กระแสการทำความดีเพื่อสังคมไทยได้รับความสนใจมากขึ้น โดยตัวเลขจิตอาสามีจำนวนทะลุ 10 ล้านคน ชี้คนไทยเริ่มนำการทำงานจิตอาสาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยงานอาสาด้านเด็ก เยาวชน และสตรี ได้รับความนิยมสูงที่สุด
สถานการณ์งานจิตอาสาในไทย
ปัจจุบันงานจิตอาสากำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ และคนไทยจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสาธาณประโยชน์ ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุถึงสถิติอาสาสมัครในประเทศไทย ที่สำรวจล่าสุดเมื่อปี 2559 ซึ่งพบว่ามีคนไทยจำนวนมากถึง 10,415,917 คน ขณะเดียวกันองค์กร Charities Aid Foundation ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 16 ของโลก รั้งอันดับ 4 ของเอเชีย ในการจัดดัชนีการให้ (CAF World Giving Index) ปี 2560 ที่มาจากการช่วยเหลือผู้อื่น การบริจาคเงิน และการทำงานอาสา โดยพุ่งขึ้นจากอันดับ 37 ในปี 2559 ส่วนอันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศเมียนมา รองลงมาอันดับ 2 อินโดนีเซีย เพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา
สำหรับคำว่า “จิตอาสา” ปรากฏขึ้นช่วงปี 2547 ซึ่งริเริ่มโดยแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพลิกฟื้นการเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องอาสาสมัคร ให้มีพลังเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคม ทำให้มีคุณค่าและความหมายใหม่ จึงนำคำว่า “จิต” หมายถึง ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก มาผสมกับ “อาสา” ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาบาลี แปลว่าความหวัง รวมกันในความหมายว่า ใจที่มีความหวัง สู่การรวมพลังกันของคนตัวเล็กๆ ในสังคมซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมโครงการธนาคารจิตอาสา กล่าวถึงพัฒนาการของงานจิตอาสาในประเทศไทยว่า เมื่อก่อนงานอาสามักจะเกิดการรวมตัวกันเฉพาะเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น เหตุการณ์สึนามิ น้ำท่วม เป็นต้น ภายหลังจึงการเกิดกระบวนการที่นำไปสู่วิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น ไม่ใช่รอให้เกิดวิกฤติการณ์ อย่างเช่น โครงการธนาคารจิตอาสา หรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการทำงานจิตอาสามีพัฒนาการเกิดขึ้น 4 ประการ คือ 1. คนไทยเริ่มนำการทำงานจิตอาสาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต 2. มีองค์กรอิสระเข้ามาทำงานจิตอาสามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงสภากาชาดไทย หรือมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ ปัจจุบันมีการรวมตัวกันของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง 3. รูปแบบในการทำงานอาสาหลากหลายขึ้น เมื่อก่อนมีเพียงเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมกับผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็ก แต่ปัจจุบันมีการนำสิ่งที่ตนเองถนัดมาช่วยสาธารณะประโยชน์ อย่างเช่น กรณีการช่วยเหลือทีมหมูป่าก็มีผู้อาสาซักเสื้อผ้าให้เจ้าหน้าที่ มีคนไปช่วยขัดเหรียญบาทที่สกปรกให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ หรือผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาช่วยแปลจดหมายนักเรียนด้อยโอกาสที่ได้รับทุนการศึกษาจากชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เห็นถึงความงดงามในสังคมว่าคนออกมาทำสิ่งต่างๆ มากมาย และ 4. องค์กรที่จัดงานจิตอาสามีความใส่ใจในการจัดงานมากขึ้น ตั้งแต่มีการจัดปฐมนิเทศไปจนถึงสรุปกระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
เผยงานจิตอาสายอดฮิต
ข้อมูลของ JitArsaBank.com ระบุถึงงานจิตอาสาที่ได้รับยอดนิยม ได้แก่
1. ด้านเด็ก เยาวชน และสตรี
2. ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
3. ด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
4. ด้านการศึกษา เรียนรู้ และฝึกอบรม
5. ด้านศิลปะ และวัฒนธรรม
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ขณะเดียวกันจิตใจที่ดีงามนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพื่อนมนุษย์ หากแต่แพร่ขยายไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกด้วย อีกทั้งยังมีงานที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทาง ซึ่งชี้ให้เห็นว่างานจิตอาสาไม่ใช่เป็นเพียงงานที่ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่สามารถบ่มเพาะศักยภาพ และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้อีกด้วย
รวมพลังคนไทยหัวใจจิตอาสา
การขับเคลื่อนงานจิตอาสาในไทยมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ซึ่งปีนี้ดำเนินงานเป็นปีที่ 6 โดยรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า และพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาหยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ในปีนี้ได้นำภารกิจการเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขก มาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน ถ่ายทอดผ่านความสำเร็จของเครือข่ายหรือคนต้นแบบ ในลุ่มน้ำต่างๆ ที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน สร้างแรงบันดาลใจสู่สาธารณชนทั่วประเทศ
ส่วน มูลนิธิเอสซีจี ได้จัดโครงการค่ายอาสาพัฒนาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยพนักงานร่วมเป็นอาสาสมัครออกค่ายสร้างอาคารเรียน เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบและตอบแทนสังคม นอกจากนั้น ยังเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเยาวชน จึงได้ส่งเสริมให้นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ นำความรู้ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม ผ่านกิจกรรมจิตอาสาที่หลากหลาย ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมากว่า 5 ปี
ขณะที่โลกยุคดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิต ซึ่งสามารถนำมาเป็นส่วนผลักดันการทำงานจิตอาสาได้อีกช่องทางด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สำรวจเทรนด์นักเดินทางคนรุ่นใหม่ พบว่าต้องการไปชุมชนที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาหารท้องถิ่น ที่พักน่านอน หรือมีสถานที่ถ่ายรูปสวยๆ เพื่ออัพเดตไปยังโซเชียลมีเดีย จึงเปิดตัวโครงการ อส. SOCIAL ที่มาจากการรวมพลังอาสาสมัครและจิตอาสาชาวโซเชียล เพื่อช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่เมืองรองให้เป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น
การทำงานจิตอาสาสามารถชี้ให้เห็นถึงพลังความสามัคคี และความมีน้ำใจของคนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเป็นการทำงานจิตที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนร่วม ทั้งยังต้องเสียสละทั้งกำลังกาย รวมถึงกำลังทรัพย์ หากแต่นับว่าเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการที่จะช่วยให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อีกทางหนึ่ง
เค เยาวราช – จิตอาสา
“การตั้งใจทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่ดีแล้ว จะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะทำแค่ปิดทองหน้าพระ หลังพระ หรือฐานพระทำได้ทั้งหมด ซึ่งข้อดีคืองานบางอย่างให้คนที่ทำด้วยหน้าที่อาจจะทำได้ระดับหนึ่ง หรือจะท้อแล้วทิ้งงานจนไม่ลุล่วง อย่างที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต้องทำด้วยใจรักและยอมลำบากถึงจะสำเร็จ โดยงานจิตอาสาสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้าเจอถุงพลาสติก ไม้เสียบลูกชิ้น หรือกระป๋องน้ำ หล่นตามทางเดินแล้วเก็บก็เป็นจิตอาสาโดยใจเที่ยงธรรมแล้ว เพราะต้องเป็นผู้ให้ ต้องเหนื่อย แล้วไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทน และเราต้องไม่หวังโล่รางวัล แต่สิ่งที่ได้คือความสุขใจ”