ทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปี 2561 ส่งสัญญาณบวก จากตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สร้างรายได้กว่า 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่วางเอาไว้ 3 ล้านล้านบาท ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างน่าพอใจจากการเปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงแรกของปี 2561 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 9.98 แสนล้านบาท เติบโต 16.07% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาไทย จำนวน 13,701,411 คน ขยายตัว 13.97% ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวเพียง 3.35% สร้างรายได้แล้วถึง 730,750 ล้านบาท เติบโตขึ้น 17.55% โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางเข้ามามากที่สุด ส่วนนักท่องเที่ยวไทย เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ (สถิติช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.) จำนวน 37.36 ล้านคน-ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้ 267,368 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12.21%
ขณะที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินด้านที่พักสูงเป็นอันดับ 1 โดยประเทศไทยมีสถานประกอบการที่พักที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกระจายตัวทั่วประเทศ จำนวน 20,474 แห่ง มีห้องพัก 774,062 ห้อง สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ย 1,488 บาท ในเมืองท่องเที่ยวหลัก 2,391 บาท สูงกว่าเมืองท่องเที่ยวรองเกือบ 2 เท่า ซึ่งมีราคา 1,029 บาท อีกทั้งสถานประกอบการที่พักในเมืองท่องเที่ยวหลักมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดท่องเที่ยวแบบดิจิทัล โดยมีการจองที่พักผ่าน OTA (Online Travel Agents) มากกว่าเว็บไซต์ของโรงแรม ส่วนในเมืองท่องเที่ยวรอง มีการใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย และใช้ OTA เป็นช่องทางหลักในการจอง ซึ่งธุรกิจโรงแรมก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 532,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจโรงแรมได้รับปัญหาด้านการจัดเก็บรายได้ทางออนไลน์ เนื่องจาก OTA มีการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงมากเกินไปถึง 30-35% ทำให้รายได้จากคอมมิชชั่นไหลออกสู่นอกประเทศ โดยไม่ผ่านการเก็บภาษีที่ถูกต้อง ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทยยังดี
ด้าน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสแรกของปี 2561 พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 101 ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติ สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับทรงตัว
โดยปัจจัยสำคัญมาจากการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ทำได้ดีขึ้นและมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และการประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่ทำได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวแย่กว่าปกติ เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ทั้งความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจไทย และต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาจากแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคใต้มีความกังวลเรื่องความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุด
ภาคธุรกิจท่องเที่ยวชี้เมืองรองยังไม่บูม
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ประเมินว่ามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากไม่ทราบวิธีการหรือไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ และนักท่องเที่ยวไม่ได้สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถออกใบกำกับภาษีได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น
ส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนมีสัญญาณในทางบวก โดยผู้ประกอบการมองว่าเป็นนโยบายที่ดีและจะทำให้ธุรกิจดีขึ้น เนื่องจากทำให้แหล่งท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักมากขึ้น และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่นานขึ้น
สำหรับไตรมาส 2/2561 คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะเท่ากับ 100 ในระดับปกติ โดยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.93% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน จำนวน 2.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.37% นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (รวมจีน) 3.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.48% และนักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.25 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.62%
ทั้งนี้ สถานการณ์การท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องเริ่มส่งผลดีต่อผู้ประกอบการมากขึ้น โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มเป้าหมายผลประกอบการในไตรมาสหน้า สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ลงทุนหรือจ้างงานเพิ่มขึ้นจะมีการดำเนินกลยุทธ์ในการทำตลาดออนไลน์ และใช้โซเซียลมีเดียมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันจากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจขายของที่ระลึก ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการลดจำนวนแรงงานหรือชั่วโมงจ้างงานลง หรือจำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ทั้งนี้เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการลดผลกระทบ ด้วยการลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสนับสนุนการยกระดับฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำ
นักท่องเที่ยวไทยหดตัว คาดไตรมาส 2 ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน สทท. ยังได้สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2561 โดยพบว่า นักท่องเที่ยวไทยเดินทางประมาณ 25% ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากปัจจัยที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจ จึงมีส่วนทำให้ลดกิจกรรมการท่องเที่ยวลงทั้งจำนวนครั้ง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังกังวลว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวไทยกว่า 60% ประเมินว่าอาจจะลดการท่องเที่ยวลง
