Wednesday, December 6, 2023
More

    เผยข้อมูลคนจนเล่นหวยคนรวยเก็บออม ปัจจัยจากความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

    ปี 2561 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มกว่า 6% มาอยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี แม้ภาครัฐพยายามออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน แต่ความแตกต่างของฐานะ ความเป็นอยู่ของประชากร ทั้งในด้านรายได้และทรัพย์สิน ทำให้ประชากรไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาสลากกินแบ่งรัฐบาล หวังเป็นเส้นทางสู่เงินล้าน  โดยพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการซื้อสลากฯ สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีเงินออมมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

    หนี้ครัวเรือนไทยติดอันดับ 3 เอเชียแปซิฟิก
    สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สิ้นปี 2561 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี ขยายตัวเพิ่มกว่า 6% จาก 4 ปีก่อนที่ระดับทรงตัว ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่อันดับ 3 ของเอเชียแปซิฟิก รองจากเกาหลีใต้และออสเตรเลีย


    ด้านสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยข้อมูลจากเครดิตบูโร พบว่า กว่าครึ่งของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปีสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมีโอกาสเป็นหนี้เสียสูงขึ้น

    โดยภาวะหนี้ครัวเรือนไทยดังกล่าว ส่งผลให้ครัวเรือนไทยสะสมความเปราะบางทางการเงิน และอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐพยายามออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. โครงการคลินิกแก้หนี้ และโครงการเดินหน้าขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ เป็นต้น

    ขณะเดียวกันภาวะการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นความหวังและความฝันสู่เงินล้านของคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยยังคงมีอัตราการซื้อที่สูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ครัวเรือนไทยจำนวนกว่า 47% ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยรายจ่ายในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 37% ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จาก 3,407 บาทต่อปีต่อครัวเรือน ในปี 2552 มาเป็น 4,660 บาทต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2560

    ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB Analytics วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของประชาชนจากการซื้อหวยและลอตเตอรี่ของคนไทย พบว่า ปัจจุบันมีคนไทย 1 ใน 4 หรือกว่า 20 ล้านคน ซื้อหวยและลอตเตอรี่ รวมกันเป็นเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยพฤติกรรมการเล่นหวยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มอาชีพ หรือประชาชนในระดับฐานรากเท่านั้น แต่คนที่เล่นหวยยังกระจายอยู่ทุกที่ แม้แต่มนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของกิจการยังนิยมการเสี่ยงโชคด้วยการซื้อหวยเช่นกัน

    โดยพบว่า กลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เป็นกลุ่มที่ซื้อหวยค่อนข้างมากหรือ 350 บาทต่อเดือน คิดเป็น 2.2% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาทต่อเดือน กลุ่มนี้เล่นหวยเฉลี่ยอยู่ที่ 680 บาทต่อเดือน คิดเป็น 1.2% ของรายได้ทั้งหมด (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)



    คนจนเล่นหวย คนรวยเก็บออม
    แม้ครัวเรือนไทยจะมีรายจ่ายซื้อสลากฯเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ กลับพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการซื้อสลากฯ สูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง

    จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรก มีสัดส่วนการซื้อสลากฯอยู่ที่ 3.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก มีสัดส่วนการซื้อสลากฯ อยู่ที่เพียง 0.8% ต่อรายได้

    ในทางกลับกัน อัตราการออมของครัวเรือนรายได้น้อยกลับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับครัวเรือนรายได้สูง โดยในปี 2560 อัตราการออมของครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% หากเปรียบเทียบจะพบว่า การออมของครัวเรือนรายได้น้อย ต่ำกว่าครัวเรือนรายได้สูงชัดเจน เมื่อนับเฉพาะครัวเรือนที่มีเงินออมมากกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรกจะมีอัตราการออมอยู่ที่ 12% ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก มีอัตราการออมอยู่ที่ 28%

    ทั้งนี้ สัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้จากการถูกรางวัลสลากฯ ใน 1 ปีมีเพียง 12% โดยเฉลี่ยตามข้อมูลการสำรวจ โดยโอกาสในการถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งใน 1 งวดมีโอกาสน้อยมากเพียง 1.4% เท่านั้น (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)


    ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้คนเล่นหวย
    ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ทั่วประเทศ พบว่า แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,001-15,000 บาท ประมาณ 72.4% โดยรายจ่ายเทียบเท่าเงินเดือนประมาณ 46% รองลงมา 5,000-10,000 บาท ประมาณ 37.9% อีกทั้งยังพบว่ากว่า 86.2% แรงงานไม่มีเงินออม และ 65.2% ไม่มีอาชีพเสริม

