Tuesday, May 23, 2023
More

    เตือนคนไทยกินเค็มเกินมาตรฐานโลก 2 เท่า

    ในเมนูอาหารที่คนไทยรับประทานแต่ละวันมีปริมาณโซเดียมอยู่เกือบ 2 ช้อนชา ซึ่งเกินค่าที่ WHO กำหนด ขณะเดียวกันข้อมูลผลสำรวจพบว่าอาหารสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ เค็มจัด อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองเดียวมีโซเดียมเท่ากับปริมาณทั้งหมดที่ควรบริโภคต่อวัน 

    คนไทยกินเค็มเกินมาตรฐานโลก 2 เท่า
    หากลองถอดส่วนผสมในเมนูบนโต๊ะอาหารจะพบว่าขณะนี้คนไทยมีการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญของการเกิดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (Non-Communicable Diseases: NCDs) นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดความเคยชินต่อรสเค็ม หรือพฤติกรรมติดเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 


    จากข้อมูลพบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมมากกว่า 3,500 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นจากเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีการบริโภคถึง 4,350 มิลลิกรัม/วัน แต่ยังคงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ให้บริโภค 2,000 มก./วัน หรือ 5 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ WHO ยังได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะต้องลดให้ได้ประมาณ 2,000 – 3,000 มก./วัน

    ลดเค็ม ลดโรค ช่วยชาติ
    โซเดียม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเกลือ และอยู่ในอาหารรสเค็มทุกชนิด โดยมีประโยชน์ต่อระบบการทำงานของร่างกายหลายส่วน เช่น ปรับสมดุลของเหลวและเกลือแร่ใน  ร่างกาย ช่วยส่งกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทให้ทำงานเป็นปกติ ช่วยการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ และช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ แต่ในทางกลับกัน หากกินอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไปทำให้เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ

    ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เผยว่าปัจจุบันโรคไตเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังประมาณ 11 ล้านคน ต้องรับการล้างไตและการปลูกถ่ายไต โดยมีผู้ที่ต้องล้างไตราว 1 แสนคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/คน/ปี ซึ่งการล้างไตอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยปี 2560 สปสช. เสียค่าบำบัดทดแทนไตประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จะเสียค่าใช้จ่ายเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการลดการบริโภคเค็มลงจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงได้

    ขณะที่ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่าเครือข่ายลดบริโภคเค็มมีการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อลดเค็มให้แก่ผู้บริโภค โดยให้ผู้ประกอบการอาหารติดฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น กลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่และโจ๊ก) 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว 30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์นม 81 ผลิตภัณฑ์ และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์


    เผยจานเด็ดสตรีทฟู้ดเค็มจัดเสี่ยงสุขภาพ
    สตรีทฟู้ดถือเป็นวัฒนธรรมการกินที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน และยังดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่จากงานวิจัยในโครงการโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหาร Street Foods โดย ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยเชี่ยวชาญจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเก็บข้อมูลทั้งหาบเร่แผงลอยริมบาทวิถีและในตลาด รวมถึงศูนย์อาหารจากเขตต่างๆ ของ กทม. แบ่งเป็นกับข้าว 27 ชนิด อาหารจานเดียว 29 ชนิด และอาหารว่างและขนม 20 ชนิด พบว่าอาหารสตรีทฟู้ดส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนักหน่วยขาย (ถุงหรือกล่อง) ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยกับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนมากเกินกว่า 1,500 มก./ถุง

    โดยประเภทกับข้าว ชนิดแกง (แกงจืดวุ้นเส้น แกงไตปลา แกงเขียวหวาน ต้มยำ ฯลฯ) ชนิดใส่พริกแกง (ผัดเผ็ดปลาดุก ปลาทอดราดพริก ฯลฯ) และเครื่องจิ้ม (น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกกะปิ ฯลฯ) มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/ถุง ในระดับเสี่ยงสูงมาก ขณะที่ประเภทอาหารจานเดียว ชนิดน้ำซุป (ในกลุ่มอาหารเส้น ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ต้มเลือดหมู บะหมี่หมูต้มยำ ฯลฯ) อาหารแซ่บ (ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำไทย) มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อถุง ในระดับเสี่ยงสูงมาก 

