แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก
คนไทยสร้างขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน
ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ
ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

โอกาสของตลาดวัสดุทดแทน
จากมาตรการยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียว นับว่าได้สร้างเป็นโอกาสใหม่ๆ โดย EIC มองเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นว่า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยควรผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะพลาสติก PET ซึ่งด้วยกระบวนการ Repolymerization ทำให้ขวดน้ำพลาสติกถูกผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ 100 ครั้ง รวมถึงการเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทนพลาสติก ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการหาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ไบโอพลาสติกที่ทำมาจากอ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น รวมถึงผู้ผลิตแบบ Non-plastic อย่างกระดาษ ข้าว ก็สามารถหาช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นถุงกระดาษใส่น้ำตาล หลอดจากข้าวหรือกระดาษ อย่างไรก็ตามก็ต้องเตรียมรับมือกับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจส่งไปยังผู้ซื้อได้ ซึ่งราคาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุใหม่จะสูงขึ้นเช่นกัน
วิกฤตขยะพลาสติกข้ามชาติในไทย
ปัจจุบันขยะพลาสติกจากประเทศอุตสาห-กรรมกำลังคุกคามผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากจีนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลผสม ในปี 2561 ทำให้ระบบรีไซเคิลทั่วโลกต้องสะเทือน จากข้อมูลการค้าขยะพลาสติกโลก (Global Plastics Wate Trade) ปี 2559-2560 โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออก พบการส่งออกขยะพลาสติกลดลงเกือบ 50% จาก 12.5 ล้านตันในปี 2559 เป็น 5.8 ล้านตันในปลายปี 2561 แต่จากการผลิตพลาสติกที่ยังเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการส่งออกที่ลดลงอาจหมายความได้ว่ามีการสะสมพลาสติกรีไซเคิลหรือถูกนำไปทำลายอย่างไม่ถูกต้อง
ขณะที่ในช่วงปี 2560-2561 มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก่อนจะเร่งกำหนดระเบียบควบคุมการนำเข้าขยะทันที จนเส้นทางได้เปลี่ยนไปยังประเทศที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด อย่างอินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งเป็นผู้นำรายใหม่ของโลก
สำหรับไทย นำเข้าขยะพลาสติกช่วงต้นปี 2561 อยู่ที่ 75,000 ตัน/เดือน จากผู้ส่งออกหลักคือญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง แต่หลังช่วงปลายปีลดเหลือ 35,000 ตัน/เดือน ซึ่งในเดือน มิ.ย. มีคำสั่งชั่วคราวห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก รวมถึงคำสั่งห้ามล่วงหน้าไม่ให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2564
คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยผ่านบทความประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นถังขยะพิษของโลกหรือไม่? ว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 กว่า 180 ประเทศทั่วโลกเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน หรืออนุสัญญาบาเซล เพื่อยกระดับการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านขยะพลาสติกระหว่างประเทศ และจัดการขยะพลาสติกที่ปลอดภัย ไม่กระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ยังนำไปสู่การที่หน่วยงานศุลกากรจะต้องทำการตรวจตราขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายให้ละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีการตรวจสอบย้อนกลับการนำเข้าและส่งออกขยะพลาสติก
นี่คือโอกาสของไทย ในฐานะภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล สามารถใช้สิทธิตามกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศในการปฏิเสธนำเข้าขยะพลาสติก แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ที่มีเนื้อหาสำคัญคือ การให้เอกชนไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แย้งว่าจะนำไปสู่ผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม นำไปสู่การลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ในขณะที่เรามีสิทธิทางกฎหมาย (ระหว่างประเทศ) ปฏิเสธการนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา แต่ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ กลับเปิดประตูกว้าง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นถังขยะพิษของโลกต่อไป
____________________
คุณธารา บัวคำศรี – ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยขยะพลาสติกภายใต้อนุสัญญาบาเซล ส่งสัญญานทางการเมืองที่ชัดเจนต่อประชาคมโลก ภาคธุรกิจ และตลาดผู้บริโภค ว่าถึงเวลาต้องจัดการกับปัญหาการค้าขยะพลาสติกอย่างจริงจัง เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศในซีกโลกใต้ในการยุติการทิ้งขยะพลาสติกระหว่างประเทศ และปกป้องประเทศของตนมิให้กลายเป็นถังขยะและกากของเสียเป็นพิษของโลก”