Tuesday, May 23, 2023
More

    แนวโน้มตลาดคราฟต์เบียร์ไทยปี 61

    กระแสคราฟต์เบียร์ไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยได้ขยายตลาดโดยนำโปรดักส์เข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่บริษัทเบียร์รายใหญ่เพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการผลิตคราฟต์เบียร์ทางเลือกใหม่ ซึ่งคาดการณ์กันว่า มูลค่าคราฟต์เบียร์ไทยจะเติบโตสูงถึง 100% ในปี 2561 นี้

    กฎหมายไทยกับคราฟต์เบียร์
    นายประเสริฐ ศรีตะบวรไพบูลย์ ผู้ผลิตเบียร์ยักษา กลุ่มสยามบรูวบราเธอร์ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดโดยรวมของคราฟต์เบียร์นำเข้าปี 2560 เฉพาะคราฟต์เบียร์ไทยอยู่ที่ 500 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ถึง 5-7% สำหรับปี 2561 ส่วนอัตราการเติบโตของคราฟต์เบียร์ไทยจะเติบโตสูงถึง 100% 


    อย่างไรก็ตาม แม้ความนิยมคราฟต์เบียร์จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากคราฟต์เบียร์ต่างชาตินำเข้าคราฟต์เบียร์ไทยนำเข้า หรือโฮมบรูว์ที่ผลิตกันเองในครัวเรือน รวมถึงการที่บริษัทเบียร์รายใหญ่อย่าง บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ได้เปิดตัว Snowy Weizen by EST.33 คราฟต์เบียร์ประเภท ไวเซ่นเบียร์ หรือเบียร์ที่ทำมาจากมอลต์จากข้าวสาลีเข้าสู่ตลาด ก็สร้างความคึกคักให้ตลาดเบียร์เป็นอย่างมาก

    แต่ปัญหาหลักที่ยังคงอยู่คู่กับตลาดคราฟต์เบียร์ไทย คือกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยให้กลุ่มผู้ผลิตตั้งโรงงานผลิตได้ในประเทศ

    แม้จะมีการออก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อกันยายน 2560 โดยมีอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้าใหม่ อย่างการจัดเก็บภาษีสุรา ที่คงการจัดเก็บภาษีแบบระบบผสม ทั้งในอัตราตามมูลค่าเพื่อสะท้อนถึงความฟุ่มเฟือย และอัตราตามปริมาณเพื่อสะท้อนถึงหลักสุขภาพ ปรับลดภาษีตามมูลค่าและเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยคำนึงถึงสุขภาพมากยิ่งขึ้น แต่เกณฑ์อนุญาตผลิตสุราก็ยัง คงเดิม คือต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

    โดยโรงเบียร์ขนาดใหญ่ ต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ส่วนโรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต หรือ Brewpub ต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี 

    ขณะที่ในมุมมองนักดื่มให้ความหมายของคราฟต์เบียร์ว่า เป็นเบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิตขนาดเล็ก ดำเนินงานโดยอิสระ  และใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่หมักเอง บรรจุขวดเอง ส่งไปขายเอง และผู้ผลิตรายนั้นๆ จะต้องผลิตเบียร์น้อยกว่า 6 ล้านบาร์เรล หรือ 7 ร้อยล้านลิตรต่อปี แต่ด้วยกฎหมายการผลิตในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตไทยหลายรายนำสูตรเบียร์ที่คิดค้นขึ้นไปผลิตในโรงเบียร์ต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย แล้วนำเข้ามาผ่านขั้นตอนการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นสาเหตุที่คราฟต์เบียร์ไทยในตลาดมีราคาขายสูง นายประเสริฐ ระบุว่า ก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยพยายามอย่างมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่มากพอ ทำให้เรายังคงต้องอยู่กับกฎหมายนี้ไปสักระยะหนึ่ง แต่ก็คาดหวังไว้ว่าสักวันกฎหมายจะเปลี่ยนให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยกลับมาต้มในบ้านเราได้ เพราะวันนี้ตลาดคราฟต์เบียร์เป็นกระแสโลกที่จะสามารถส่งเศรษฐกิจไทยให้โตได้

    ผลักดันคราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย
    ปัจจุบันจำนวนคราฟต์เบียร์ไทยมีในตลาดมากกว่า 40-50 ยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบรนด์ที่อยู่ใต้ดิน ส่วนแบรนด์ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ก็ล้วนมาจากการย้ายฐานไปผลิตในต่างประเทศ เพราะกฎหมายไทยไม่เอื้อให้ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยทำเช่นนั้นในประเทศได้