ขณะที่ 45% วางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีตามโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเมืองหลัก ซึ่งเมืองรองที่ได้รับความนิยมคือ จ.เชียงราย และลำพูน ส่วนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก ซึ่ง 75% ของนักท่องเที่ยวไทยไม่ทราบรายละเอียด แต่หากได้ไปท่องเที่ยวชุมชน จะมีการใช้ในบริการนำเที่ยวของชุมชน และพักที่พักของชุมชนทั้งโรงแรมและโฮมสเตย์ อีกทั้งในไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวไทย 13% มีการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับในไตรมาส 2 นี้ นักท่องเที่ยวไทย 33% มีการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันจากปีที่ผ่านมา โดยปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลจากที่พำนักอยู่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางหรือต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยจุดหมายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อันดับ 1 คือภาคใต้ รองลงมาอันดับ 2 ภาคเหนือ และอันดับ 3 ภาคกลาง อีกทั้งนักท่องเที่ยวไทย 14% มีแผนที่จะไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมไปช่วงวันหยุดเทศกาล
ชาวต่างชาติอยากให้ปรับปรุงการคมนาคม
ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ 75% มีความพึงพอใจที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย คิดเป็นคะแนนรวม 3.99 จากคะแนนเต็ม 5 โดยมีความพึงพอใจทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหารไทย สปาและนวด แหล่งบันเทิง แต่ด้านคมนาคมไม่เป็นที่พึงพอใจของนักท่องเที่ยว ทั้งสาธารณูปโภคคมนาคม (ถนน รถไฟ) และการบริการ (แท็กซี่)
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้ว่าควรปรับปรุงระบบคมนาคมในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ จ.เชียงใหม่ พัทยา และหัวหิน โดยปรับถนนและการเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดระยะเวลาในการเดินทาง อีกทั้งแนะให้เพิ่มจำนวนท่าเรือที่ จ.ภูเก็ต พัทยา และจ.กระบี่ รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการให้มากขึ้นจะได้เพียงพอกับปริมาณนักท่องเที่ยว พัฒนาการเชื่อมต่อระบบคมนาคมให้เข้าถึงท่าเรือ และดูแลความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ ทั้งนี้ มองว่านโยบายการเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และการสร้างมาตรฐานการให้บริการ สามารถช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ สทท. ร่วมกับบริษัท ไมนด์ทรี ทำการประมวลผลดัชนีความพึงพอใจสินค้าและบริการด้วย AI โดยดึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เพื่อให้สอดคล้องกับดัชนี World Economic Forum Travel & Tourism Competitiveness Index ทำให้พบว่า กรุงเทพฯ, จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต ได้รับการพูดถึงมากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวมีทัศนคติเชิงบวกต่อ จ.เชียงใหม่มากที่สุด ส่วน จ.กระบี่ กลับมีทัศคติเชิงลบเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560
ขณะที่ ข้าวซอย กลายเป็นอาหารที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ กระแสดังกล่าวมาจากรายการสารคดีอาหาร Somebody Feed Phil ทาง Netflix ทำให้คนอเมริกันเข้าไปค้นหาข้อมูลและวิธีการทำในกูเกิลมากขึ้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีทัศนคติเป็นบวกต่อสายการบิน Qatar Airways ที่ได้ประกาศเปิดเที่ยวบินใหม่ เชื่อมต่อสู่สนามบินอู่ตะเภา บินตรงจากเมืองโดฮาเพื่อเป็นฮับในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวพัทยา
ทั้งนี้ สทท. มองว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขยายตัวได้ดี ด้วยปัจจัยบวกที่สำคัญคือ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว พร้อมกับแผนการตลาดเชิงรุกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เห็นควรให้ภาครัฐวางระบบพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐาน และเชื่อมต่อระบบการเดินทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน ในส่วนของผู้ประกอบการควรพัฒนาคุณภาพสินค้า และการให้บริการให้อยู่ในมาตรฐานสากล มีการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
นับว่าเพียง 5 เดือนแรกของปี การท่องเที่ยวไทยที่เป็นช่องทางในการสร้างรายได้หลักของประเทศยังส่งสัญญาณที่ดี แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยว ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเก็บไปเป็นการบ้าน ถ้าหากเราหวังที่จะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น อย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้แนวคิดเอาไว้ ซึ่งต้องปรับปรุงและยกระดับให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
“3 เดือนแรกของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวในไทยขยายตัวกว่า 15% ซึ่งนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและยุโรปยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีน และรัสเซีย ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ SMEs กว่า 80,000 ราย สร้างการจ้างงานกว่า 10% ของประเทศ”
[English]
Thailand’s Tourism Enjoys Good Time during Jan-Apr 2018
Thailand’s tourism industry has recorded an impressive performance during the first four months of this year, when international tourism revenue already accounted for over a third of the planned target of three trillion baht for 2018.
The Ministry of Sports and Tourism reported that revenue from the tourism industry during January and April stood at some 998 billion baht, up 16.07% from a year ago. Throughout this period, the number of foreign arrivals also grew 13.97% year-over-year — an impressive improvement from the 3.35% on-year increase seen the same time of last year.
Foreign tourists also generated 730.7 billion baht to the industry and this represented a 17.55% on-year increase, with the highest spending seen in the hotel sector, which currently provides a total of 774,062 rooms across the country at an average daily rate of 1,488 baht.
But while the use of online travel agents (OTA) has been increasingly chosen by tourists, this has been a issue for hotel businesses due to an imposition of a commission of between 30% and 35%, which will not come to Thailand and will not be taxed by the Thai government. Accordingly, the Ministry of Sports and Tourism is now planning to discuss with relevant public and private agencies to address and solve this matter.
And as the Tourism Council of Thailand’s latest survey on tourism business operator showed the confidence index in the first quarter of the year was at 101 — a normal level that indicates stable tourism situation, some business operators felt the general environment has been less favorable due to economic concerns, s rising costs and deteriorating tourist destinations as well as environmental problems.