น

    ถัดมาในยุค 1980 ระดับสากลเริ่มใช้คำว่า เควียร์ (Queer) เพื่ออธิบายถึงกลุ่มเพศทางเลือกโดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำกัดแค่ชายรักหญิง หรือหญิงรักชาย

    ส่วน LGBT เริ่มมีมาตั้งแต่ยุค 1990 มีความหมายถึงความหลากหลายของเพศวิถี (Sexuality) แทนการระบุว่าเป็น Lesbian (เลสเบี้ยน), Gay (เกย์), Bisexual (ไบเซ็กชวล), และ Transgender/Transsexual (คนข้ามเพศ)

    ในสังคมไทยเอง มีการเลือกใช้คำเพื่อหลีกเลี่ยงการเหยียดเพศ เช่น “คนข้ามเพศ”, “คนรักเพศเดียวกัน”, “กลุ่มหลากหลายทางเพศ” หรือแม้แต่ “เพศทางเลือก” ที่ดูจะเป็นไปในเชิงบวกว่ามีเพศมากมายให้เลือกเป็น ทั้งที่ก็ถูกใช้เฉพาะเพศอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ชายกับหญิง สะท้อนว่านั่นก็ยังอยู่บนพื้นฐานของการมีเพศหลักๆ คือ ชายและหญิงเท่านั้น

    อันที่จริง “เพศทางเลือก” ที่กล่าวถึง ก็ไม่ได้มีนัยให้เลือกเพศเองได้ เช่นเดียวกับทุกคนที่ไม่สามารถเลือกเพศสภาพตัวเองได้ก่อนกำเนิด แต่กลุ่มคนข้ามเพศกลับถูกแบ่งแยกให้มีสิทธิไม่เท่าเทียมกับชายหญิง

    ด้วยวัฒนธรรมทางสังคมและกฎหมายที่มีอยู่ การปูทางเพื่อเรียกร้องสิทธิให้เพศทางเลือก จึงดูเป็นเรื่องยากกว่าการเรียกร้องสิทธิอื่นๆ

    กฎหมายไทยกับความเท่าเทียมทางเพศ
    สำหรับประเทศไทย มีการเรียกร้องให้เกิด ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศ ขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายทางเลือกให้ กลุ่มผ่าตัดแปลงเพศแล้ว, กลุ่มที่อยากผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีเงิน และกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ด้วยเหตุผลต่างๆ สามารถยื่นคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งทั้งหมดต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์, ไม่มีคู่สมรส, ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และได้แสดงออกถึงเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นต้น

    หากได้รับการพิจารณา ก็จะมีการแก้ไขเอกสารต่างๆ อาทิ มีสิทธิ หน้าที่ และความ
รับผิดชอบ เหมือนผู้ที่มีเพศนั้นโดยกำเนิด

    เพราะเอาเข้าจริงๆ การมี “อัตลักษณ์ทางเพศ” ที่ต่างกับเพศกำเนิด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก เช่น การประกอบอาชีพ เพศทางเลือกมักถูกกีดกันจากองค์กรที่ไม่มีนโยบายเปิดกว้างทางเพศ โดยเฉพาะอาชีพที่มีระเบียบเคร่งครัด เช่น ข้าราชการ LGBT ที่ประกอบอาชีพในกลุ่มนี้จึงค่อนข้างไม่เปิดเผยตัวตนมากในที่ทำงาน 

    ส่วนอาชีพที่ดูจะเปิดกว้างที่สุดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเปิดดูโทรทัศน์ช่องไหนหรือแม้แต่ทีวีออนไลน์ เรามักจะเห็นกลุ่ม LGBT ทำหน้าที่พิธีกรมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่ายินดี ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยอมรับในความสามารถและเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น

    ด้านนักวิชาการทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผศ.ดร.มาตา-ลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านกฎหมายที่ไม่รองรับถึงสิทธิความไม่เท่าเทียมทางเพศ กรณีเพศทางเลือก ดังนี้

    ปัญหาด้านการใช้คำนำหน้าในเอกสารสำคัญ ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ. รับรองเพศ จะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานโดยเพศทางเลือกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายระบุ จะสามารถเลือกใช้คำนำหน้าได้ตามเพศวิถี โดยการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อถือเป็นการลดปัญหาความไม่ยอมรับด้านสังคมอีกทางด้วย

    ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมการทำงาน ถึงแม้ในปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมด้านการทำงาน แต่การประกาศใช้ พ.ร.บ. รับรองเพศ จะเป็นการแก้ไขประเด็นข้างต้นให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และปัญหาในด้านกฎหมายต่างๆ เช่น การใช้สิทธิแทนคู่สมรส, การรับรองสิทธิหากคู่สมรสเสียชีวิต, รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการระบุห้ามไว้แต่อย่างใด แต่เมื่อมีการรับรองถึงคู่สมรสของเพศทางเลือกแล้วนั้น จะช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคม และทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน กว่าจะเป็นรูปร่างและนำเสนอให้ ครม. พิจารณาคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งคงต้องรอกันอีกพักใหญ่ ถึงจะเห็นความคืบหน้า

    การยอมรับจากทั่วโลก
    อันที่จริง หลายประเทศทั่วโลกสร้างกฎและยอมรับให้กลุ่มที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ที่มีเพศนั้นโดยกำเนิด อีกทั้งยังยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หากมีกฎหมายรับรองเพศขึ้น จะทำให้ทุกคนใช้ชีวิตง่ายขึ้น

    ปัจจุบัน มีประเทศที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน 22 ประเทศ ล่าสุด คือ ไต้หวันและเยอรมนี ส่วนไทยกำลังใช้ความพยายามอย่างยากยิ่งที่จะให้มี พ.ร.บ. รับรองเพศ เกิดขึ้น

    แต่ทุกกระบวนการย่อมมีขั้นตอน และปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องความแตกต่างทางเพศ และยังมีการกีดกันการเข้าร่วมกลุ่มจากบางองค์กร บ้างยังมองว่า “กะเทย” เป็นพวกผ่าเหล่า หรือรุนแรงถึงขั้นมองว่าเป็น “ภัยสังคม” บ้างยังมีทัศนคติที่ว่า “สาวประเภทสอง” ต้องเสียงดัง ขี้โวยวาย

    สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นภาพจำที่ทำให้สังคมบางส่วนเหมารวมว่า “เพศทางเลือก” ต้องมีลักษณะแบบนั้น

    ตอนนี้ถือเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นในการเรียกร้องให้มีกฎหมายรับรองเพศในประเทศไทย แต่หากสุดท้ายแล้ว พ.ร.บ. รับรองเพศ ไม่ได้ถูกประกาศใช้ สิ่งที่ทางภาครัฐควรเล็งเห็น คือ ปัญหาด้านสิทธิความไม่เท่าเทียม ที่ควรหาแนวทางเพื่อตอบสนองการดูแลประชากรอย่างครอบคลุม เพราะกฎหมายของประเทศไทยตอนนี้ดูท่าจะสวนทางกับภาพลักษณ์ประเทศจากสายตาของชาวต่างชาติ ที่มองประเทศไทยเป็นดินแดนในฝันของเพศทางเลือก! 


    อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม
    “ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ชี้วัดบุคคลที่ความสามารถมากกว่าเพศสภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีในบางบริบทที่ยังไม่ได้เปิดรับมากนัก ซึ่งหาก พ.ร.บ. รับรองเพศถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเพศน่าจะหมดไป”

    ชวิน ศรีสมวัฒน เพศทางเลือกคลื่นลูกใหม่
    “เคยได้รับผลกระทบทางสังคม เมื่อต้องสัมภาษณ์เพื่อเข้าฝึกงานบริษัทแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า นโยบายของบริษัทไม่รับบุคคลที่แต่งกายตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศ ซึ่งหาก พ.ร.บ. รับรองเพศผ่านการอนุมัติ ส่วนตัวมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทลายกำแพงของความเหลื่อมล้ำให้เบาบางลง

    [English]
    Thai Law and Gender Equality
    While Thailand has been known as an open society for the LGBT (lesbian, gay, bisexual, and transgender) community, gender inequality remains far from being resolved as cases of LGBT people being victims of violence, social prejudice and infringement of basic rights continue to make headlines. 

    One of the approaches to address these problems is the enactment of a new law to endorse gender, which will provide legal support to transgenders or those who wish to receive a sex reassignment surgery.

    The rationale behind the push for the passing of this law could be the fact that people with gender dysphoria have long experienced some kind of social suffering, such as limited occupational choices, as it remains uncommon to see LGBT people in all career groups, particularly at government offices.

    If passed, the new law is hoped to ease social rejection in Thailand as eligible transgender will be able to officially change their title.  The new law should also help pave the way for LGBT people to overcome legal hurdles related to the exercise of rights on behalf of the spouse and the adoption of child or children.

    As the process to draft this law remains under study, it is expected to take another two years before the actual draft becomes ready for Cabinet consideration.