Tuesday, May 23, 2023
More

    จ้างผู้สูงอายุ สร้างงาน สร้างอาชีพ

    ในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 โดยภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับผู้สูงอายุพร้อมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานภาคเอกชนขยายการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน

    ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย
    องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2544-2643 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยประชากรผู้สูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้านประเทศไทยเองคาดว่า ปี 2561 จะเป็นครั้งแรกที่ประชากรผู้สูงอายุแซงหน้าประชากรเด็ก จนภาครัฐต้องออกมาตรการมีลูกเพื่อชาติ ส่งเสริมการมีบุตร โดยปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นอีกคนละ 30,000 บาทต่อปีภาษี โดยจะมีผลประจำปีภาษี 2561 ที่ต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้การพัฒนาประเทศไม่สะดุด


    มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าปี 2564 ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 20 และในปี 2574 จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 

    จากการจัดอันดับของประเทศในอาเซียนที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ พบว่า ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ 

    ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน โดยประชากรกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นด้วยหลายปัจจัย ทั้งอัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลง ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นทำให้คนอายุยืนขึ้น

    ทั่วโลกสนับสนุนจ้างงานผู้สูงอายุ
    รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นให้หน่วยงานภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว โดยออกกฎหมายสนับสนุนให้บริษัทจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน และให้หน่วยงานเอกชนสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสูงอายุ และในหลายประเทศเองก็ออกกฎหมายสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุเช่นกัน

    องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุถึงการจ้างงานผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี พบว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากที่สุด ร้อยละ 50.6 ตามด้วยเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

    ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา Alibaba ประกาศรับสมัครงาน นักวิจัยอาวุโส อายุต้องไม่ต่ำกว่า 60 ปีขึ้นไป เพื่อทำงานในเว็บซื้อขายสินค้าออนไลน์ ปรากฏว่า ภายใน 24 ชั่วโมง ทางบริษัทได้รับใบสมัครถึง 1,000 ใบ ซึ่งการเคลื่อนไหวทางธุรกิจของ Alibaba ครั้งนี้ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุในประเทศจีน ที่มีจำนวนถึง 230 ล้านคน คิดเป็นเกือบร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ โดยคาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 480 ล้านคนภายในปี 2593

    ขณะที่ภาคเอกชนของไทยก็สนับสนุนแรงงานผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาร้านหนังสือ SE-ED Book Center ได้เปิดโครงการ “อายุ 60 ปี มีไฟในการทำงาน” รับสมัครผู้สูงอายุ วุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไป เข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ หรือแม้แต่ IKEA ซึ่งกำลังจะเปิดสโตร์แห่งใหม่ ปี 2561 จึงต้องเปิดรับสมัครงานพาร์ทไทม์กว่า 250 ตำแหน่ง  โดยระบุชัด “ไม่จำกัดอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน”

    มาตรการรองรับผู้สูงอายุในไทย
    ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติเห็นชอบพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพแนวทางการขับเคลื่อนโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย โดยให้เพิ่มช่องทางการบริจาค และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มีผู้บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากขึ้น

    ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีรายได้เพียงพอ และประสงค์ที่จะไม่ขอรับเบี้ยยังชีพ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือในต่างจังหวัดที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลที่เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ 

    ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับผู้สูงอายุโดยยึดหลักคุณภาพชีวิต 5 ด้าน คือ
    1) สุขภาพกาย-จิต
    2) ครอบครัวมีสุข
    3) สังคมเอื้ออาทร
    4) สิ่งแวดล้อมเหมาะสมปลอดภัย
    5) หลักประกันมั่นคง
    จึงได้หารือให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น ลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตในช่วงแรก การให้กู้ยืมเงินด้วยดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งมาตรการอื่นๆ โดยจะต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมอบงานให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป


    พัฒนาคุณภาพชีวิตสูงวัยปี 61
    สำหรับแผนการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุปี 2561 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และภาคีเครือข่าย ได้กำหนดแผนการนำเสนอนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดังนี้ นวัตกรรมความรู้ทางการเงินเพื่อสังคมผู้สูงอายุ, นวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ, แอพพลิเคชั่น สิทธิต่างๆ ของผู้สูงอายุ, นวัตกรรมกับเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ, นวัตกรรมด้านอาหารเครื่องดื่ม และสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ, นวัตกรรมการบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และนวัตกรรมด้านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และแฟชั่นของผู้สูงอายุ เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังเร่งขับเคลื่อนงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันจ้างงานผู้สูงวัยและผู้พิการ รวมกว่า 100,000 อัตรา โดยกำหนดแนวทางสำคัญในการดำเนินงานปี 2561 ได้แก่ 
    1) ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ ขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการ 68,000 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 15,000 อัตรา 
    2) ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ รวม 58,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 19,000 อัตรา อาทิ สามารถจ้างงานผู้สูงอายุได้เกิน 15,000 บาท/เดือน และนำมาลดหย่อนภาษีได้ ผู้สูงอายุสามารถสมัครเข้ากองทุนประกันสังคม จ่ายค่าแรงแบบไม่เต็มเวลาได้ เป็นต้น 
    3) ออมเพื่อการเกษียณอายุ จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ 
    4) จัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุตามภูมิภาคต่างๆ และ 5) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ให้ได้ร้อยละ 10 และลดจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดปีให้ได้ร้อยละ 5 รวมถึงลดจำนวนผู้เสียชีวิตในหน่วยงานที่ร่วม MOU ให้เป็น 0 ใน 3 จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี 

    ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเรากำลังจะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ภาพสังคมที่เต็มไปด้วยประชากรผมสีดอกเลาจะกลายเป็นเรื่องปกติ ความโรยราของร่างกายใกล้จะเข้ามาเยือน ความเจ็บป่วยนำมาซึ่งรายจ่ายจำนวนมาก รัฐจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ผู้คนมีรายได้หรือเงินออมเพื่อใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ 


    พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
    “รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยภายในปี 2561 ต้องขับเคลื่อนเป้าหมายให้ชัดเจน สามารถตอบได้ว่าประชาชนได้อะไร มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร มีการออมเพิ่มขึ้นหรือไม่ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงกี่เปอร์เซนต์ รวมถึงสามารถตอบโจทย์เรื่องการสร้าง  ความเป็นธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

    [English]
    Government to Encourage Businesses to Hire Senior Citizens

    Thailand is set to become an aging society in three years, when citizens aged over 60 years will account for 20% of the country’s total population, and this is estimated to grow to 28% by 2031. 

    The United Nations projected that the time between 2001 and 2100 will be the century of the elderly as the number of senior citizens around the world will be rising rapidly while Thailand’s population of old people will surpass that of the young for the first time in 2018.

    Already, the Thai government has introduced a new incentive to encourage Thais to have more children, which comes in the form of a 30,000-baht tax deduction for the second child, who is born in 2018 onwards.

    Thailand’s pace toward an aging society is already ranked second in Southeast Asia, only after Singapore.  This shows how pressing it is for Thailand to prepare itself, particularly when there are now 11 million senior citizens in the country.

    Currently, the government is mulling an initiative to motivate the private sector to hire more senior Thais to help minimize social inequality and shore up the government budget for the elderly.  Under this plan, any company that employs people aged 60 years old and above will be able to use 100% of their annual salaries for corporate tax deduction.

    Moreover, the government has approved a new policy to boost the size of the Elderly Fund through donations from eligible senior citizens, who do not need the government monthly allowance for the elderly, while more measures to promote their quality of life are also being planned.