Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    กทม. ให้ผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งใช้ถุงพลาสติกแทนถุงน้ำแข็ง หลังพบเชื้อโรคปนเปื้อน

    จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ และสุ่มเก็บตัวอย่างถุงกระสอบพลาสติกบรรจุน้ำแข็งจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และร้านค้าจำหน่ายน้ำแข็ง 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย สคบ. พบว่าถุงกระสอบพลาสติกบรรจุน้ำแข็งส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่นำน้ำแข็งไปรับประทาน 

    ซึ่งการตรวจสอบแบ่งเป็น 2 มาตรฐาน อ้างอิงตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องเกณฑ์คุณภาพจุลชีววิทยาของอาหาร และภาชนะสัมผัสอาหาร โดยมาตรฐานแรก เป็นมาตรฐานที่กำหนดจุลินทรีย์ที่เป็นตัวบ่งชี้คุณลักษณะต้องห้าม พบจุลินทรีย์น้อยกว่า 1,000 ซีเอฟยูต่อถุง โดยได้ตรวจสอบพบว่า มีเชื้ออีโคไล 5 ร้าน จาก 9 ร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียงร้านเดียวที่ผ่านมาตรฐาน ส่วนมาตรฐานที่ 2 เป็นมาตรฐานเกณฑ์ที่กำหนดเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค มีเพียง 2 ร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน


    นายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. เปิดเผยว่า การตรวจสอบดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ ซื้อถุงกระสอบสำหรับใส่น้ำแข็งที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และร้านจำหน่ายน้ำแข็ง 10 แห่ง และส่งตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งกรมฯได้ส่งผลมาให้ สคบ.พิจารณา และคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองสินค้าและบริการได้หารือกันถึงผลทดสอบดังกล่าวแล้ว โดยมีร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 8 แห่ง จึงได้มีมติให้ส่งผลการรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

    ทางด้านนายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบสถานที่ผลิตน้ำแข็ง จำนวน 71 ราย แบ่งเป็น น้ำแข็งหลอด 55 ราย น้ำแข็งซอง 5 ราย น้ำแข็งหลอดและซอง 11 ราย

    ซึ่งที่ผ่านมาสำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานชันสูตรสาธารณสุข และสำนักงานเขต เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยน้ำแข็งช่วงหน้าร้อน โดยตรวจสอบสถานที่ผลิตน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคมของทุกปี ทั้งด้านสุขลักษณะ ด้านจุลินทรีย์และเคมี 

    พร้อมทั้งให้ความรู้กับสถานประกอบการ ซึ่งจากผลการตรวจสอบในปี 2561 ด้านสุขลักษณะตามหลักเกณฑ์ GMP มีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 71 ราย  และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำแข็งจากสถานที่ผลิตในพื้นที่กรุงเทพฯ เก็บตัวอย่างทั้งหมด 82 ตัวอย่าง พบว่าด้านจุลินทรีย์ ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำแข็ง และด้านเคมี ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำด้านเคมี ทั้ง 82 ตัวอย่าง

    นอกจากนี้ ยังได้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการขนส่งน้ำแข็ง ใช้ถุงพลาสติกบรรจุน้ำแข็ง แทนการใช้ถุงกระสอบ ภาชนะรองรับน้ำแข็งต้องสะอาด และดูแลสุขอนามัยของผู้ขนส่งน้ำแข็ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์

    ขณะที่ประชาชนควรเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด ถูกหลักอนามัย เลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุในถุง หรือแก้วพลาสติกพร้อมบริโภค พร้อมสังเกตรายละเอียดบนฉลากภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ดูเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชื่อ และที่ตั้งของผู้ผลิต มีข้อความระบุ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” หากจะบริโภคน้ำแข็งที่ใช้ตักแบ่งขายในร้านอาหาร น้ำแข็งต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน ภาชนะบรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด และผู้จำหน่ายต้องไม่นำสิ่งของอื่นมาแช่ปะปนกับน้ำแข็งบริโภค และควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่งโดยถุงกระสอบ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร

    ทั้งนี้ สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ หรือขนส่งน้ำแข็ง เพื่อควบคุมสุขลักษณะการประกอบกิจการผลิตและการขนส่งน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป