นับตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบายคืนทางเท้าให้ประชาชนอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นผลงานของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนคนเดินเท้ามีความพึงพอใจในอันดับต้นๆ เพราะมีการจัดการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ส่งผลต่อเมืองในเรื่องขาดสีสันของความเป็น Street Food City และส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เนื่องจากขาดที่ทำมาหากิน จึงออกมาเคลื่อนไหวขอทวงคืนทางเท้าให้จัดพื้นที่ขายให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกันบ้าง แล้วความสมดุลของเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน
หาบเร่แผงลอย ขอทบทวนการจัดระเบียบทางเท้าใหม่
ล่าสุดต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แกนนำและสมาชิกเครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมยื่นหนังสือเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอีก 4 รัฐมนตรี คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทบทวนนโยบายจัดระเบียบทางเท้า และคืนพื้นที่ขายของให้กลุ่มหาบเร่แผงลอย
เครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทยฯ ชี้แจงถึงเหตุที่ต้องมาร้องทุกข์ถึงนายกรัฐมนตรีว่า เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทย ด้วยการคืนทางเท้าให้กับประชาชนของรัฐบาล และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งตั้งแต่ถูกยกเลิกแผงลอย ได้เดินทางไปประสานกับหลายหน่วยงานทั้ง กทม. ศาลปกครอง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และจากความทุกข์และผลกระทบที่ได้รับ ทำให้เกิดการรวมตัวกันมาเรียกร้อง
โดยนายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทยฯ กล่าวว่า เครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทยฯ ขณะนี้มีสมาชิกผู้ค้ากว่า 7,500 คน ครอบคลุมทุกพื้นที่ กทม. ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องการร้องทุกข์ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมยื่นข้อเสนอสำหรับแก้ปัญหาใน 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว และยืนยันว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้
กทม. เล็งประชาพิจารณ์ ควรมี-ไม่มีหาบเร่แผงลอย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา โดย “พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ได้ตอบรับทันที ด้วยการมอบหมายให้นายวัลลภ สุวรรณดี รองประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ไปร่วมพูดคุยกับนักวิชาการเกี่ยวกับแนวทางและข้อเสนอแนะ และให้นายสกลธี ภัททิยกุล รอง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้พิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรหากมีการค้าขายบนทางเท้าอีกและประชาชนจะสัญจรอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม. มีความเห็นว่า การค้าแผงลอยนั้นเป็นเรื่องดีในหลายมิติ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การตั้งแผงค้าไปรบกวนสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งเห็นใจทั้งผู้ค้า 7,500 รายที่ได้รับผลกระทบ และผู้ใช้ทางเท้า 3-4 ล้านคน จึงต้องการให้จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ว่าต้องการจะให้มีหาบเร่แผงลอยหรือไม่
ส่วนนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทยฯ ที่เสนอให้คืนพื้นที่ค้าขายให้ผู้ค้าภายใน 7 วัน ไม่สามารถทำได้ เพราะ กทม. มีนโยบายชัดเจนแล้วว่าพื้นที่ที่ กทม. จัดระเบียบไปแล้วผู้ค้าไม่สามารถกลับมาทำการค้าได้อีก แต่ กทม. จะหาแนวทางช่วยเหลือผู้ค้าในจุดที่ได้จัดระเบียบไปแล้ว โดยเฉพาะจุดใหญ่ เช่นที่ย่านอโศก สะพานพุทธ โดยจะพิจารณาจัดหาที่ เช่นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้ผู้ค้าใช้เป็นพื้นที่ทำการค้าทดแทนกัน
ก่อนหน้านี้ กทม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อหารือถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่แผงลอย และการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นแนวทางที่ใช้ได้อย่างยั่งยืน สร้างความเท่าเทียม โดยมี 2 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่ต้องพิจารณา คือ 1. กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย 2. สถานที่ใดสามารถกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันได้ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
นักวิชาการจี้ทบทวนจัดระเบียบแผงลอย
ด้านเครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ โครงการดุษฎีบัณฑิต (สาขานโยบายสังคม) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (ยูดีดีซี) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จัดประชุมวิชาการเรื่อง “แผงลอยกับเมือง : การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
ผศ.ดร.นฤมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง แถลงว่ารัฐบาลและ กทม. มีมาตรการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยเพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน โดยมีเป้าหมายยกเลิกจุดผ่อนผัน 683 จุด ซึ่งในเดือนสิงหาคมมีจุดผ่อนผันถูกยกเลิกแล้ว 478 จุด มีผู้ค้าได้รับผลกระทบ 11,573 ราย เหลืออีก 210 จุด ที่ กทม. มีแผนจะยกเลิกต่อเนื่อง กลุ่มนักวิชาการได้รวบรวมรายชื่อนักวิชาการ อาจารย์ นักผังเมือง นักวิจัย นักศึกษา ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว พร้อมเสนอแนะแนวทางการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยจากฐานคิดที่เข้าใจในบทบาทและความสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
โดยมี ข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. กำหนดยุทธศาสตร์การค้าแผงลอย ที่สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และผู้ประกอบการ ซึ่งอาจศึกษาจากบางประเทศและนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย รวมถึงให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารและความเหลื่อมล้ำ และดำเนินการเป็นแผนระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5-10 ปี
2. แผนยุทธศาสตร์การค้า ควรให้ความสำคัญต่อการสร้างเมืองอย่างทั่วถึงและยั่งยื่นไปพร้อมกัน และให้สอดคล้องกับสังคมและ เศรษฐกิจ
3. ควรศึกษาสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้ค้า เพื่อการตัดสินใจจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ค้าได้อย่างเหมาะสม ระหว่างผู้ค้าที่มีรายได้ กับกลุ่มผู้ค้าที่พ้นความยากจนไปและต้องสนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่มและมีผู้แทนชัดเจน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
4. แผงลอยมีมิติมากกว่าการจัดระเบียบ เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างอาชีพ สังคม และเศรษฐกิจ ควรจัดตั้งหรือมอบหมายหน่วยงานที่เหมาะสมทำหน้าที่ดูแลการค้าแผงลอยแบบองค์รวมและบูรณาการ
5. ควรพิจารณาความคุ้มค่า ประโยชน์ที่รัฐบาลและชุมชนท้องถิ่นพึงได้รับจากการค้าแผงลอย ทั้งมาตรการเก็บภาษี ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม จากการใช้พื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี กลุ่มนักวิชาการยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนให้มีแผงลอยได้ในทุกที่ เพราะเมืองที่ดีไม่ได้ตอบสนองเฉพาะแค่เรื่องการกิน แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินเท้า การจราจร ความสะอาดของถนน และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงต้องมีการหาจุดร่วมที่เหมาะสม
ทั้งนี้การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยไม่ใช่เพียงแค่การรื้อทิ้ง หรือให้ออกไปจากพื้นที่ เนื่องจากหาบเร่แผงลอยก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยก่อนหน้านี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (ยูดีดีซี) ได้จัดทำแบบสอบถามการศึกษารูปแบบและพฤติกรรมการเดินเท้าในชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,111 ตัวอย่าง พบว่า หาบเร่แผงลอยไม่ใช่อุปสรรคในการเดิน โดยมีถึงร้อยละ 44 ที่ระบุว่า ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการเดิน ที่ทำให้ไม่น่าเดินคือการที่ไม่มีร้านค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่ระหว่างทาง
สอดคล้องกับข้อมูลจาก Women in Informal Employment Globalizing and Organizing (WIEGO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ศึกษาด้านการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ที่จัดทำแบบสอบถามสำรวจพฤติกรรมการซื้ออาหารข้างทางของผู้บริโภค ประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ ทั้งพื้นที่ในเมืองและชานเมือง รวมถึงสำรวจความแตกต่างของราคาอาหารเมนูเดียวกันจากร้านข้างทาง โดยเปรียบเทียบกับร้านอาหารตามห้องแถว หรือในฟู้ดคอร์ตในบริเวณเดียวกันที่มีราคาถูกที่สุดถึง 140 เมนู ทำให้พบว่าถ้าไม่มีหาบเร่แผงลอยขายอาหารริมทาง ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเดือนละ 357 บาท
นอกจากนั้น ผู้ทำแบบสอบถามยังบอกว่าเลือกซื้ออาหารจากหาบเร่แผงลอยเฉลี่ย 9.58 มื้อ/สัปดาห์ โดยกลุ่มที่ซื้ออาหารจากหาบเร่แผงลอยบ่อยที่สุด คือ กลุ่มที่มีรายได้ 20,000-30,000 บาท/เดือน ส่วนกลุ่มที่ซื้อบ่อยรองลงมาก็ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน เมื่อถามว่าหากไม่มีหาบเร่แผงลอย จะซื้ออาหารจากที่ไหน คำตอบคือห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่กับผู้ค้าฝ่ายเดียว แต่มีผลกับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และกลุ่มแรงงาน
เมื่อพื้นที่ทางสังคม “ทางเท้าสาธารณะ” มีความเกี่ยวข้องมากกว่าสิทธิของคนเดินเท้า แต่มีเรื่องของความอยู่รอดในการใช้ชีวิตประจำวันรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คนเดินเท้า ผู้พิการ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย แต่ต้องรวมถึงอาคารพาณิชย์ที่รุกล้ำและใช้ประโยชน์บนทางเท้าเกินขอบเขต จักรยานยนต์รับจ้าง หรือแม้แต่เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ป้ายโฆษณา ต้นไม้ ท่อน้ำ แผ่นอิฐปูทางเท้า ท่อระบายน้ำ ที่จะต้องจัดระเบียบไปด้วยกัน จึงจำเป็นต้องมีหลักการ ข้อกำหนด หรือข้อตกลงในการจัดระเบียบ ที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย และเมื่อมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ทุกฝ่าย ทุกคนก็ต้องเคารพและปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้มงวดทำหน้าที่อย่างตรงไป ตรงมา ไม่มีละเว้น ไม่มีเรียกรับผลประโยชน์ ผู้ค้าเมื่อได้รับการกำหนดจุดให้ค้าขายเป็นที่เป็นทาง ก็ต้องยอมรับในเงื่อนไข ไม่ฝ่าฝืน รถจักรยานยนต์ก็ขับขี่ในจุดที่ถูกต้อง ไม่แหกกฎ ก็น่าจะทำให้เกิดความพอดีและมีความลงตัวระหว่างการเคารพสิทธิส่วนรวม การรักษากฎหมาย การรักษาเสน่ห์ และวิถีชีวิตของเมือง
___________
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ส่วนตัวผมต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ว่าต้องการให้มีหาบเร่แผงลอยหรือไม่ มองว่าการค้าหาบเร่แผงลอยนั้นมีข้อดีในหลายมิติ แต่จะทำอย่างไรให้การตั้งแผงค้าไม่รบกวนต่อสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า เรื่องนี้จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างหลากหลายเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน ตรงนี้รู้สึกเห็นใจทั้งผู้ค้า 7,500 รายและผู้ใช้ทางเท้า 3-4 ล้านคนด้วย ส่วนข้อเสนอจากนักวิชาการที่อยากให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการค้าแผงลอยแบบองค์รวมและบูรณาการ โดยให้ระดมความคิดรวมถึงข้อมูลจากนักวิชาการและให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วยนั้น กทม. ยินดี”
[English]
Market Stalls vs Pedestrians & the Reclaiming of Sidewalks
As the Bangkok Metropolitan Administration’s operation to reclaim sidewalks from market stalls has appeared to yielded satisfactory results and praises from pedestrians, street merchants have been anything but happy.
Recently, members of the network of Thai street merchants have submitted a petition to the government, asking for a rethink of the sidewalk reclamation policy.
Embattled street merchants said that the government’s policy to put order to the country’s sidewalks has hurt them considerably and their attempts to seek help from various state agencies have not made any progress.
According to the network, over 7,500 street merchants in Bangkok have been in trouble and they have asked the Prime Minister to introduce emergency, medium-term and long-term solutions that will still respect the government policy while allowing them to continue their businesses.
Prime Minister Gen. Prayut Chan-o-cha has has already instructed all related agencies to promptly come up with proper solutions and Bangkok Governor Pol. Gen. Aswin Kwanmuang has assigned his deputy to discuss with academics to hear their suggestions.
Pol. Gen. Asawin said that the end solutions must be thoroughly talked through as the authorities need to recognize the problems of some 7,500 merchants and the problems faced by over three million pedestrians while public hearings would need to be held to determine if Bangkok residents still need market stalls.
Meanwhile, a group of academics, town-planning experts, researchers and students have also submitted a petition with the government to ask for a review of this policy although they insisted that they are not fully supporting market stalls, whose presence must take into consideration the safety of pedestrians, traffic conditions, the cleanliness of streets and the orderliness of the city.