Wednesday, September 27, 2023
More

    ICSI ทางเลือกในการแก้ปัญหาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรยาก

    หลาย ๆ คู่รักย่อมคาดหวังความสมบูรณ์ของครอบครัวด้วยการมีเจ้าตัวเล็กมาเพิ่มสีสันให้ชีวิต แต่ก็มีหลายครอบครัวไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการมีบุตรด้วยตนเอง จึงต้องเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยการทําอิ๊กซี่ หรือ ICSI ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิกันนอกร่างกาย โดยมีอัตราความสำเร็จที่สูง แล้วเทคนิคนี้ มีความเสี่ยงหรือไม่ เหมาะกับใคร มีกระบวนการในการทำอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

    การทำอิ๊กซี่ ICSI คืออะไร


    การทําอิ๊กซี่ หรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Intracytoplasmic Sperm Injection เรียกสั้น ๆ ว่า ICSI คือ เทคนิคที่ช่วยในการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิภายนอกร่างกาย เพื่อเป็นทางออกสำหรับผู้ที่มีปัญหาการมีบุตรยากจากสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงปัญหาทางพันธุกรรมของครอบครัวด้วย

    เราจะทํา ICSI เมื่อพบว่า ฝ่ายชายมีปัญหาในเรื่องจำนวนอสุจิที่ต่ำกว่าปกติ หรือคุณภาพของอสุจิที่ไม่ดีนัก หรือฝ่ายหญิงที่มีปัญหามดลูก หรือทั้งคู่ที่ใช้เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่ง ICSI จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะใช้สเปิร์มเพียงตัวเดียวฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง

    หลาย ๆ คนเลือกทําอิ๊กซี่ด้วยสาเหตุต่างกัน นอกจากการมีบุตรยากแล้ว ขั้นตอนหนึ่งของการทํา ICSI คือ การวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนระยะก่อนฝังตัว (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) โดยการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, X และ/หรือ Y ซึ่งในโครโมโซมคู่ที่ 21 จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) ซึ่งมักพบในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

    ดังนั้น การทำ PGD ในขั้นตอนของ ICSI นั้น จึงช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ในตอนที่มีอายุมาก (35 ปีขึ้นไป) หรือผู้ที่มีประวัติความผิดปกติด้านพันธุกรรมในครอบครัว หรือผู้ที่เป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมได้

    แต่ทั้งนี้ การทํา ICSI ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดมาก ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจสุขภาพ เก็บอสุจิ จนถึงการฉีดเข้าสู่ไข่โดยตรง ดังนั้น เราจึงควรจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและอัตราการประสบความสำเร็จที่สูงขึ้น

    การทำ ICSI โอกาสสำเร็จเท่าไหร่

    การทํา ICSI ถือว่า เป็นเทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาการมีบุตรยากที่ได้รับประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการช่วยปฏิสนธิมากถึง 90% โดยมีอัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 32% เพราะภายหลังจากการปฏิสนธิกัน ก็มีโอกาสที่ไข่จะเกิดการเสียหาย หรือหยุดการเจริญเติบโตได้ ซึ่งถือว่าปัจจัยที่เกิดจากสุขภาพของฝ่ายหญิง

    อาจจะกล่าวได้ว่า อัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์จากการทํา ICSI จะอยู่ที่ 40 – 70% โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ประการ เช่น

    • สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นต้น
    • อายุของฝ่ายหญิง หากมีอายุที่มากขึ้น โอกาสประสบความสำเร็จก็จะยิ่งลดลง
    • คุณภาพของตัวอ่อน หากมีจำนวนเซลล์ที่แข็งแรงและรูปร่างปกติ ก็มีแนวโน้มที่จะฝังตัวและทำให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ
    • ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ ก็ส่งผลด้วยเช่นกัน

    ICSI อันตรายไหม เสี่ยงอะไรบ้าง

    การทำ ICSI ถือว่าเป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัย หากเราเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน แต่ทั้งนี้ ICSI เองก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับขั้นตอนทางการแพทย์อื่น ๆ โดยอาจจะมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

    • ภาวะการกระตุ้นรังไข่มากเกินไป (OHSS) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่หาได้ยาก และส่งผลร้ายแรง เกิดขึ้นเมื่อรังไข่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ในการกระตุ้นการผลิตไข่มากเกินไป ทำให้เกิดอาการบวมและเจ็บปวด
    • การตั้งครรภ์แฝด เป็นความเสี่ยงที่อาจจะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งมารดาและทารก รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีก
    • ไข่เกิดความเสียหาย ด้วยลักษณะของไข่ที่มีความเปราะบาง จึงทำให้ไข่อาจจะเกิดความเสียหายจากการใช้เข็มสอดเข้าไปในเนื้อไข่จากการทำ ICSI ได้ ด้วยแพทย์ขาดความชำนาญ
    • ความเสี่ยงในกระบวนการดึงไข่ออกจากรังไข่ เช่น เลือดออก การติดเชื้อ หรือความเสียหายต่อโครงสร้างโดยรอบ
    • ความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้เกิดภาวะผิดปกติต่าง เช่น ภาวะออทิสติก ภาวะความผิดปกติทางสติปัญญา เป็นต้น

    การทำ ICSI เหมาะกับใคร

    ICSI เหมาะสำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร หากแต่ประสบภาวะมีบุตรยาก หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ ดังนั้น ผู้ที่เหมาะสำหรับทํา ICSI คือ

    • ฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ เช่น จำนวนสเปิร์มต่ำ อสุจิอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เคลื่อนไหวช้า รูปร่างผิดปกติกว่าเกณฑ์ ท่อนำอสุจิอุดตัน ทำให้ไม่มีตัวอสุจิหลั่งออกมาได้ เป็นต้น
    • ฝ่ายชายเป็นหมัน แต่อยากมีลูก โดยผ่าตัดนำอสุจิออกมา
    • ฝ่ายหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
    • ฝ่ายหญิงที่มีเปลือกไข่หนา ทำให้อสุจิไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เพื่อเข้าไปปฏิสนธิได้
    • ฝ่ายหญิงที่มีประวัติตั้งครรภ์ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
    • ฝ่ายหญิงที่มีประวัติแท้งบุตรติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป
    • ผู้ที่ทำการแช่แข็งไข่เอาไว้ (Frozen eggs)
    • คู่รักที่พยายามทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ไม่สำเร็จติดต่อกัน 3 ครั้ง
    • คู่รักที่มีพาหะโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้

    ขั้นตอนการทำ ICSI

    ในการทำ ICSI จะมีขั้นตอนรายละเอียดประมาณ 6 ขั้นตอน ที่เราทุกคนจะต้องทราบและเข้าใจเสียก่อน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

    1. ปรึกษาแพทย์

    คู่รักจะต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อซักประวัติและขอคำปรึกษา เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินสถานการณ์และวางแผนแนวทางการรักษา เพราะบางครั้ง แพทย์อาจจะเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละคนได้ แต่สำหรับ ICSI แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินความพร้อมในการทำก่อน ซึ่งฝ่ายหญิงควรมาพบแพทย์ในช่วงเวลาก่อนการมีประจำเดือน

    2. เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่

    หลังจากที่แพทย์เช็กช่วงเวลา ตรวจระดับฮอร์โมน และทำอัลตราซาวด์แล้ว แพทย์จะทำการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นรูขุมขน (FSH) กระตุ้นรังไข่ ในวันที่ 2 – 3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อกันเป็นเวลา 8 – 10 วัน  เพื่อให้รังไข่ผลิตไข่ได้หลายใบ ซึ่งมากกว่าจำนวนไข่ตามปกติ ซึ่งในการทำ ICSI ต้องการไข่มากถึง 8 – 15 ใบ

    จากนั้น แพทย์จะนัดเพื่อติดตามผลการตอบสนองของฝ่ายหญิง จากการตรวจเลือด ดูระดับฮอร์โมน และการตรวจอัลตราซาวด์ ทุก 4 – 5 วัน เพื่อคำนวณวันที่ไข่จะเจริญเติบโตเต็มที่ และวันที่สามารถเก็บไข่ได้

    3. เก็บไข่และอสุจิ

    เมื่อตรวจพบว่า ไข่มีขนาดที่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะทำการเจาะไข่และดึงออกมาจากรังไข่ด้วยเข็มเจาะผ่านทางช่องคลอด พร้อมใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่ง ภายใน 34 – 36 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องดมยาสลบ โดยใช้เวลาในการทำประมาณ 15 – 30 นาที โดยฝ่ายหญิงจะต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อนำเซลล์ไข่ออกมาแล้ว ก็นำมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ

    ส่วนฝ่ายชายก็จะมีการเก็บสเปิร์มในวันเดียวกับที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ เพื่อนำมาคัดเลือกสเปิร์มที่แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้มากที่สุด และดำเนินการปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ โดยนำเอาเชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ ด้วยเครื่องมือและกล้องที่มีความละเอียดมาก

    4. เลี้ยงตัวอ่อน

    ในการเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อไข่และอสุจิมีการปฏิสนธิกันเสร็จเรียบร้อย เราจะเรียกว่าตัวอ่อน (เอ็มบริโอ) ซึ่งจะได้รับการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการที่มีปัจจัยเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เป็นเวลา 3 – 5 วัน ในระหว่างนั้น ตัวอ่อนจะมีการแบ่งตัวและพัฒนาจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) โดยถือว่าเป็นช่วงที่ตัวอ่อนมีความแข็งแรงมาก

    และก่อนที่เราจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แพทย์จะทำการตรวจพันธุกรรม  (PGT) ก่อน เพื่อคัดกรองตัวอ่อนที่พันธุกรรมผิดปกติออกไป ดังนั้น ICSI จึงเปรียบเหมือนขั้นตอนในการคัดกรองตัวอ่อนที่ผิดปกติก่อน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จอีกด้วย

    5. ย้ายตัวอ่อน

    แพทย์ดำเนินการย้ายตัวอ่อนไปยังมดลูกของฝ่ายหญิง โดยการใช้หลอดพลาสติกเล็ก ๆ สอดผ่านทางช่องคลอดและเข้าไปในโพรงมดลูก ก่อนจะวางตัวอ่อนลงในตำแหน่งที่เหมาะสม ผ่านการอัลตราซาวด์ ส่วนตัวอ่อนที่เหลืออาจจะแช่แข็ง เตรียมไว้สำหรับรอบถัดไป โดยตัวอ่อนนี้ สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง 5 – 10 ปี

    6. ตรวจการตั้งครรภ์

    หลังจากย้ายตัวอ่อนเสร็จเรียบร้อย แพทย์จะนัดเข้ามาติดตามผลการตั้งครรภ์ในระยะแรก หลังจากที่ย้ายตัวอ่อนประมาณ 9 – 11 วัน โดยการเจาะเลือด ตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งแนะนำให้เข้าพบแพทย์จะดีที่สุด ไม่ควรตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบด้วยตนเอง และถ้าหากพบว่า มีการตั้งครรภ์ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

    ข้อปฏิบัติในการดูแลตัวเองหลังทำอิ๊กซี่ (ICSI)

    ภายหลังจากที่เข้ารับการทำ ICSI สิ่งสำคัญถัดมา คือ การดูแลตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ คือ

    • การพักผ่อนที่เพียงพอในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงหลังทำ ICSI
    • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างน้อย 1 สัปดาห์
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
    • ผ่อนคลายความเครียด
    • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
    • เข้าพบแพทย์ตามกำหนดการอยู่เสมอ

    ทำ ICSI ราคาเท่าไหร่

    สำหรับคู่รักที่ต้องการแก้ปัญหาการมีบุตรยากด้วยการทำ ICSI ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การทําอิ๊กซี่ ราคาเริ่มต้นจะประมาณ 160,000-200,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล เพราะแต่ละที่ก็มีการทํา ICSI ราคาแตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญของแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือที่จะต้องใช้

    ข้อสรุป

    การทําอิ๊กซี่ หรือ ICSI คือ เทคนิคทางการแพทย์ที่จะช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยากสำหรับคู่รักที่ต้องการมีบุตร แต่ประสบปัญหาทางสุขภาพและพันธุกรรม ซึ่งมีอัตราความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง โอกาสการเกิดความเสี่ยงต่ำ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์และสถานพยาบาลที่เราเข้ารับคำแนะนำและการดูแลว่า มีความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานเพียงพอหรือไม่ เพราะ ICSI ถือว่าเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