จุดเริ่มจากความสะดวกและปัญหาจราจร
คนกรุงรู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจบริการส่งอาหารหรือ ฟู้ด เดลิเวอรี่ มาตั้งแต่ในยุคที่ร้านพิซซ่าและเชนฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เริ่มให้บริการเดลิเวอรี่ แม้บางร้านอาหารจะไม่มีบริการเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง แต่ก็มีวินรถจักรยานยนต์ในละแวกใกล้เคียงมารับงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะให้บริการลูกค้าประจำที่โทรมาสั่ง
แต่นับจากที่เริ่มมี Third Party เช่น FoodPanda ได้เปิดตลาด และตามมาด้วยผู้ให้บริการอีกหลากหลายราย ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคคนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย และไม่อยากเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความต้องการรับประทานอาหารอร่อยๆ ที่ถูกปาก ถูกใจอยู่ กอปรกับการครอบครองสมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นเรื่องสามัญ ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้ดุเดือดเลือดพล่านมากยิ่งขึ้น
โดยข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจ 100% Home Delivery/Takeaway In Thailand โดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าธุรกิจเดลิเวอรี่/เทคอะเวย์อาหารมีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านบาทเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจดังกล่าวระบุอีกว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและให้การยอมรับร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เชนมากขึ้น ไม่เฉพาะอาหารคาว แต่รวมไปถึงอาหารหวานอย่างเบเกอรี่และเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพึ่งพาอาศัย Third Party ในการเดลิเวอรี่ แต่ในภาพรวมแล้วเชนพิซซ่า 2 แบรนด์ดังยังครองตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่อยู่ โดยที่เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ครองส่วนแบ่งการตลาด 15% และพิซซ่า ฮัท มีอยู่ 4%
สำหรับผู้ให้บริการทุกรายในปัจจุบัน สามารถส่งสินค้าได้ภายในระยะเวลาตั้งแต่ 30 นาที จนกระทั่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยมีพลพรรค ‘รถจักรยานยนต์’ เป็นกองกำลังเดลิเวอรี่ ที่จะต้องเน้นความว่องไวในการจัดส่ง เพื่อเอาชนะปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ให้ได้
มากกว่าการสั่งสินค้า
นอกจากนี้แต่ละรายยังใส่โปรโมชั่นกันแบบไม่ยั้งเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้บริโภคมาใช้บริการของตัวเอง ที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็คือการกรอกรหัสโค้ดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อรับส่วนลดค่าอาหาร, แลกรับสิทธิ์จัดส่งฟรี หรือโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เป็นต้น
ในขณะที่ภาพรวมของการจัดส่งสินค้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์ สามารถเลือกรูปแบบการส่งจากตัวเลือกมาตรฐานที่ผู้บริการกำหนดให้ตรงตามความต้องการ เช่น สั่งได้ว่าจะให้มาส่งสินค้าในเวลาไหน หรือเรียกรวมๆ กันว่า ‘ออน ดีมานด์ เดลิเวอรี่’ นั้นยังมี Third Party อีกกลุ่มที่ให้บริการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจะมีรูปแบบการให้บริการที่สลับซับซ้อนมากกว่าฟู้ด เดลิเวอรี่ เช่น HappyFresh และ Honestbee ซึ่งจะเน้นการให้บริการของผู้ช่วยชอปปิง ที่จะทำหน้าที่ไปหยิบสินค้าต่างๆ จากชั้นวางมาใส่ตะกร้า โดยลูกค้าสามารถสั่งให้บริการแบบเฉพาะเจาะจงได้ด้วย เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงตามต้องการมากที่สุด สามารถเลือกช่วงระยะเวลาที่จะให้ทำการจัดส่งได้ สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ล่วงหน้าสูงสุดถึง 7 วัน สำหรับ Honestbee จะผูกมิตรกับวิลล่า มาร์เก็ต และซีพี เฟรชมาร์ท เป็นหลัก
ส่วนลาซาด้าผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซเปิดบริการใหม่ล่าสุด ซุปเปอร์มาร์ท (Supermart) เพื่อให้การชอปปิงของใช้ประจำวันง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์จากแบรนด์และสินค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ของลาซาด้า อาทิ Tesco Lotus, Nescafe, Milo, Koko Krunch, Lactasoy, Morakot, Baygon, Duck, Foremost, Colgate, L’Oréal, Sunsilk, Vaseline ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะซื้อสินค้ากี่ชิ้นก็ส่งตรงถึงบ้าน โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำ และมีค่าจัดส่งทั่วประเทศเพียง 99 บาท ผ่านกล่องบรรจุภัณฑ์ของลาซาด้า ซุปเปอร์มาร์ท ที่ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการขนส่งและมีความแข็งแรงทนทาน สามารถบรรจุสินค้าสูงสุดถึง 20 กิโลกรัม นับว่าเป็นอีกหนึ่งผู้นำด้านแพลตฟอร์มสำหรับการชอปปิงและการขายสินค้าออนไลน์ที่ลงมาเล่นตลาดนี้
