Wednesday, October 4, 2023
More

    ผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก

    หลายปีที่ผ่านมาผู้คนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลอันตรายจาก DKI ใช้สารเคมี ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์กลายเป็นเทรนด์ของโลก ส่งผลให้ภาครัฐมุ่งผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น

    ภาครัฐหนุนเกษตรอินทรีย์ไทย
    ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลก โดยที่ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม และมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและบริโภค โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญของการผลิตเกษตรอินทรีย์ 4 ด้านที่สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM: International of Organic Agriculture Movement) ได้กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านนิเวศวิทยา ด้านความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค และด้านการดูแลเอาใจใส่เรื่องการบริหารจัดการ นอกจากนี้ได้ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้


    โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564” ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือ
    1. ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์
    2. พัฒนาการผลิตสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์
    3. พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ
    4. การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

    ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รับลูกต่อในส่วนของการขับเคลื่อนด้านการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปี 2560-2564 เพื่อให้สินค้าอินทรีย์ของไทยได้พัฒนารูปแบบและเชื่อมโยงสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสากลมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย
    1. สร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้คนได้รู้ถึงคุณค่าของการบริโภคอาหารอินทรีย์ว่า นอกจากดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
    2. ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ ยกระดับของไทยให้ได้มาตรฐานสากล อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
    3. พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ มุ่งหวังสู่การเพิ่มช่องทางการตลาด เพราะถ้ายิ่งขยายตลาดก็จะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง และทำให้คนนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น  
    4. พัฒนาสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์ ด้วยการแปรรูปและใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น พัฒนาข้าวให้เป็นอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง อันจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้และหันมาบริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้น มูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลให้เกษตรกรหันมาให้ความสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

    หวังเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลก 
    จากแนวโน้มกระแสความนิยมในเรื่องสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2.95 ล้านล้านบาท โดยที่มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 ต่อปี สำหรับพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีประมาณ 318 ไร่ ขยายตัวเฉลี่ยในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 2 ซึ่งในส่วนตลาดสำคัญในโลก ได้แก่
    1. สหรัฐ
อเมริกาและแคนาดา มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
    2. ยุโรป มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และ
    3. โซนอื่นๆ เช่น เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 8 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ 

    ส่วนในประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด แต่มีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 99.8 ไทยมีมูลค่าตลาดภายในประเทศประมาณ 2,730 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกประมาณ 1 พันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ทางภาครัฐของไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 6 แสนไร่ภายในปี 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศและตลาด
ส่งออกเป็น 40 ต่อ 60  ทั้งนี้แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของประชากรโลก แต่สิ่งที่ต้องเร่งผลักดันกันคือเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อการส่งออกต่อไป

    ส่งออกตลาดโลกต้องมีมาตรฐานรองรับ
    ด้านนายพีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลตั้งแต่ปี 2543 ได้แนะนำเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์เอาไว้ว่า ในขั้นแรกคือการตรวจสอบภายใน จากนั้นในขั้นที่ 2 คือการรับรองคุณภาพแบบกลุ่ม หรือ PGS ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเอง และขั้นสุดท้าย คือการรับรองมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีองค์กรนานาชาติเข้ามาตรวจสอบและรับรอง ทำให้สามารถส่งสินค้าออกไปได้กว้างมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ เกษตรกร จะต้องค่อยๆ ขยับไปทีละขั้น

    โดยขณะนี้ทางยุโรปกำลังให้ความสำคัญ คือมาตรฐานที่เรียกว่า IFOAM Family of Standard ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ สำหรับในประเทศไทย สามารถไปขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ที่สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ โดยสามารถตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้ง IFOAM สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และ มกท.

    นอกจากนี้กระทรวงพานิชย์ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน รวมถึงการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าของอาเซียนขึ้น อันจะสร้างการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นผลดีในการส่งสินค้าสู่ตลาดโลกได้

    จากการสำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน พบว่าพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 235,523.35 ไร่ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 284,918.44 ไร่ในปี พ.ศ. 2558 (เพิ่มขึ้น 20.97%) ในส่วนของจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 9,961 ฟาร์มในปี พ.ศ. 2557 เป็น 13,154 ฟาร์ม ในปี พ.ศ. 2558

    ทั้งนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้น คงต้องได้การยอมรับและความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล จะได้มีการพัฒนาช่องทางการตลาดให้มีจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้เติบโตได้ในตลาดโลก ที่สุดแล้วก็จะเกิดประโยชน์ทางตรงต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในด้านสุขภาพ ที่สำคัญคือการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง


    นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์
    “เกษตรอินทรีย์ของไทยมีศักยภาพสูง เพราะมีความหลากหลาย มีจำนวนเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์และผู้ประกอบการหันมาทำสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพานิชย์จึงได้มีแผนที่จะผลักดันการค้าสินค้าอินทรย์ให้ขยายออกไป โดยหวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของภูมิภาคอาเซียน”

    Mr. Markus Reetz Executive Director of Nurnberg Messe GmbH ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์
    “คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในตลาดอินทรีย์ มองเรื่องตลาดที่มีมูลค่า  อาจแตกต่างจากคนรุ่นบุกเบิกที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลก และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จึงต้องรู้ว่ามาเริ่มต้นมาจากอะไร ต้องไม่ให้พลังด้านการค้ามาทำให้แนวคิดของการทำเกษตรอินทรีย์หลุดลอยจากจุดเริ่มต้น”

    [English]
    Thai Organic Products’ Future in Global Markets

    Thailand’s organic agriculture is set on the path toward expansion after the government approved its new strategy to further promote this sector.  Under the latest plan, the government will implement such measures as the promotion of organic farming research and innovation, the development of new organic agricultural products and services, and the push to turn Thailand into ASEAN’s leader in organic agriculture.

    To help the country achieve such ambitions in a sustainable manner while enjoying international recognition, the Ministry of Commerce’s Department of Internal Trade has rolled out programs to further develop local organic products, which range from the promotion of consumer awareness about the health benefits of chemical-free products to the setting of standards for Thai products to reach international markets and the opening of new markets.

    Currently, the value of the organic agriculture sector in the global market is estimated at nearly US$80 billion and it is expected to be growing by 20% each year, with the biggest market being the US and Canada (US$40 bln), followed by Europe (US$30 bln).

    The Thai government has planned to double the production of organic products, which now utilizes only 2% of the country’s total farming area, by 2021.