ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงไม่ได้แค่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงที่โดนทำร้ายเท่านั้น แต่ยังลุกลามก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติ ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเยียวยาผู้ถูกกระทำ และการสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
ความรุนแรงกับรายได้ที่สูญเสีย
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคู่ครองจะมีรายได้จากงานประจำน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ถูกกระทำความรุนแรงถึง 60% จึงทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีสถานะในสังคมต่ำลงไปโดยปริยาย ไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมร่วมกับสังคมหรือชุมชนภายนอกได้อย่างเต็มที่ อย่างร้ายแรงที่สุดอาจนำไปสู่การเกิดเหตุฆาตกรรมหรือการฆ่าตัวตาย
บาดแผลนี้ยังถูกส่งต่อไปสู่คนในครอบครัว เด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีความรุนแรงอาจจะมีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม ส่งผลให้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงต่อไปได้ในอนาคต และมีโอกาสเกิดอัตราการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยสูงขึ้น เนื่องจากผู้เป็นแม่ที่โดนทำร้ายไม่พร้อมดูแลลูกได้เต็มร้อย
ผลสำรวจชี้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลกคิดเป็นประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของทั้งโลก หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 49.21 ล้านล้านบาท หรือเทียบได้กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศแคนาดาทั้งประเทศ หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าการเกิดสงครามกลาง เมืองเลยทีเดียว อันเนื่องด้วยภาระค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลในการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง อย่างระบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม กระบวนการยุติธรรม บริการที่ปรึกษาและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ทั่วโลกเริ่มรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างจริงจัง ปัจจุบันจำนวนประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น จากเดิมมีเพียง 7 ประเทศจากทั้งหมด 173 ประเทศทั่วโลก เพิ่มเป็น 127 อย่างไรก็ตาม “กฎหมายคุ้มครอง” ไม่ใช่สิ่งที่สามารถขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงได้ทั้งหมด
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 โดยรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์รายใหญ่ทั่วประเทศ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว โดยส่วนใหญ่สามีกระทำต่อภรรยา 71.8% นอกจากนี้ยังพบว่า ข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัวมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากที่สุด 33.3% รองลงมาคือ ข่าวการฆ่ากัน 21.2% และข่าวทำร้ายกัน 14.8% ส่วนมูลเหตุที่ทำให้เกิดข่าวสามีฆ่าภรรยามาจากการหึงหวง ระแวง และฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี 78.6%
ทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ทำให้ผู้ชายบางคนมองภรรยาตัวเองเป็นสมบัติในครอบครองที่สามารถใช้อำนาจเหนือและปฏิบัติกับเธออย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทัศนคติดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในความคิดของผู้ชายเท่านั้น แต่ก็เป็นทัศนคติที่อยู่ในความคิดของผู้หญิงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในที่สุด
คนเมืองมีข่าวความรุนแรงสูงกว่านอกเมือง
ศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกจัดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2560 ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจขนาดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับประเทศ โดยวิธีการสถิติสุ่มสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ซึ่งอันดับหนึ่งเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจร้อยละ 32.3 ทางร่างกายร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5
จากการสำรวจภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือภาคใต้ ร้อยละ 48.1 ส่วนกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 26 สาเหตุของความรุนแรงมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งลักษณะแต่ละครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ที่มีความไม่สงบทางการเมือง ทำให้มีความไม่แน่นอนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัยจะพบว่า ครอบครัวที่อยู่ในเขตเมืองจะมีความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตนอกเมืองเกือบสองเท่า นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอจะเกิดความรุนแรงมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้พอใช้ เพราะการที่ครอบครัวมีรายได้ไม่พอใช้อาจนำไปสู่ภาวะเครียด และมีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งประเด็นการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ ของคนในครอบครัวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และกระบวนการคิด จึงทำให้มีแนวโน้มให้เกิดความรุนแรงได้มากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้ใช้สารเสพติด
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นทั้งปัญหาสังคมและอาชญากรรมที่นับวันยิ่งรุนแรงมีรูปแบบที่ซับซ้อน และมีจำนวนมากขึ้น การเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายอาจยังไม่เห็นผลเร็วพอในการลดปัญหา ดังนั้น หากเริ่มต้นที่ตัวเราโดยลดความเชื่อหรือทัศนคติที่ว่า “ความรุนแรงเป็น เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ปัญหาได้” น่าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้บ้าง และหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง ทุกคนร่วมกันแจ้งข้อมูลเบาะแส กลไกทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที
ศ.คลินิก นพ.พรชัย มูลพฤกษ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
“ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและประเทศไทย การแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ด้วย”
จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
“จากปัญหาเราเห็นว่าเกือบทุกข่าวความรุนแรงมีความเชื่อมโยงกับแอลกอฮอล์ รวมถึงทัศนคติชายเป็นใหญ่ อาวุธที่ใช้เป็นอาวุธปืนที่หาซื้อง่าย ซึ่งนอกจากต้องมีการควบคุมใหม่แล้ว ก็ควรมีการปรับทัศนคติของผู้ชายไม่ให้ใช้อำนาจเหนือกว่า ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งสังคมต้องไม่มองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว”
[English]
Domestic/Sexual Violence, Thailand’s National Concern
Violence against women is never about hurting the victims but also posing various impacts on the country in the forms of the cost of rehabilitation and the loss of capable human resources.
Information from the Women and Men Progressive Movement Foundation showed women who have been violently abused by their spouses tend to earn 60% less from their regular employments when compared with those who were not victims. As a result, these victims hold a lower social status and become unable to really socialize while the worst-case consequence of this problem could even be murder or suicide.
It is not only the victims themselves, who are affected, but also their family members. Young children surrounded by violence may grow up to be adults with emotional and behavioral defects or even engage in violence in the future.
A study suggested that the costs and expenses incurred from sexual violence against women around the world could be as high as 2% of global GDP or around US$1.5 trillion (about 49.21 trillion baht), which is roughly the size of the economy of Canada.
Since 1981, the world has been rigorously campaigning to fight violence against women and as many as 127 countries across the globe have already passed a law to protect victims of domestic violence. However, the “protection” law is not quite the final answer to rid the world of sexual violence against woman.
According to the Women and Men Progressive Movement Foundation, there have been 466 news reports about domestic violence throughout Thailand in 2016, with 71.8% of them being the cases of husbands attacking wives. Data also showed 33.3% of these cases involved alcohol consumption.
In addition, a Thai Health Promotion Foundation-sponsored study found families in urban areas tend to report more cases of domestic violence than those in the suburb while financial issues could lead to more stresses and violence within families.