Thursday, October 5, 2023
More

    สงครามเทคโอเวอร์ เปลี่ยนคู่แข่งเป็นครอบครัวเดียวกัน

    หนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วหรือก้าวกระโดดก็คือ การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Merger & Acquisition : M&A) หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า ‘เทคโอเวอร์’ ไม่ใช่แค่รวมกันเราอยู่รอดเท่านั้น แต่หมายถึงอยู่รอดอย่างผู้ชนะด้วย  

    มูลค่าการซื้อขายสูงสุด ในประวัติศาสตร์ธุรกิจออนไลน์ 
    ตัวอย่างดีล M&A อันลือลั่นแห่งปี ได้แก่ Uber ผู้ให้บริการธุรกิจเรียกรถรับส่งชั้นนำ ตกลงปิดดีล ขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Grab ผู้นำ Ride Hailing Platform ในภูมิภาคนี้ นับเป็นข้อตกลงที่ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตโดยสร้างแพลตฟอร์ม O2O (Online to Offline : การใช้อิทธิพลของสื่อออนไลน์ผลักดันให้เกิดยอดขายทางช่องทางออฟไลน์) ชั้นนำของภูมิภาค 


    แม้ในแง่ของชื่อเสียงแบรนด์ในระดับโลก Uber จะเป็นที่รู้จักมากกว่า ในฐานะยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอน วัลเล่ย์ แต่ดีลดังนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจมากนัก เพราะต้องยอมรับว่า Grab แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้จริงๆ ทั้งในฐานะผู้บุกเบิก และสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคท้องถิ่นได้ดีกว่า หรือรู้ซึ้งว่า ผู้บริโภคชาวอาเซียนมีพฤติกรรมและอุปนิสัยใจคอเป็นอย่างไร และสามารถนำเสนอบริการที่สะดวกสบายและโดนใจได้ตรงจุดกว่า

    อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Uber ขายกิจการ โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 เคยขายกิจการที่ประเทศจีนให้กับ Didi Chuxing มาแล้ว เพราะไม่อาจต้านทานคู่แข่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 87% ในขณะนั้นได้ 

    ทั้งนี้สิ่งที่ Grab คาดว่าจะได้รับจาก Uber แน่ๆ ก็คือ ฐานลูกค้าจาก Uber eats ในธุรกิจรับส่งอาหารหรือฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่มีมูลค่า 26,000 ล้านบาท ซึ่งหากจะมองเฉพาะธุรกิจนี้ในไทย Uber eats ที่แม้จะเปิดตัวมาได้เพียงปีเศษ แต่ก็ประสบความสำเร็จ มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ก้าวขึ้นมาท้าทายผู้เล่นรายเดิมในตลาดอย่าง FoodPanda และ LINE Man 

    การกลืนกิน Uber eats ให้กลายมาเป็น GrabFood จึงเป็นโอกาสอันดีงาม และเป็นทางลัดที่จะทำให้ GrabFood ซึ่งยังเป็นรองในธุรกิจนี้ สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจรับส่งอาหารในภูมิภาคนี้ได้สมดังเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต 

    ขณะที่อีกบริการหนึ่งของ Grab ก็คือ GrabPay บริการทางการเงินและการชำระเงินผ่านมือถือ ที่จะต้องฝ่าด่านอรหันต์กับผู้เล่นมากหน้าหลายตา แต่ GrabFood ที่เตรียมปูพรมทั่วทั้งภูมิภาคภายในไตรมาสหน้านี้ ก็จะเป็นตัวผลักดันให้มีการใช้ GrabPay เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริการนี้อยู่ภายใต้ร่มของ GrabFinancial ที่แตกออกเป็นบริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (Micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ ทางการเงินด้วย ซึ่งนี่คือความเคลื่อนไหวที่หน้าจับตา เพราะเมื่อ Grab ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง กับการฟาดฟันกับคู่แข่งอย่าง Uber อีกต่อไป ก็จะมีสรรพกำลังและเวลาไปอัดฉีดและเดินหน้าสู้ในสนามรบอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับธุรกิจขนส่ง ก็ได้มีการทดลอง GrabCycle บริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และ GrabShutte Plus บริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ เพื่อให้บริการขนส่งรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งน่าจะปลุกเร้าให้ตลาดเรียกรถขนส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันซึ่งมีมูลค่า 5,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 155,966 ล้านบาท) ในปี 2017 เติบโตขึ้น ซึ่งจากรายงาน e-Conomy 2025 Southeast Asia ที่ Google ร่วมจัดทำกับ  Temaskek ระบุว่า มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 627 ล้านบาท) ภายในปี 2025 นี้ 
    ทั้งนี้หลังจากเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ของ Uber ในไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม แล้ว Uber จะถือหุ้น 27.5% ใน Grab และดาราโคสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของ Grab ด้วย 

    แม้ดูเหมือนว่า Uber จะเสียท่าให้กับ Grab แต่แท้จริงแล้วนี่คือ ชัยชนะของ Uber ด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา Uber ลงทุนในภูมิภาคนี้ไปราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 21,834  ล้านบาท) แต่หาก Grab ไปได้สวย Uber ก็จะมีโอกาสได้ประโยชน์มากกว่า จากสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 



    Uber ปิดแอปพลิเคชัน 8 เม.ย. 61
    ทั้งนี้แอปพลิเคชัน Uber จะปิดตัวลง ใช้งานไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ทำให้ระหว่างนี้จะเป็นการผ่องถ่ายคนขับและฐานลูกค้าจาก Uber มาอยู่ที่ Grab ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าจะถ่ายโอนได้ 100% ส่วนพนักงานเดิมของ Uber ที่มีอยู่กว่า 500 คน ในภูมิภาคนี้ ไม่ได้ถูกบังคับว่าจะต้องร่วมงานกับ Grab ต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ Grab จะไม่มีตำแหน่งว่างให้กับพนักงาน Uber ทุกคนนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจ M&A มักจะประสบปัญหาก็คือ ความไม่ชัดเจนในการสื่อสารกับพนักงาน อาจด้วยความรีบเร่งในการปิดดีลจนเกินไป ทำให้การสื่อสารนี้ไม่ถูกให้ความสำคัญ 

    อย่างไรก็ตามล่าสุด คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์ หรือ Competition Commission of Singapore (CCS) ได้มีคำสั่งชะลอการควบรวมกิจการนี้ชั่วคราวในสิงคโปร์เนื่องจากอาจขัดต่อบทบัญญัติที่ว่าด้วยการผูกขาดทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านราคา และให้มีการสอบสวน พร้อมให้ Grab ดำเนินเรื่องรายงาน CCS โดยละเอียด

    สุดท้าย ถ้าควบรวมกิจการแล้ว ในแง่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ไม่สนใจหรอกว่าใครจะกินรวบใคร ขอเพียงแต่ว่าเมื่อรวมกันแล้วจะนำเสนอสิ่งที่ประโยชน์มากขึ้น จากสินค้าและบริการที่ดีและสะดวก รวดเร็วขึ้นก็เท่านั้นเอง รวมถึงคาดหวังว่าจะไม่ต้องพบกับราคาค่าบริการที่ถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่โปรโมชั่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนลดค่าโดยสาร อาจจะต้องพักหรือเพลาๆ ลงบ้าง เพราะไม่แน่ใจว่านั่นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการหรือเปล่า สิ่งที่ Grab ควรทำหลังจากนี้คือการโฟกัสที่ ‘แก่น’ ไม่ใช่ ‘กระพี้’ 

    ขณะเดียวกันคู่ค้าหรือพันธมิตรธุรกิจอาจตกอยู่ในภาวะจำยอม หรือเกิดความกังวลใจว่า ข้อเสนอ การแบ่งปันผลประโยชน์ สัญญาการให้บริการ และเงื่อนไขทางธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจหลังจาก M&A แล้วต้องคิดหนัก ไตร่ตรองให้รอบคอบ เพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่ดีขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เลวร้ายลง