    ประเภทอาหารว่างและขนม ชนิดมีน้ำจิ้ม (ไส้กรอกทอด คอหมูย่าง ลูกชิ้นปิ้ง ปอเปี๊ยะทอด ฯลฯ) มีปริมาณมากกว่า 1,000 มิลลิกรัม/ถุง ในระดับเสี่ยงสูง ส่วนขนมไทย (ข้าวเหนียวสังขยา ขนมครก สาคูไส้หมู ฯลฯ) มีโซเดียมในระดับความเสี่ยงต่ำ ระหว่าง 200 – 600 มิลลิกรัม และซาลาเปาไส้หมูมีโซเดียมต่ำสุด ทั้งนี้ ยังได้ทดลองเติมน้ำปลาในน้ำซุปใสให้รสชาติเค็มพอดีนั้น จะใช้น้ำปลา 6 กรัม/น้ำซุป 200 ซีซี ซึ่งมีปริมาณโซเดียม 600 มก.

    รณรงค์ลดเค็มในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 10%
    โดยปัจจุบันพบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารใกล้ตัวเเละเป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ประกอบด้วยผงปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,500-2,000 มิลลิกรัม หรือ 1 ช้อนชา เทียบเท่ากับปริมาณทั้งหมดที่ควรบริโภคต่อวัน

    ขณะที่เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้มีการตั้งแคมเปญในเว็บไซต์ change.org เพื่อนำไปเสนอกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และเกิดข้อตกลงที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกับอุตสาหกรรมบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศไทย โดยลดปริมาณโซเดียมลง 10% ในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อภายในปี 2562 ซึ่งหากอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อพร้อมใจกันลดปริมาณโซเดียมลง ก็จะลดความเสี่ยงในการสะสมของโซเดียมของผู้บริโภคลงได้

    แม้ว่าพฤติกรรมการกินโดยเฉพาะด้านรสชาติอาหารอาจจะปรับเปลี่ยนได้ยาก หากแต่ตระหนักถึงการบริโภคเค็ม ลดโซเชียมลงได้ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของตนเอง โดยพบว่าการลดเค็มลง 10% ลิ้นของมนุษย์จะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของรสชาติ จึงเป็นทางออกที่ดีต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค 
    __________
    ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม – ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. 
    “การบริโภคอาหารโซเดียมสูง เป็นปัจจัยให้เกิดความเคยชินต่อรสเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สสส. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางการปรับลดปริมาณโซเดียมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ การใช้สารทดแทนเกลือ เช่น เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งยังมีข้อจำกัดบางประการคือเกิดรสเฝื่อนในอาหาร หรือการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ปลาร้า สามารถลดปริมาณโซเดียมลงได้ร้อยละ 50 ดังนั้นการหาแนวทางปรับลดโซเดียมในอาหารโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติ และการยอมรับผู้บริโภคจึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกทางหนึ่ง”

    [English]
    Thais’ Sodium Consumption at Nearly 200% above Global Standard

    It is reported that Thais, on average, consume over 3,500 milligrams of sodium each day.  Despite the fact that the number is an improvement from a daily average of 4,350 milligrams per day recorded eight years ago, this is still nearly twice the amount the World Health Organization recommends, which is 2,000 milligrams per day.  The WHO has already set a target that Thailand’s daily sodium consumption needs to be lowered to 2,000-3,000 milligrams by 2025.

    While sodium, which is a component of salt and is present in most salty food, offers several benefits to human body, over-consuming it also put health at risks, including an increase in the number of non-communicable diseases.

    According to Prof. Dr. Kriengsak Vareesangthip, the President of the Nephrology Society of Thailand, around 11 million Thais are currently suffering serious kidney diseases. About of this, approximately 100,000 of them need to go through dialysis,which costs each about 250,000 baht each year, while the total cost is expected to rise to 17 billion baht per year within the next 5-10 years.

    A research on sodium and sodium chloride in street foods showed most of 76 dishes, ranging from side dishes to snacks and desserts, which researchers tested had more than 1,500 milligrams of sodium per serving already.

    Nevertheless, a sodium-reduction campaign has already been launched on change.org in hopes of securing support from the Food and Drug Administration to make an agreement with Thailand’s instant noodle producers in cutting sodium in their products by 10% by 2019.