ภายหลังจากธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยอดการโอนเงินข้ามธนาคารมีอัตราการเติบโตสูงถึง 239% และมียอดการใช้งาน Mobile Banking กว่า 38 ล้านบัญชี เติบโต 44.26% ด้านธนาคารพาณิชย์ต่างก็พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบสนองการใช้งานของคนยุคใหม่ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
คนไทยชำระเงินผ่านมือถือแบบก้าวกระโดด
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการขยายตัวของอัตราการใช้สมาร์ทโฟน โดยผลสำรวจจาก We Are Social ดิจิทัลเอเยนซี่ และ Hootsuite ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions พบว่า ปี 2561 คนไทย 57 ล้านคน จาก 70 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต และ 46 ล้านคนใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟน แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ คนไทยใช้เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลกเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และไทยยังคงเป็นประเทศที่ใช้เวลาท่องเน็ตบนสมาร์ทโฟนต่อวันมากที่สุดในโลกเช่นกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาที
ขณะที่รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 61 พบว่า มีการทำธุรกรรมผ่านบริการธนาคาร มือถือ (Mobile Banking) และธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งจำนวนผู้ใช้บริการ และมูลค่าของการทำธุรกรรม โดยมีการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ทั้งสิ้น 37,973,421 บัญชี เพิ่มขึ้น 44.26% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการทำธุรกรรม 575,376,000 รายการ เพิ่มขึ้น 124.94% รวมมูลค่า 3,641,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 60
ส่วนบัญชีลูกค้าที่ชำระเงินผ่าน Internet Banking มีทั้งสิ้น 23,125,388 บัญชี เติบโต 24.8% โดยธุรกรรมชำระเงินผ่าน Internet Banking มี 61,812,000 รายการ รวมมูลค่า 6,326,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ 44.5 ล้านหมายเลข คิดเป็นการเติบโต 6% ต่อเดือน แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านเลขประจำตัวประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข และการลงทะเบียนผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ อยู่ที่ 15.8 ล้านเลขหมาย สำหรับปริมาณการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด โดยในเดือน มิ.ย. 61 มีปริมาณธุรกรรมกว่า 83.3 ล้านรายการ รวมมูลค่า 4.42 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 2.7 ล้านรายการต่อวัน และยอดการโอนเงินข้ามธนาคารมีอัตราการเติบโตสูงถึง 239% ในไตรมาส 2
ธนาคารรุกตลาด พัฒนาแอปฯ ตอบสนองคนยุคใหม่
แม้คนไทยมีอัตราการใช้ Mobile Banking เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 37.9 ล้านบัญชี แต่คิดเป็นเพียงร้อยละ 56 จากกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเท่านั้น หรือคิดเป็น 31 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่มีอยู่ 70 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่ายอดผู้ใช้งาน Facebook ที่มีอยู่ถึง 51 ล้านคน ผู้ใช้งาน Line 42 ล้านคน และผู้ใช้งาน YouTube 40 ล้านคน
คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียติดอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้ง Mobile Banking ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น และอัตราการใช้สมาร์ทโฟนของไทยเพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของประเทศแล้ว แต่ยังมีประชากรไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking โดยเฉพาะคนไทยในเขตภูมิภาคหรือในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพบว่า การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีทำให้ไม่กล้าใช้งาน และอีกเหตุผลสำคัญคือ Mobile Banking ยังไม่ครอบคลุมในทุกประเภทบริการ ทั้งการชำระค่าบริการไปยังองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน จึงทำให้คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคจำนวนมหาศาล สะดวกใจที่จะใช้บริการ โอน-เติม-จ่าย ผ่านสาขาธนาคาร และตู้เอทีเอ็มมากกว่า
ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย อัดงบกว่า 10,000 ล้านบาท ผลักดันธนาคารสู่ Invisible Banking นำร่องพลิกโฉม Mobile Banking เปิดตัวแอปฯ “กรุงไทย NEXT” ภายใต้แนวคิด “ชีวิตครบ แอปเดียวอยู่” ให้บริการ “โอนมั่นใจ-เติมสะดวก-จ่ายครอบคลุม” ชูจุดแข็งในการเป็นผู้นำครั้งแรกกับเน็ตเวิร์คการทำธุรกรรมการเงินที่ครอบคลุมที่สุดในไทย ให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมครบวงจรบนแอปฯ เดียว เสมือนทำธุรกรรมที่สาขา ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคยุคไทยแลนด์ 4.0
ขณะเดียวกัน ฝั่งของธนาคารกสิกรไทย ผู้ให้บริการ K PLUS แอปพลิเคชันที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศ ได้เปิดตัวแอปฯ K PLUS โฉมใหม่เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการรีแบรนด์ทุกส่วน ตั้งแต่โลโก้ไปจนถึงดีไซน์ เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานเพิ่มมากขึ้น
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ ยกระดับการให้บริการ SCB EASY สู่การเป็นดิจิทัล แพลตฟอร์ม ด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ “EASY E-KYC” บริการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้วยตัวเองผ่าน SCB EASY มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยใช้บริการใดของธนาคาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวงการธนาคารที่นำเทคโนโลยี E-KYC (Electronic Know Your Customer) หรือการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าด้วย Biometric (การเก็บอัตลักษณ์บนใบหน้า) มาใช้กับแอปฯ บนมือถือ ชูจุดแข็งเรื่องความปลอดภัย สามารถทำได้ด้วยตัวเอง สะดวกสบาย ไม่ต้องไปที่สาขา และคาดว่าการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันให้มียอดผู้ใช้บริการ SCB EASY อยู่ที่ 9-10 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2561
คุณธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ตอกย้ำภาพผู้นำเทคโนโลยีด้าน Mobile Banking โดยมี เป้าหมายสูงสุดเพื่อเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ผ่านทาง SCB EASY ไปเมื่อเดือน มี.ค. 61 ส่งผลให้ยอดการสมัครใช้แอปฯ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18,000 รายต่อวัน และทำให้ยอดรวมเฉลี่ยลูกค้าใหม่สูงสุดเดือนละ 350,000 ราย
ลดสาขาธนาคาร เพิ่มรูปแบบดิจิทัล
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานจำนวนรวมสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือน พ.ค. 2561 มีจำนวน 6,724 สาขา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วที่มีจำนวน 6,931 แห่ง มีการลดลงมากถึง 207 แห่ง โดยส่วนมากเป็นการปรับลดลงในกรุงเทพฯ และภาคกลางมากที่สุด
โดยธนาคารที่มีการปรับลดสาขามากที่สุดคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปิดสาขาไปแล้วประมาณ 100 สาขา เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าธนาคารที่หันไปทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นจากการยกเลิกค่าธรรมเนียม แสดงให้เห็นว่าไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society อีกทั้งยังเอื้อให้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการเงินหรือ FinTech ด้วย
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย มีการปรับลดสาขาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาแล้ว แต่มีการเพิ่มสาขารูปแบบใหม่มาทดแทนภายหลัง โดยเปิดบริการ “เคแบงก์ เซอร์วิส” ผ่านแบงกิ้ง เอเย่นต์ หรือตัวแทนผู้ให้บริการของธนาคาร เพื่อเพิ่มช่องทางบริการทางการเงินที่นอกเหนือจากสาขาธนาคารรูปแบบปกติ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และพื้นที่ที่แตกต่างกันไปของลูกค้า และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับดิจิทัล แบงกิ้ง ปัจจุบันมีจำนวนธนาคาร 1,034 สาขา
ซึ่งในอนาคต หากคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น และมีผู้คนทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile Banking แบบทวีคูณ รวมทั้งด้านธนาคารเองก็มีการพัฒนานวัตกรรมการเงินอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อนั้นการทำธุรกรรมของประชากรไทยก็จะง่ายดายขึ้น สะดวกสบาย ครอบคลุม และปลอดภัย ก้าวสู้สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
__________
คุณผยง ศรีวณิช – กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
“หัวใจหลักของการเปลี่ยนผ่านยุคการทำธุรกรรมที่สาขาไปสู่ Mobile Banking คือการทำให้ประชากรไทยหันมาเชื่อมั่นและเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยี ขณะเดียวกันธนาคารต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ความต้องการการทำธุรกรรมขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนตรงจุดและคงความเสถียรในทุกขณะการใช้งาน เพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานทำให้รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมากที่สุดจึงจะสามารถนำพาประเทศเข้าสู่ยุค Mobile Banking ได้อย่างแท้จริง”
คุณพัชร สมะลาภา – กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
“จุดแข็งที่ทำให้ K PLUS แตกต่างจากแอปฯ ของธนาคารอื่นคือ เราให้ความสำคัญในการใช้งานแบบโมบายล์เฟิร์ส โดยเน้นสร้างประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ ผ่าน Personalization ฟีเจอร์ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแอปฯให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในปีต่อๆไป เพื่อให้ K PLUS คงความเป็นแอปฯที่ตอบสนองดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกๆ วัน”
[English]
Surging online banking transactions signal Thailand’s closer steps toward cashless society
Thailand’s internet access has been growing along the increase in the use of smartphones as a survey by We Are Social — specialist social media agency, Hootsuite — a social media management platform, and Marketing Solutions, 57 million out of 70 million Thais have been using internet and 46 million people have been accessing social media applications via smartphone in 2018.
The survey also found that each Thai spent an average of nine hours and 38 minutes per day surfing internet — the highest statics in the world, while Thais’ use of smartphone to surf internet has also been the highest (a daily average of four hours and 56 minutes).
Meanwhile, a report from the Bank of Thailand (BOT) suggested that the number of mobile banking and internet banking transactions nearly doubled from a year ago in the second quarter of 2018, when the value of these transactions surged 84% year-over-year.
But, although around 37.9 million bank accounts have made use of mobil banking, these only represented 56% of Thailand’s total number of internet users — a relatively lower number when compared with 51 million Facebook users, 42 million Line users and 40 million YouTube users in Thailand.
Accordingly several commercial banks have allocated billions of baht to develop new applications to attract more users.
At the same time, commercial banks have continued closing down their branches, as illustrated in the BOT’s report, which showed the total number of bank branches stood at 6,724 in May 2018, compared with 6,931 branches recorded the same time of last year. The shutdown has been blamed on their customers’ switching to online transactions.