การขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้สถานพยาบาลต่างๆ มุ่งขยายไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพ โดยเฉพาะตลาดคนไข้ต่างชาติที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยคาดว่า ปี 2561 จะมีคนไข้ต่างชาติมาใช้บริการประมาณ 3.42 ล้านครั้ง
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยมาแรง
ข้อมูลจากกองสุขภาพระหว่างประเทศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 2561 ระบุว่า สถานพยาบาลทั่วประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) มีทั้งหมด 61 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 47 แห่ง และคลินิก 14 แห่ง
ล่าสุด สมิติเวช เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในเอเชียได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 สถานพยาบาลที่ดีที่สุดระดับโลก รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จากการจัดอันดับโรงพยาบาลยอดเยี่ยมระดับโลกสำหรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปี 2018 โดย The Medical Travel Quality Alliance (MTQUA)
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ยังได้เปิดตัว The FIRST Lounge ซึ่งเป็นห้องรับรองลูกค้าวีไอพี ที่มี SCB Investment Center อยู่ภายใน รองรับการทำธุรกรรม การให้คำปรึกษาทางการเงิน คำปรึกษาทางด้านสุขภาพ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจระหว่างการรอตรวจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism คือการเดินทางท่องเที่ยวที่นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแล้ว นักท่องเที่ยวยังต้องการเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ ทํากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ หรือการบําบัดรักษาฟื้นฟูสุขภาพควบคู่กันไป เช่น การรับคําปรึกษาด้านสุขภาพ การใช้บริการสปาและการซื้อผลิตภัณฑ์สปา การนวด การประคบสมุนไพร การฝึกสมาธิเพื่อเรียนรู้การนําวิถีทางทางธรรมชาติมา บําบัดรักษาหรือสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น
จากการจัดอันดับของ The International Healthcare Research Center (IHRC) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพของไทย อยู่อันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีจุดแข็งคือ
1. สถานพยาบาล บุคลากร และการให้บริการมีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
2. อัตราค่าบริการไม่สูงนักหากเทียบกับคุณภาพ
3. แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไม่สูง มีสายการบินที่ครอบคลุมการเดินทาง และมีความรวดเร็วด้านการติดต่อประสานงาน
โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีรายได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.01% ของ GDP
คนกรุงกำลังซื้อปานกลาง-สูง ลูกค้าหลักรพ.เอกชน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2561 รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยระดับกลาง จะขยายตัวร้อยละ 7-9 แม้ภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่คนไข้ยังต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรักษาพยาบาล ทำให้การเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก หรือมีค่ารักษาพยาบาลไม่เกินวงเงินที่ทางบริษัทประกันกำหนด ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มคนไทยรายได้ปานกลาง มีอัตราการเติบโตดี โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะมีรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาทต่อปีขึ้นไป กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก
นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปี และเป็นกลุ่มที่ถูกขับเคลื่อนจากคนไข้ต่างชาติด้วย คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6-8
ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ศูนย์วิจัยกสิกรได้ประมาณการส่วนแบ่งตลาดจากคนไข้แต่ละประเทศ ซึ่งคำนวณจากรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า กลุ่มตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน คูเวต กาตาร์ ครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 12.5% ตามด้วยเมียนมา 8.7% สหรัฐฯ 6.2% สหราชอาณาจักร 5.0% ญี่ปุ่น 4.9% กัมพูชา 2.2% และอื่นๆ รวม 60.4%
โดยคาดว่า ปี 2561 นี้ จะมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง แบ่งเป็น Medical Tourism ประมาณ 2.5 ล้านครั้ง และกลุ่ม EXPAT หรือกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ทำงานและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 9.2 แสนครั้ง
มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพิ่ม
จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ประกอบกับแนวโน้มของคนจีนที่เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเน้นจับกลุ่ม Medical Tourism จีนมากขึ้น โดยปี 2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 10.4-10.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.1-8.2 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดจีนน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพของไทย มีความคุ้นเคยหรือชื่นชอบท่องเที่ยวไทย รวมถึงอาหารและแหล่งชอปปิงต่างๆ อีกทั้งการบริการทางการแพทย์ไทยก็ค่อนข้างมีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล คุ้มค่าคุ้มราคา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว Medical Tourism ชาวจีนไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย จะเดินทางมาประเทศไทย โดยกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจคือ 1. กลุ่มที่มีภาวะมีบุตรยาก และ 2. กลุ่มที่เน้นการดูแลด้านความงาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาด Medical Tourism ชาวจีนจะมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก แต่ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย อีกทั้งการจะขยายตลาด Medical Tourism ได้นั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้มีความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับกลยุทธ์และเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า หรือพัฒนาจุดแข็งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็น่าจะทำให้สัดส่วนของกลุ่ม Medical Tourism จากต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอาจจะมีโอกาสขยายตลาดไปสู่บริการทางการแพทย์อื่นๆ อย่าง โรคที่ซับซ้อนหรือรุนแรง เช่น ผ่าตัดหัวใจ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
“ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีปัญหาโรคหลอดเลือด–กระดูก และข้อ รวมถึงกระดูกคอ–หลัง, กลุ่มระบบทางเดินอาหารและตับ, กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง, กลุ่มสมอง ประสาท และไขสันหลัง และกลุ่มสุดท้ายคือ นักท่องเที่ยวที่ต้องการมีบุตรหรือมีบุตรยาก 5 กลุ่มนี้ จะกลายเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวไทย”