Friday, December 9, 2022
More

    ไทยรอด? ความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ

    สถานการณ์มลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่ของโลก ยังคงมีระดับสูงถึงอันตราย ซึ่ง 9 ใน 10 คนของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนในระดับสูงเข้าไป จนเป็นสาเหตุอันดับ 4 ที่ประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 2.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

    กรีนพีซ เปิดเผยรายงานการจัดอันดับคุณภาพอากาศโลก ปี 2561 โดย AirVisual ซึ่งเป็นข้อมูลมลพิษ PM2.5 ที่รวบรวมมาจากสถานีตรวจวัดแหล่งต่างๆ ทั้งเครือข่ายสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานรัฐบาลทั่วโลก และการตรวจวัดโดยเครื่อง IQAir AirVisual ที่ดำเนินการโดยบุคคล นักวิจัยและองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อรายงานให้เห็นถึงสถานะของคุณภาพอากาศโลกในปี พ.ศ.2561


    โดยระบุว่าระดับมลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่ของโลก ยังคงมีระดับที่สูงถึงขั้นอันตราย ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แสดงให้เห็นว่ามี 9 ใน 10 คนของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษในระดับสูงเข้าไป ซึ่งมลพิษทางอากาศนอกอาคารเป็นสาเหตุอันดับ 4 ที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 2.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทั้งยังมีคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 7 ล้านคน ในปี 2562

    สำหรับการจัดอันดับมลพิษ PM 2.5 ของประเทศ และเมืองต่างๆทั่วโลก ประจำปี 2561 พบว่าประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก โดยมีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 มากที่สุดในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 26.4 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับปานกลาง ที่ AirVisual แนะนำว่าผู้ที่อ่อนไหวควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจได้

    ขณะที่กรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับ ที่ 24 เมืองหลวงที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 25.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนเมืองอื่นๆ อีก 10 เมืองของไทย ได้แก่สมุทรสาคร, นครราชสีมา, ท่าบ่อ(หนองคาย), สระบุรี, สมุทรปราการ, ราชบุรี, แม่สอด, ศรีมหาโพธิ์, ปาย และชลบุรี ก็ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

    ทั้งนี้ กรีนพีซ ระบุว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่เลวร้ายลง มีสาเหตุมาจาก สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการขยายบริเวณไฟป่า รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยขณะนี้หน่วยงานท้องถิ่น และรัฐบาลสามารถช่วยจัดการกับผลกระทบดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีกหากมีการตัดไม้ทำลายป่า

    อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพ และสภาพภูมิอากาศสามารถแก้ไขได้ โดยการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และในขณะเดียวกันต้องมีการรายงานคุณภาพอากาศที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามขึ้นตอน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ และสภาพภูมิอากาศได้อย่างจริงจัง โดยกรีนพีซ ได้เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการยกร่างมาตรฐาน PM 2.5 ขึ้นใหม่ โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม