Thursday, May 25, 2023
More

    ฝุ่นพิษ ภัยร้ายปลายจมูกของคนกรุง

    นับวันปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นพิษขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเสี่ยงต่อมะเร็งและโรคร้าย จนมองข้ามไม่ได้

    วายร้ายที่มองไม่ (ค่อย) เห็น
    วิกฤตในตอนนี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 หนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ลอยอยู่รอบตัวเรา


    ฝุ่น PM2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาไหม้ ซึ่งอันดับ 1 คือการเผาในที่โล่งแจ้ง รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการผลิต การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และที่อยู่อาศัย รวมถึงเกิดจากการรวมตัวของก๊าซในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งสามารถปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้เป็นเวลานาน

    ด้วยขนาดที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ จึงเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดได้โดยตรง เมื่อสะสมเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลร้ายต่อการทำงานของอวัยวะนั้นๆ

    องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเตือนว่า PM2.5 ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพที่อันตรายมากกว่าโรคระบาดอีโบลาและเอช-ไอวีเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนราว 6.5 ล้านคนทุกปี และในปี พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

    ขณะเดียวกัน State Global Air ยังระบุว่าในปี 2558 PM2.5 เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในไทย ประมาณ 37,500 คน และยังเป็นบ่อเกิดของโรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคติด-เชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่างอีกด้วย

    ทั้งนี้ จากรายงานของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ร้อยละ 92 ของประชากรโลก หรือประมาณ 6.76 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศเกินเกณฑ์ที่ WHO กำหนด

    โดยค่ามาตรฐานความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ในเวลา 1 ปี ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

    สถานการณ์ที่รุ่นแรงในไทย
    โดยภาคประชาสังคมยังคงมองว่าภาครัฐยังแก้ปัญหาได้ไม่มีประสิทธิภาพ โดยกรมควบคุมมลพิษ มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 เพียง 19 สถานี ในพื้นที่ 14 จังหวัด ถือว่ายังไม่ครอบคลุมนัก เมื่อเทียบกับสถานีทั้งหมด 61 แห่งทั่วประเทศ ใน 29 จังหวัด 

    จากการจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในปี พ.ศ. 2559 มี 10 พื้นที่เกินค่ามาตรฐานของไทย แต่ที่น่ากังวลใจคือทั้ง 19 สถานีเกินค่ามาตรฐานของ WHO 

    ในขณะที่ครึ่งปี 2560 ผ่านไปทุกสถานีเกินค่ามาตรฐานของ WHO โดยมี 4 จังหวัดคือ จ.ชลบุรี จ.น่าน จ.ระยอง และ จ.สงขลา เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานของไทย

    คุณจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานกรีนพีซฯ เผยถึงสถิติตลอด 3 ปีที่ผ่านมาว่า ค่าความเข้มข้นไม่แตกต่างกัน อย่างที่ กทม.มลพิษมาจากการขนส่ง และมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่พัดมาจาก จ.ระยอง ส่วนพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร พบปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ส่วน จ.เชียงใหม่ ประสบกับเรื่องการคมนาคมและเผาในที่โล่ง จ.ลำปาง มี
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และปีนี้มีการเพิ่มขึ้นที่ จ.น่าน ซึ่งบางอำเภอพบปัญหาจากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หงสาลอยข้ามฝั่งมา

    ขณะเดียวกันหากจะบอกว่าที่ไหนอากาศดีหรือแย่ได้นั้น จะยึดตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เดิมทีกรมควบคุมมลพิษได้คำนวณจากค่าสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ได้แก่ โอโซนระดับพื้นดิน (O³) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ทว่าหลายประเทศทั่วโลกได้นำค่าฝุ่น PM2.5 รวมอยู่ด้วยแล้ว 

    จึงมีความพยายามให้กรมควบคุมมลพิษปรับปรุงค่าความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 เสียใหม่ โดยให้เท่ากับข้อแนะนำของ WHO พร้อมนำเอาค่าฝุ่น PM2.5 เข้ามารวมอยู่ในคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อความแม่นยำของข้อมูล รวมถึงเร่งติดตั้งสถานีตรวจวัด PM2.5 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

    เตรียมรับมือมลพิษทางอากาศ
    ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ได้เปิดรับความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ ช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพทางอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
    1. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ
    2. ลดมลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤต
    3. ยุทธศาสตร์จัดการคุณภาพอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของ
ผลประโยชน์ร่วม
    4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งหยิบยกการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้าไว้ในแผนด้วย


    นายเสกสรร แสงดาว ผอ.ส่วนแผนงาน สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน เช่น การลดมลพิษจากภาคการผลิต จะอยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหามลพิษจากรถยนต์ เป็นหน้าที่ของกรมขนส่งเข้ามาดูแล โดยภายใน
สิ้นปีงบประมาณนี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในปีนี้

    ขณะที่ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่น PM2.5 เพิ่มเป็น 26 สถานีใน 18 จังหวัด และจะขยายให้ครบทุกสถานี ในปี 2562 อีกทั้งยังได้มีการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยบวกตัว PM2.5 เข้าไปด้วยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองการเผยแพร่ข้อมูล โดยสามารถติดตามได้ทาง Air4
Thai.PCD.go.th, AQMTHAI.COM รวมถึงแอพพลิเคชั่น Air4Thai และเฟซบุ๊กรู้ทัน(หมอก)ควัน ซึ่งกำลังประเมินว่าช่องทางไหนประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

    เมืองสีเขียวช่วยเยียวยาปัญหาฝุ่น
    พื้นที่สีเขียวในเมืองก็เป็นอีกหนทางในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองได้ โดยต้นไม้ใหญ่สามารถดักจับฝุ่นละออง ดูดซับปริมาณก๊าซพิษในอากาศ อย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ที่เป็นต้นกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 นั่นเอง โดยพื้นที่ที่มีต้นไม้หนาแน่นสามารถกักเก็บฝุ่นละอองได้มากกว่าพื้นที่ที่มีต้นไม้น้อย สูงสุดถึง 16 เท่า

    ในสหรัฐอเมริกาป่าในเมืองสามารถดักจับมลพิษได้หลายร้อยตันต่อปี ส่วนที่เมืองกลาสโกว์ และภูมิภาคตอนกลางด้านตะวันตกของสหราชอาณาจักร พบว่าเมื่อพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก็จะลดลง เนื่องจากสามารถดักฝุ่นได้ประมาณ 100 กรัม 

    ขณะเดียวกันในกรุงปักกิ่งต้นไม้ใหญ่สามารถดักจับฝุ่นละออง PM10 ได้ประมาณ 300 กรัม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้นไม้ที่โตเต็มวัยดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 1.4 กิโลกรัม ส่วนกรุงเทพฯ มีแผนจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 950 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะรวม 3,651 ไร่ ทั้งนี้ในต่างประเทศยังมีการศึกษาความสามารถของต้นไม้ผลัดใบและต้นสน ในการดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน เพื่อจะนำความรู้สู่การแก้ปัญหาฝุ่นพิษในเมืองต่อไป

    อย่างไรก็ตามถึงเวลาที่ภาครัฐต้องแสดงความจริงจังต่อปัญหาใหญ่ที่อยู่ใกล้แค่ปลายจมูก รวมถึงสร้างแผนยุทธศาสตร์ที่หนักแน่น เพื่อคืนอากาศสะอาดให้แก่ประชาชน หากแก้ได้ ก็คงเป็นผลงานที่เข้าตาประชาชนได้ไม่ใช่น้อย 


    นายเสกสรร แสงดาว ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน สำนักจัดการคุณภาพอากาศและสียง กรมควบคุมมลพิษ
    “กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการตามกฎหมายที่วางไว้คือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535  ซึ่งที่ผ่านมาก็ตระหนักในบทบาท Regulator โดยได้พยายามออกกฎหมายไปสู่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และปกป้องสุขภาพของประชาชน อันเป็นภารกิจแรกๆ ที่ทางกรมกำลังพยายามเดินหน้าไปหาเกิดความสำเร็จ”

    คุณจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานฯ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    “ประชาชนนับล้านคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหากไม่มีการปรับปรุงดัชนีคุณภาพของประเทศไทย ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อกอบกู้วิกฤตด้านสุขภาพของคนในประเทศ และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ และปกป้องชีวิตผู้คน”

    [English]
    Crisis of Thais : Particulate Matter 2.5 (PM2.5)
    As cities continue expanding, the problem of air pollution simply exacerbates, especially with the particulate matter 2.5 (PM2.5 —  a serious health threat and presents risks of cancer and other severe illnesses.

    Caused by outdoor burning and industrial manufacturing activities, transportation, power generation and households, toxic PM2.5 is so tiny that it measures smaller than 1/25 of human hair’s diameter.  This means it is inhalable and can be deposited in the respiratory tract or even in bloodstream while being able to conveniently spread to any parts of a body and its accumulation can harm the organs where such a situation takes place.

    The World Health Organization has warned that PM2.5 can be more life-threatening than Ebola or HIV because it has already killed around 6.5 million people each year while a report from the United Nations suggested that about 92% of the world population, or about 6.76 billion people, are currently living in the areas where the level of air pollution is higher than the WHO guidelines have stated.

    In Thailand, state agencies have been criticized for being inefficient in tackling this problem. The Pollution Control Department’s plan for a 20-year strategy to improve air quality in the country may be a good sign but the Thai government is still to show how committed they are to bring back clean air to Thai people.