ขณะที่ HappyFresh จะมีรายใหญ่อย่างกูร์เมต์ มาร์เก็ต, โฮม เฟรชมาร์ท, บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เป็นพันธมิตร และยังเพิ่มบริการพิเศษที่การันตีคุณภาพของสินค้าด้วยนโยบายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าปฏิเสธสินค้าได้แม้เมื่อจัดส่งถึงที่แล้ว หากพบว่าสินค้าไม่สดใหม่หรือไม่ได้มาตรฐานตามที่พึงพอใจ ขณะเดียวกันก็ขยายการให้บริการไปสู่กลุ่มลูกค้าคอร์ปอเรทด้วย
ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด
ในแง่ของการรับชำระเงินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกว่าจะใช้บริการรายใด โดยบางรายจะให้บริการรับชำระเงินด้วยเงินสดเพียงอย่างเดียว เช่น GrabFood ส่วนบางราย เช่น Uber Eats จะให้บริการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียว ในขณะที่บางรายสามารถชำระสินค้าได้ด้วยเงินสดและบัตรเครดิต เช่น HappyFresh และมีน้อยรายที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกชำระเงินได้สะดวกสบายหลากหลายวิธี ทั้งเงินสด บัตรเครดิต และโอนเงินผ่านธนาคาร เช่น Honestbee หรือบางรายอย่าง Now นอกจากให้ชำระด้วยเงินสดแล้ว ก็สามารถชำระได้ด้วย e-Wallet อย่าง AirPay เป็นต้น
แม้ธุรกิจนี้จะกำลังได้รับความนิยม แต่สิ่งที่ยากลำบากและเป็นความท้าทายในขณะนี้ก็คือการทำให้ผู้บริโภคที่เป็นนักชอปออฟไลน์หันมาชอปออนไลน์ให้ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี และเพื่อฝ่าฟันในสมรภูมิ ออน-ดีมานด์ เดลิเวอรี่ สิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะต้องทำก็คือ การเสาะหาลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่าให้เหนียวแน่น เพราะธุรกิจนี้ปัจจัยสำคัญนอกจากตัวแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่าย มีตัวเลือกอาหารที่หลากหลาย ความรวดเร็วในการจัดส่งแล้ว ยังรวมถึงโปรโมชั่นที่โดนใจ และบริการอันเป็นเลิศอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแต่หน้างาน แต่ยังรวมถึงระบบไอทีหลังบ้านที่จะต้องเสถียร หรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
เพราะในยุคที่ผู้บริโภคเลือกได้ และมีผู้เล่นในตลาดมากมาย อะไรๆ ก็ไม่ง่ายสำหรับผู้ประกอบการในยุคที่ผู้บริโภคทรงพลังดั่งเช่น พ.ศ. นี้
[English]
Booming Food Delivery Business Attributable to Lethargic Bangkok Residents & Traffic Woes
While consumers have been familiar with food-delivery service for decades, thanks to the popularity of pizza and many fast food chains, the arrival of more similar services – including those offered by a third party – has made this segment even more exciting.
The latest “100% Home Delivery/Takeaway in Thailand” survey by Euromonitor International suggested that the total value of this segment of business stood a 26 billion baht in 2017.
It also showed that consumers have been, more and more, accepting new food businesses, which are not food chains and make use of a third-party delivery, such as Foodpanda, while major players like The Pizza Company and Pizza Hut are still holding a big chunk of market share of 15% and 4%, respectively.
Unsurprisingly, food businesses have been promising a delivery between 30 minutes and an hour, mostly by motorcycle to beat Bangkok’s notorious traffic congestion, while many have been trying to attract consumers by introducing several promotional campaigns that have ranged from discount codes to a free delivery service, the “Buy One, Get One Free” gimmick and a guarantee of freshness.
A convenient mode of payment has also been another deciding factor for consumers, as some service providers like Uber Eats only accepts credit card while GrabFood only takes cash.
Nevertheless, service providers are still facing one big challenge; i.e. how to make traditional shoppers/consumers to switch from offline purchases to online purchases. At the same time, competition is set to increase due to the continued arrivals of new players, who will be ready to do all they can to attract consumers.