    นอกจากนี้ ยังพบว่าภาระหนี้ของแรงงานไทยสูงถึง 95% โดยการกู้ยืมนั้นส่วนใหญ่ 36.8% กู้มาเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาเป็นเรื่องของยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย เป็นต้น (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)


    ด้านรายงานสินทรัพย์ทางการเงินของประชากรไทยในปี 2561 จากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยเปิดบัญชีเงินฝากขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งหมด 84 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 99.9% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 47.2% ของวงเงินฝากทั้งหมด ขณะที่บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 111,517 บัญชี หรือคิดเป็น 0.1% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากสูงถึง 52.8% ของวงเงินฝากทั้งหมด

    ข้อมูลข้างต้นแสดงถึงความแตกต่างของฐานะ ความเป็นอยู่ของประชากร ทั้งในด้านรายได้ ทรัพย์สิน และความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคม ซึ่งแสดงออกมาในรูปของสินทรัพย์ทางการเงินที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยบางกลุ่มเท่านั้น

    อีกทั้งเมื่อพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนพบว่า ครัวเรือนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำสุด มีภาระในการชำระหนี้สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดถึง 2 เท่า

    จากสภาพหนี้สินที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายของแรงงาน ซึ่งสาเหตุคือ มีของที่ต้องซื้อเพิ่มขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้แรงงานแก้ไขปัญหาโดยการนำเงินออมมาใช้ กู้ยืมในระบบ ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง กู้ยืมนอกระบบ รวมไปถึงทุ่มเทซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้จากการถูกรางวัลสลากฯแล้ว นับว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ยิ่งทุ่มเงินซื้อสลากฯ มากขึ้น ก็เท่ากับว่ารายจ่ายเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยสามารถเพิ่มสัดส่วนเงินออมหรือการลงทุนของตนได้ง่ายๆ ด้วยการลดรายจ่ายในการซื้อสลากฯ ลงบ้าง เพื่อนำไปสร้างหลักประกันทางการเงินในอนาคตหรือในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อประกันชีวิต ซึ่งก็เป็นรายจ่ายอีกประเภทที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับต่ำเช่นกันสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย

    ขณะเดียวกันมาตรการจากภาครัฐก็เป็นวิธีหนึ่งในการดูแลหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวจะเกิดผลไม่ได้ หากครัวเรือนยังขาดวินัยทางการเงิน

    ————
    คุณโสมรัศมิ์ จันทรัตน์
    หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
    “คนไทยมีหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมีโอกาสเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ซึ่งการเข้ามากำกับดูแลของหน่วยงานต้องดูในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุน้อย กลุ่มผู้กู้หน้าเดิมแต่มีหลายบัญชี ว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มนี้เกิดความเสี่ยง และครัวเรือนต้องปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายให้รายได้โตเร็วกว่าหนี้ ส่วนนโยบายจากภาครัฐก็สกัดได้ระดับหนึ่งในผู้กู้หน้าใหม่ แต่ก็ต้องอยู่ที่วินัยทางการเงิน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปยังเอื้อให้คนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น”


    [English]
    The Poor & The Rich VS Lottery & Savings

    The Bank of Thailand (BOT) reported that Thai household debt stood at 78.6% of GDP at the end of 2018, an increase of over 6.0% from four years ago to the level that is the third highest in Asia Pacific – after South Korea and Australia.

    According to the National Bureau of Thailand, more than half of new borrowers are younger than 25 years old and the proportion has appeared to be rising while the number of repeated borrowers has also been going up.  This shows more young Thais have been borrowing and the chance of default could be on an increase too.

    Such signs of financial vulnerability among Thai households can affect the country’s economic strength and stability.

    Meanwhile, SCB Economic Intelligence Center revealed that more than 47% of Thai households are buying lottery tickets and the amount spent on this has risen over 37% rise to 4,660 baht per household per year from 3,407 baht recorded nine years ago.

    More interestingly, households with lower income have spent more on lottery tickets but saved less than households with high income.

    BOT also reported that there are currently 84 million bank accounts of no more than 10 million baht.  This is 99.9% of the total number of bank accounts in Thailand but represents only 47.2% of total amount saved with banks.  On the contrary, there are only 111,517 bank accounts (0.1% of the total number of bank accounts) of more than 10 million baht, with total deposits representing 52.8% of the country’s bank deposits.