การให้บริการอูเบอร์ที่ยังคลุมเครือ ทำให้มีการร้องเรียนจากผู้ให้บริการรถสาธารณะว่าอูเบอร์เข้ามาแย่งผู้โดยสารและเริ่มเกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ขับแท็กซี่และอูเบอร์บ่อยครั้ง ล่าสุดผู้ให้บริการทั้งสองร่วมมือกันหาทางออก โดยเปิด uber TAXI บริการแท็กซี่สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎกรมการขนส่งทางบก
อูเบอร์-แท็กซี่ คู่ปรับตลอดกาล
ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา มีข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ขับแท็กซี่และอูเบอร์อยู่เสมอ ทั้งกรณีแท็กซี่ล้อมรถยนต์เหตุเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอูเบอร์ หรือคนขับอูเบอร์ท้าชกคนขับแท็กซี่เหตุบีบแตรใส่กัน และล่าสุด แท็กซี่ดวลหมัดอูเบอร์เหตุแย่งลูกค้า
แม้อูเบอร์จะเข้ามาช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริการสาธารณะของคนเมือง แต่ตลอด 3 ปีที่ประกอบกิจการในไทยก็ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ อีกทั้งประเด็นที่ผิดกฎหมายคือ การนำแอพพลิเคชั่นไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย
ล่าสุด อูเบอร์ ประเทศไทย ประกาศจับมือกับ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ สหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ เปิดบริการ uberTAXI ซึ่งเป็นบริการเรียกรถแท็กซี่สาธารณะที่ถูกกฎหมาย เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อูเบอร์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่อูเบอร์เปิดให้บริการในเมืองไทย มีความเข้าใจตลาดและพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขยายเครือข่าย Ride sharing ให้สามารถเข้าถึง และเอื้อประโยชน์ต่อทุกคนในระบบนิเวศด้านบริการการเดินทาง รวมถึงพยายามร่วมมือกับภาครัฐและทุกภาคส่วน ทำให้ตัดสินใจเปิดบริการ uber TAXI ขึ้นในประเทศ เพราะเชื่อว่าบริการใหม่นี้จะส่งผลดีต่อเมือง พาร์ทเนอร์ร่วมขับ และผู้ร่วมนั่ง ในเรื่องความปลอดภัย สะดวกสบาย และเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่สหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ มีสมาชิกกว่า 4,000 คัน ซึ่งสามารถเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ได้ทันที โดยค่าโดยสารของ uberTAXI จะคำนวณอิงจากระยะทางและเวลาที่ใช้เดินทางจริง รวมกับการปรับราคาตามปริมาณความต้องการของผู้ใช้ในเวลานั้นๆ ผู้โดยสารจะสามารถเห็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยประมาณได้ตั้งแต่ก่อนเรียกรถ และสามารถตรวจสอบค่าโดยสารจริงหลังการเดินทางได้จากเมนูการเดินทางในแอพฯ
คนกรุงกับระบบร่วมเดินทาง
การให้บริการอย่างไม่ถูกกฎหมายของอูเบอร์นั้นคงเป็นปัญหาของหลายประเทศเช่นกัน ล่าสุด ศาลยุโรปออกคำตัดสินให้บริษัทอูเบอร์ ถูกจัดเป็นบริษัทให้บริการแท็กซี่ด้านขนส่งในสหภาพยุโรปมากกว่าที่จะเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลผ่านทางเทคโนโลยีเหมือนที่ทางอูเบอร์อ้าง ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ในเมืองบาร์เซโลนาของสเปนยื่นฟ้องว่าอูเบอร์ให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต
อย่างไรก็ตาม ทางอูเบอร์ได้ออกแถลงการณ์ว่า คำตัดสินที่ออกมาไม่มีผลกระทบกับการให้บริการของอูเบอร์ในประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป เพราะทางบริษัทได้จดทะเบียนตามกฎหมายการขนส่งอยู่แล้ว
ขณะที่ภาพรวมการให้บริการร่วมเดินทางในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูง โดยผลสำรวจการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของคนกรุงเทพฯ ที่ BLT ร่วมกับเอยูโพล ระบุว่า คนในกรุงเทพฯ 93.58% เห็นด้วยกับการให้บริการในรูปแบบร่วมเดินทาง อย่าง Uber และต้องการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อให้การบริการรูปแบบดังกล่าวถูกต้อง
ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขกฎหมายน่าจะทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มประเภทรถที่ให้บริการสาธารณะที่ใช้บริการผ่านแอพลิเคชั่นได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการ เพราะนอกจากการให้บริการรถสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นอย่าง Uber, Grab และ Taxi OK แล้ว ล่าสุดก็มี DACSEE แอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่เจ้าใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีแบบ Decentralised คือไม่ผ่านคนกลาง และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร และหน่วยงานภาครัฐ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ
ดังนั้นหากต้องการดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเต็มที่ รัฐอาจจะต้องออกกฎระเบียบมาบังคับอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เพื่อพัฒนาไทยให้เป็นประเทศ 4.0 ได้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์การเดินทางของคนกรุงอย่างแท้จริง
คุณหัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
“การตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรกับอูเบอร์ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการให้บริการของแท็กซี่และสมาชิกสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ขับรถแท็กซี่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานอย่างชาญฉลาด”