    ล่าสุด กลุ่มสยามบรูวบราเธอร์เปิดตัว 3 คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย ได้แก่ ยักษา สเปซคราฟต์ และทริปเปิ้ลเพิร์ล โดยสินค้าได้มีการวางจำหน่ายตามร้านอาหารและบนชั้นวางซูเปอร์มาร์เก็ตมาประมาณ 1 ปี แต่ในปีนี้ผู้ผลิตทั้ง 3 แบรนด์ ต้องการเข้าสู่ตลาดคราฟต์เบียร์ไทยอย่างจริงจัง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานหลายประการ ทั้งโรงผลิต สูตรการผลิต ส่วนผสมที่ใช้ รวมถึงทิศทางด้านการขายสินค้าเข้าสู่ตลาด โดยในปีนี้ทางกลุ่มสยามบรูวบราเธอร์ได้ ร่วมกับ บริษัท กัปตัน บาร์เรล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์พรีเมี่ยมจากแถบทวีปยุโรป มาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มสยามบรูว-บราเธอร์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งบริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่มากพอที่จะทำให้กลุ่มสยามบรูวบราเธอร์สามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ปัจจัยด้านสภาวะตลาดที่มีการขยายตัวยังช่วยส่งผลให้ยอดขายของทั้ง 3 แบรนด์มีอัตรากว่าเติบโตได้มากกว่า 100% ในปีนี้

    โดยปัจจุบันเบียร์ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มสยามบรูวบราเธอร์ มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ยักษาเพล เอล ปริมาณแอลกอฮอล์ 5.2%, สเปซคราฟท์: ลิเบอร์ตี้ 1 ปริมาณแอลกอฮอล์ 5.5%, สเปซคราฟท์: อีเว้นท์ ฮอริซอน ปริมาณแอลกอฮอล์ 5.5%, ไข่มุกตะวันออก (Weisse Pearl) ปริมาณแอลกอฮอล์ 5.5% และไข่มุกดำ ปริมาณแอลกอฮอล์ 5%

    แม้ปัจจุบันมูลค่าโดยรวมของตลาดเบียร์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับเบียร์ประเภทเมนสตรีม เช่น ลีโอ ช้าง กว่า 80% ส่วนเบียร์ประเภทพรีเมี่ยม เช่น สิงห์ ไฮเนเก้น มีส่วนแบ่งเกือบ 20% และมีไม่ถึง 1% ที่อยู่ในกลุ่มของซูเปอร์พรีเมี่ยม เช่น คราฟต์เบียร์ แต่เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องการความหลากหลาย ชอบลองของใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ตลาดเบียร์ทั่วโลก ที่ให้ความสนใจกับคราฟต์เบียร์มากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม แม้การก้าวเดินของกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยยังค่อยเป็นค่อยไป แต่ในอนาคต เมื่อกระแสผู้บริโภคเร่งเร้ามากขึ้น โอกาสที่คราฟต์เบียร์ไทยจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นก็คงเป็นไปไม่ยาก เมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะได้เห็นใบเปิดทางที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตั้งโรงผลิตคราฟต์เบียร์ที่ถูกกฎหมายในบ้านเราเองก็เป็นได้ 


    คุณอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ บล็อกเกอร์ที่มีประสบการณ์การดื่มเบียร์มามากกว่า 2,000 ชนิด
    “ปัจจุบันมีคราฟต์เบียร์ไทยมากกว่า 40-50  แบรนด์ในตลาด ซึ่งถือเป็นข้อดีสำหรับผู้บริโภค ที่จะมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า คราฟต์เบียร์ไทยเป็นเพียงเทรนด์ที่ผู้ผลิตรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสนใจ หากผู้ผลิตรายนั้นๆ ไม่มีการปรับตัว หรือมีความตั้งใจในการผลิตเบียร์คุณภาพดีออกมา ก็จะทำให้เบียร์แบรนด์นั้นตายไปในที่สุด ซึ่งในอนาคตคราฟต์เบียร์ไทยที่ยังคงอยู่ในตลาดจะต้องเป็นเบียร์ที่มีคุณภาพดี ใช้ส่วนผสมที่ดี รวมถึงมีวิธีการผลิตและความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่”