Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    เชื้อดื้อยา มหันตภัยร้ายยาปฏิชีวนะ

    ทุกๆ 15 นาที มีคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 1 คน เฉลี่ยวันละ 100 คน ปีละ 20,000-38,000 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไทยสูงถึงปีละ 46,000 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งในทางการแพทย์ การสาธารณสุข การสัตวแพทย์ และการเกษตร โดยล่าสุดรัฐตั้งเป้ากำจัดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 

    เชื้อดื้อยา มหันตภัยศตวรรษที่ 21
    องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่คือ เชื้อดื้อยา ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีสูงถึง 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ปัญหา คาดว่าปี พ.ศ. 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยในทวีปเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากถึง 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท


    สำหรับประเทศไทย พบว่า มีการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000-38,000 คน หรือทุกๆ 15 นาที เสียชีวิต 1 คน หรือเฉลี่ยวันละ 100 คน ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึงปีละ 46,000 ล้านบาท มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและจากอุบัติเหตุ

    ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ยาปฏิชีวนะ คือยาต้านแบคทีเรีย แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ยาแก้อาการหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้มีโอกาสดื้อยาได้

    เชื้อโรคมีหลายชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
    1. เชื้อแบคทีเรีย
    2. เชื้อรา เช่น เชื้อราฮ่องกงฟุต เชื้อราผิวหนัง เชื้อราในช่องคลอด และ
    3. เชื้อไวรัส เช่น HIV ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก เป็นต้น 

    ดังนั้น ยาต้านปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส มีวิธีป้องกันอย่างเดียวคือกำจัดเชื้อ ซึ่งเมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้เจอสิ่งแปลกปลอมมากำจัด มันจะสร้างภูมิคุ้มกัน จนสร้างเกราะคุ้มกันตัวเองได้ ซึ่งการใช้ยาต้านจุลชีพที่เพิ่มขึ้นและใช้อย่างไม่เหมาะสมทั้งในทางการแพทย์ การสาธารณสุข การสัตวแพทย์ และการเกษตร เป็นปัจจัยกระตุ้นให้แบคทีเรียดื้อยาเร็วขึ้น โดยปัญหาการดื้อยาที่สำคัญในประเทศ ไทย คือ การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในโรงพยาบาล เช่น Acinetobacter spp. และ Pseudomonas spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล 

    ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ยาต้านจุลชีพเป็นกลุ่มยาที่มีมูลค่าการผลิต และนำเข้าสูงสุดติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ข้อมูลล่าสุดพบว่า มูลค่าการผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะสูงถึงประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นมูลค่ามากกว่ายาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาระบบประสาทส่วนกลาง และยารักษามะเร็ง ซึ่งมีมูลค่าการผลิตและนำเข้าประมาณ 9.2, 9.0 และ 7.9 พันล้านบาท ตามลำดับ

    เผยยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา
    ระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาของประเทศที่ยังไม่เชื่อมโยงอย่างบูรณาการทั้งภายในและระหว่างสถานพยาบาล รวมทั้งระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทำให้การจัดการปัญหาไม่ครอบคลุม โรงพยาบาลหลายแห่งมีข้อจำกัดเรื่องระบบการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยา กอปรกับความแออัดภายในโรงพยาบาลจากการมีผู้ป่วยมาใช้บริการจำนวนมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อ และส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของการรักษา โดยในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพบการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่สมเหตุสมผลสูงถึงร้อยละ 25-91 

    ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มีโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 3 จากทั้งหมดประมาณ 900 แห่ง ที่มีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม โดยไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกินร้อยละ 20) ขณะที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ร้อยละ 81 มีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะสูงกว่าค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 40 

    นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคมจะได้รับยาปฏิชีวนะมากกว่าผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    สำหรับในร้านยา พบว่า มีการจ่ายยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น โรคไข้หวัด โรคไซนัสอักเสบซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และบาดแผลถลอก สูงถึงร้อยละ 64-80  

    ส่วนสถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะในคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน คาดการณ์ว่า น่าจะมีปัญหาไม่น้อยกว่าหรืออาจมากกว่าที่พบในโรงพยาบาลภาครัฐ

    ปัญหาดังกล่าวทำให้หน่วยงานภาครัฐตื่นตัวมากขึ้น ล่าสุด ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ.2560-2564 ประกอบด้วย
    1. เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
    2. ควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพ
    3. ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม
    4. ป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง
    5. ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน
    6. บริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดระบบการติดตามประเมินผล

    โดยตั้งเป้าหมาย 5 ข้อ คือ
    1. การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลง 50%
    2. การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลดลง 20%
    3. การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลง 30%
    4. ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม เพิ่มขึ้น 20%
    5. ประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล


    ผุดแอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา 
    การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในประเทศทำให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) เพิ่มขึ้น และจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567 ทำให้จำนวนของผู้สูงอายุที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพายาต้านจุลชีพเพิ่มขึ้น และอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย

    ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโมบายแอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา ครั้งแรกกับการให้ข้อมูลด้านยาถูกต้องผ่านแอพพลิเคชั่นบน มือถือ 

    ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า การจัดทำแอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา เพื่อให้ความรู้เรื่องยาแบบครบวงจร โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบยาที่ได้รับจากสถานพยาบาลได้อย่างครบถ้วน รู้ว่าควรบริโภคยาในมื้อไหน ออกฤทธิ์อย่างไร ให้ผลหรืออาการข้างเคียงอย่างไร โดยจะดำเนินการในโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช, รามาธิบดี, วชิรพยาบาล, ศูนย์การแพทย์ ปัญญานันทภิกขุ, รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.สงขลานครินทร์ และ รพ.ราชวิถี อีกทั้งในอนาคตจะขยายไปในรพ.กระทรวงสาธารณสุขอีก 20 แห่ง 

    ด้าน นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การใช้งานแอพฯสามารถทำได้ง่ายโดยสกรีนคิวอาร์โค้ดบนซองยาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ตรวจสอบ และยังมีการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยไว้ใช้เป็นข้อมูลสุขภาพอีกด้วย รวมถึงวันที่และเวลาที่ได้รับยา รูปภาพยา ชื่อโรงพยาบาลที่ได้รับยา จำนวนยา ชื่อสามัญไทย-อังกฤษ รวมทั้งชื่อทางการค้าของยา

    โดยประสิทธิภาพของการตรวจสอบยาภายในแอพฯ จะบรรจุข้อมูลยามากถึง 15,000 รายการ ซึ่งเป็นหมวดยารับประทานทั้งหมด และในอนาคตจะขยายข้อมูลยาที่เหลืออีก 15,000 รายการ 

    อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมด้วยการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน เป็นเพียงปลายทางในการสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น นโยบายยาปฏิชีวนะระดับชาติจึงมีความจำเป็นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลในเร็ววัน ก่อนที่จำนวนประชากรในประเทศจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนสายเกินแก้ 


    ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย.
    “การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ในมือแพทย์อย่างเดียว ยุคนี้ต้องรู้จัก Self Care ดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อไปหาหมอต้องกล้าถาม เมื่อใช้ยาต้องกล้าถาม อย่าละเลยชื่อยาที่ใช้ และต้องรู้ว่ายาทุกอย่างเป็นดาบ 2 คม มีผลดีผลเสีย โดยเฉพาะผลเสียของยาปฏิชีวนะ จะเกิดอาการแพ้ยาและดื้อยา ถ้าไม่มั่นใจอย่าบอกว่าแพ้ ให้บอกว่ายังไม่รู้ว่าแพ้อะไรดีกว่า ส่วนใครที่รู้ว่าตัวเองแพ้ยาก็ต้องระบุทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล”

    ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี 
    “แอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล สามารถรับข้อมูลเรื่องยาได้อย่างถูกต้อง และลดความซ้ำซ้อนในการรับยารักษาโรค ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงฉลากยาและข้อมูลที่เข้าใจง่าย ทั้งยังสามารถบันทึกข้อมูลยาที่แต่ละคนใช้ได้อีกด้วย” 

    [English]
    Thai Government Aims to Reduce Thailand’s Rate of Drug Resistance by 50% in Three Years
    A local research shows one Thai dies from drug resistance every 15 minutes, or 100 people die from such a cause each day.  On a yearly basis, 20,000-38,000 people have lost their lives because of excessive use of antibiotics that has been blamed for rising drug resistance.

    Such an alarming finding has promptly led the Thai government to determine to lower the number of drug resistance-related deaths by 50% within the year 2021.

    The World Health Organization has already revealed that drug resistance has killed as many as 700,000 people each year and if such a problem is never solved, deaths from this problem will likely surge to 10 million by 2050, with around 4.7 million of them expected in Asia.  

    In Thailand, deaths caused by cases of drug resistance have cost the economy as much as 46 billon baht each year.

    Thai Drug Watch group explained that most Thais have misused antibiotics as medicines to fight inflammation or cold symptom, while they actually are intended to fight bacteria.  Accordingly, many have taken this drug with wrong reasons and developed drug resistance.

    To make matter worse, the improper use of this medicine by medical personnel, public health agencies, veterinarians and agriculturalist has resulted in more rampant antibiotic resistance.

    As the situation shows no sign of improvement, the government has accordingly formulated a strategy, which involves the monitoring of cases of antibiotic resistance, controlling the distribution of antibiotics, preventing cases of drug resistance in the farming sector and pets, offering related education to the public and developing mechanism to steer forward all attempts to fight it.