Wednesday, May 24, 2023
More

    Lock Box บริการตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระ

    หากใครเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ น่าจะเคยสะดุดตากับตู้รับฝากของอัตโนมัติสีเหลืองโดดเด่น Lock Box (ลอคค์บอกซ์) โดยฝีมือซีอีโอหนุ่มวัย 25 ปี คุณวิน-อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ที่มองเห็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มีและลงมือทำแบบจริงจัง เพื่อยกระดับขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยวไทยให้ขึ้นไปสู่มาตรฐานบริการระดับสากล

    ได้ไอเดียการทำธุรกิจนี้มาจากไหน
    “พื้นฐานผมทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ผมชอบเดินทางทั่วโลกเพื่อหาไอเดีย หา Innovation ใหม่ๆ เวลาไปต่างประเทศผมมักจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และสงสัยว่าทำไมเมืองไทยถึงไม่มี Locker Service แบบต่างประเทศบ้าง จนช่วงหนึ่งกลับมาเมืองไทยและว่างพอดี เลยคิดอยากทำสตาร์ทอัพที่แหวกแนวจากการทำอสังหาฯ เลยคิดว่าสิ่งนี้แหละน่าจะไปได้ดีก็เลยเริ่มศึกษาธุรกิจล็อกเกอร์อย่างจริงจัง” 


    เปิดตัวแบรนด์ตู้ล็อกเกอร์แห่งแรกในไทย
    “ผมใช้เวลาศึกษาธุรกิจนี้นานเป็นปี จนได้มาเป็น Lock Box ผู้ให้บริการตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระในระบบการขนส่งมวลชนรายแรกของไทย คอนเซ็ปต์คือ Safe & Easy เราทดลองเปิดใช้ที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ในเดือน ก.พ. 2559 ผลตอบรับค่อนข้างดี ปัจจุบันมีตามรถไฟฟ้า 14 สถานี 20 จุด เลือกจุดสำคัญๆ ผมทำอสังหาฯ มาก่อน ทำให้รู้ว่าพื้นที่ไหนที่เราจะต่อยอดธุรกิจได้ เช่น อโศก สีลม จตุจักร พหลโยธิน ฯลฯ ผ่านไปซักพักผมก็คิดแล้วว่า ‘เอ๊ะ! ล็อกเกอร์อย่างเดียวจะน่าเบื่อไปมั้ย’ เพราะผมเป็นคนชอบลองอะไรใหม่ๆ ก็เลยเปิดแบรนด์ใหม่ Lock Bike บริเวณสวนลุมพินี เพราะเมืองไทยยังไม่มีที่จอดจักรยานดีๆ ซึ่งผลตอบรับก็ดีเช่นกัน”

    ไลฟ์สไตล์ของคนที่มาใช้ Lock Box
    “คนเมือง คนออฟฟิศ ซึ่งก็มีหลายช่วงเวลาของตัวเอง อย่างถ้าจะไปออกกำลังกายที่สวนลุมแล้วไม่มีที่เก็บของ เขาก็ต้องหาที่ฝาก เราสำรวจมาว่า มีบางกลุ่มไปฝากกับร้านค้า ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะปลอดภัย หรือกลุ่มที่จะไปต่อที่ต่างๆ เช่น ชอปปิงเสร็จไปประชุมแต่ไม่มีที่ฝากกระเป๋า ก็มาฝากที่ล็อกเกอร์เราได้ หรือกลุ่มที่เที่ยวดึกๆ กลับมาพร้อมทำงานต่อเลย พวกเขาก็จะเอาเสื้อผ้าเตรียมใส่ไปทำงานมาฝากไว้ที่ล็อกเกอร์ พอเที่ยวเสร็จก็กลับมาที่ล็อกเกอร์เปลี่ยนชุดไปทำงานได้เลย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนตื่นเช้ามาทำงาน หรือคนกลางคืนที่ไปเที่ยว Lock Box รองรับการใช้ชีวิตของทุกคน” 

    ขั้นตอนการใช้งาน
    “เริ่มจากกดเลือกฝากของและเลือกขนาดตู้ จากนั้นเลือกรูปแบบการใช้บริการ แบ่งเป็นฝากรายวันและฝากรายชั่วโมง ขั้นต่อไปคือใส่เบอร์โทร.และพาสเวิร์ดเพื่อยืนยัน ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือ การชำระเงิน สามารถชำระได้ทั้งเหรียญและธนบัตร ราคาเริ่มต้น 20 บาท จากนั้นก็นำสิ่งของเข้าไปฝากในตู้ที่เลือกไว้ได้เลย โดยจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกๆ 15 นาที มีวิดีโอแนะนำการใช้งาน รวมถึงมีคำแนะนำข้างตู้อธิบาย รับรองใช้งานง่าย (ดูรายละเอียดได้ที่ www.lockbox-th.com)”

    ยอดผู้ใช้บริการปัจจุบัน
    “ปัจจุบันผู้ใช้แบ่งเป็นคนไทย 50% ชาวต่างชาติ 50% แต่ผมมองว่าอยากให้คนไทยใช้ซัก 70% เพราะต่างชาติมาใช้แค่วีคเอนด์แล้วกลับบ้านไป กลุ่มลูกค้าคนไทยเลยเป็นกลุ่มหลักของเรา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกซักปีหรือสองปีเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะใช้ได้เกิดประโยชน์ที่สุดคือ คนที่เคยไปใช้ที่ต่างประเทศมาก่อน แต่คนที่ยังไม่เคยใช้ก็จะช้าหน่อย เลยเป็นความยากของเราที่ต้องอธิบายการใช้ ที่ผ่านมายอดใช้งานต่อเดือนประมาณ 10,000 คนแล้ว”

    จุดขายของ Lock Box คืออะไร
    “เป็นบริการล็อกเกอร์เจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง รวมถึงเรื่องสีสัน Lock Box เป็นตู้สีเหลืองโดดเด่น ต่างจากตู้ล็อกเกอร์อื่นๆ ที่มักจะใช้สีดำ เทา ขาว และเรามีแอมบาสเดอร์ เพื่อจะบอกเล่าว่า Lock Box คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ที่สำคัญเรามีเรื่องระบบความปลอดภัยที่ดีที่สุด มีกล้อง CCTV และกล้องสำหรับจับหน้าตอนลูกค้าทำรายการ มีเงื่อนไขฝากไม่ให้เกิน 3 วัน ไม่ให้ฝากของมีค่า ของนำไฟ วัตถุโบราณ ยาเสพติด ถ้าผิดจากกฎเราสามารถไขตู้ออกมาตรวจสอบได้ นี่เป็นเหตุผลที่ต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดฯ ดูไบ ติดต่อเอา Lock Box ไปที่ประเทศเขา ส่วนในไทยแพลนไว้ว่าอาจจะขยายไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย”

    ต้องทำงานกับหลายฝ่ายด้วยใช่ไหม
    “การมาทำตรงนี้เราต้องคุยกับคนเยอะมาก ทั้งตำรวจ เทศกิจ กทม. BTS MRT เจ้าของตึก รวมถึงร้านค้าแถวนั้นผมก็ต้องไปคุย แจ้งเขาว่า ‘มีอะไรบอกกันบ้างนะครับ’ มีอะไรช่วยได้ก็ช่วยกัน ก็เหมือนคนข้างบ้าน ถ้าตู้เต็มเขาก็สามารถแจ้งลูกค้าให้ใช้ตู้ฝั่งตรงข้ามได้ เป็นต้น ส่วนรัฐเองก็มองว่าธุรกิจนี้เป็นอะไรที่ควรมีนานแล้ว เขาถึงแฮปปี้ที่จะเข้ามาช่วยเราให้ทำงานง่ายขึ้น”

    ความยากของธุรกิจนี้อยู่ตรงไหน
    “ทำสตาร์ทอัพต้องมีความบ้า มีแพสชั่น บางทีไอเดียดีแต่จะหาคนที่มีแพสชั่นเหมือนกันมาทำได้มั้ย หรือเจอกฎหมายบางอย่างที่เราไม่รู้ เจอเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย ความยากของ Lock Box คือการทำความเข้าใจกับคนว่าทำไมคุณต้องใช้และใช้ยังไง หรือการบริหารงาน ผมเคยเป็นลูกจ้างมาก่อน 3 ปี ทำให้รู้ว่าลูกจ้างต้องการอะไร ไม่ใช่แค่ทำงานให้เงินแล้วเขาพอใจ แต่เราต้องเข้าใจ คุยกับเขา งานต้องท้าทายถึงจะสนุก ถ้าได้คนทำงานดีผมก็สบาย มีเวลาคิดโปรเจกต์อื่น ผมว่านักบริหารทุกคนมองว่าการบริหารคนยากที่สุด ซึ่งถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็คงทำไม่ได้”

    พิสูจน์ตัวเองให้คนที่บ้านเห็น
    ธุรกิจนี้ผมแทบจะไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากที่บ้านเลย หลายคนมองว่าผมพื้นฐานดี มีช้อนทองคำมาให้ ซึ่งไม่ใช่เลย ธุรกิจนี้ผมลุยเองหมด เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งเมื่อผมกลับไปทำที่บ้าน เขาก็จะเห็นแล้วว่า ผมเก่ง ผมทำได้ ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ครอบครัวทำธุรกิจมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่จำความได้ผมก็จะเข้าออฟฟิศคุณพ่อ โตมาผมก็เรียนหลายๆ อย่าง ตอนทำงานเป็นที่ปรึกษาเรียลเอสเตทผมก็ได้ทำหลายๆ อย่าง พอมาทำสตาร์ทอัพ มาเป็นซีอีโอ มันไม่ใช่แค่วิสชั่นกับธุรกิจแล้ว แต่คือการทำงานกับคน แล้วผมอายุน้อยแค่นี้ต้องไปคุมคนที่อายุเยอะกว่า จะคุมเขายังไงให้อยู่กับเราได้”

    ซีอีโออายุน้อย
    “ผมอาจจะเป็นเจ้านายที่โหด (หรือเปล่า) เสาร์อาทิตย์ถ้าคิดอะไรออกผมก็ไลน์หา โทร.หา เพราะถ้าคิดแล้วไม่รีบบอกจะลืม (ฮา) อยู่กับผมคุณต้อง alert ตลอดเวลา ฉะนั้น พนักงานต้องใจสู้ ผมชื่นชมผู้จัดการผมมาก ตีสองตีสามเขาก็ยังทำงานกับผมอยู่ ต้องเป็นคนที่บ้าพอกันถึงจะอยู่ได้ เราต้องหาคนหลากหลายมาทำงาน ถ้าเอาคนเหมือนกันมาเขาก็จะแย่งงานกัน อย่างผมจะมีที่ปรึกษาหลายๆ ด้าน และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด ผมเป็นคนที่เรียนคอร์สเยอะมาก ถึงงานยุ่งก็ต้องหาเวลาไปเรียน บางคนอาจอ่านหนังสือ แต่ผมชอบเทคคอร์ส เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะโลกทุกวันนี้หมุนเร็วมาก”