Tuesday, May 23, 2023
More

    คนไทยขี้เหงา ทะลุ 26.75 ล้านคน ดันเทรนด์โลนลี่มาร์เก็ตมาแรง

    ผลสำรวจตัวเลขคนเหงาในไทยมีกว่า 26.75 ล้านคน วัยทำงานครองแชมป์คนขี้เหงาสูงสุด ขณะที่ Gen Z ถือเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองจากไลฟ์สไตล์และการจับจ่าย ก่อให้เกิดธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์โลนลี่มาร์เก็ตที่กำลังมาแรงในปีนี้ 

    คนไทย 1 ใน 3 ประสบภาวะความเหงา 
    หากเลื่อนหน้าฟีดในเฟซบุ๊ก ก็มักจะพบว่ามีผู้คนโพสต์ระบายถึงความเหงาอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้มีข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะความเหงาที่ได้เกิดเทรนด์ใหม่เรียกว่าโลนลี่มาร์เก็ตติ้งขึ้น จากข้อมูลงานวิจัยการตลาดคนเหงา โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ระบุว่าปัจจุบันตัวเลขตลาดคนเหงาในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 26.75 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.4% โดยยังพบว่าช่วงอายุที่มีแนวโน้มความเหงาสูงสุดคือ กลุ่มวัยทำงาน อายุ 23-40 ปี มีจำนวนถึง 49.3% รองลงมา เยาวชน วัยเรียน อายุ 18-22 ปี อยู่ที่ 41.8% และ วัยผู้ใหญ่ อายุ 41-60 ปี มีอยู่ 33.6% ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัย อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่วงวัยที่น่าจะเกิดภาวะความเหงา กลับมีเพียง 24.5% เนื่องจากมีความพร้อมด้านการจัดการอารมณ์และรายได้เพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมแก้เหงา


    ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่หย่าร้าง เป็นสถานภาพที่ประสบภาวะความเหงาสูงสุดถึง 50% โดยมีความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ทำใจยอมรับกับความเจ็บปวดไม่ไหว ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท เกิดความเหงามากที่สุด 46.3% ซึ่งปัจจัยด้านการเงินและภาระค่าใช้จ่ายมีผลต่อทางเลือกในกิจกรรมคลายเหงา สำหรับพฤติกรรมในจัดการความเหงาที่ผู้คนมักใช้ ได้แก่ 1. เข้าถึงโซเชียล มีเดีย เป็นวิธีที่เข้าถึงง่าย สามารถสร้างความรู้สึกร่วมกับสังคมบนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ยังเป็นวิธีการแก้เหงาที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 2. รับประทานอาหารในร้านหรือคาเฟ่ ซึ่งช่วยลดทอนความรู้สึกโดดเดี่ยว และ 3. การชอปปิง ช่วยตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ได้เช่นเดียวกับการไปร้านอาหารหรือคาเฟ่


    เผย 5 ธุรกิจรับอานิสงส์เทรนด์คนเหงา
    เทรนด์ตลาดคนเหงา (Lonely Market) ถือว่ากำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดย ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า ในต่างประเทศเริ่มปรับใช้การตลาดกลุ่มคนเหงาเข้ากับธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อย่าง แอปฯ​ นัดออกกำลังกาย อพาร์ตเมนต์ที่มีส่วนกลางให้ผู้อาศัยทำกิจกรรมร่วมกันในสหรัฐฯ, ธุรกิจเช่าครอบครัวหรือเพื่อนเสมือนในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยงในไทย เป็นต้น

    โดยคาดว่าการขยายตัวของตลาดคนเหงาในไทย จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่รองรับความต้องการคนเหงาเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. ธุรกิจคอมมิวนิตี้ เช่น ร้านอาหาร, คาเฟ่, บอร์ดเกม เป็นต้น 2. ธุรกิจอสังหาฯ และ โค-สเปซ 3. ธุรกิจดิจิทัล เช่น แอปฯ, ออนไลน์แพลตฟอร์ม, เทคโนโลยีสารสนเทศ 4. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และ 5. ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการและเข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนเหงาปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

    ขณะเดียวกัน มีผลสำรวจภาวะความเหงาของประชากรในสหรัฐฯ โดย ม.แคลิฟอร์เนีย พบว่ากลุ่ม Gen Z (อายุ 18-22 ปี) เป็นกลุ่มที่ประสบภาวะเหงาสูงสุด เมื่อย้อนมาดูแนวโน้มในไทย คุณเจษฎาภรณ์ สารพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยการตลาดกลุ่มเจนเนอเรชั่นซี (Gen Z Marketing) วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล กล่าวว่า Gen Z กำลังเปลี่ยนผ่านสถานะทางสังคม จากนักเรียนนักศึกษาก้าวสู่วัยเริ่มต้นทำงาน พบว่ากว่า 70% มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินมากกว่าการเก็บออม และมักใช้ไปกับกิจกรรมด้านไลฟ์สไตล์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมการจ่ายสูงสุด ได้แก่ กิจกรรมที่ได้พบปะสังสรรค์ตามสถานที่ต่างๆ, การชอปปิง และการเสพความบันเทิง โดยเลือกใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 94% และมักเลือกบริโภคคอนเทนท์เพื่อผ่อนคลายความกดดันจากการทำงาน ซึ่งมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มคนเหงา


    แนะ 4 กลยุทธ์เจาะตลาดคนเหงา
    ขณะที่การทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนเหงากำลังจะกลายเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้ วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดลจึงเผยถึงกลยุทธ์ C M M U ที่จะเป็นแนวทางการออกแบบกลยุทธ์และวิธีการสื่อสารกับผู้บริโภค ประกอบด้วย C (Circumstance) สร้างบรรยากาศรอบตัว กลุ่มคนเหงาไม่อยากรู้สึกว่าอยู่เดียวดาย ฉะนั้นธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ต้องใช้ข้อได้เปรียบด้านพื้นที่ หรือธุรกิจท่องเที่ยว ต้องบริการตอบโจทย์กลุ่มคนเหงา, M (Companion) สื่อสารเหมือนเพื่อน จากสถิติพบว่า 44.3% ของกลุ่มความเหงาจะติดการใช้โซเชียลมีเดียตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ต้องสื่อสารอย่างเป็นมิตร เสมือนเพื่อนให้คำปรึกษา และไขข้อสงสัยผลิตภัณฑ์และบริการได้ตลอดเวลา, M (Forget Me not) ไม่ลืมกลุ่มคนเหงา เช่น โปรโมชั่นพิเศษช่วงเทศกาล เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ถูกทอดทิ้ง และเป็นหนึ่งเดียวกันกับแบรนด์สินค้าในทุกโอกาส และ U (Community) ส่งเสริมกิจกรรมร่วม สร้างสรรค์คอนเทนท์ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมที่แตกต่าง โดยเน้นให้ผู้บริโภคเกิดการปฏิสัมพันธ์และจับกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นชุมชนพิเศษ นำไปสู่การบอกต่อในวงสังคมในระยะยาว

    แม้ว่าความเหงาจะเป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน หรือจากสถานการณ์บางขณะ หากแต่หยิบความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอวิธีการคลายเหงา ก็สามารถเป็นโอกาสในการสร้างช่องทางใหม่ๆ ของธุรกิจ ซึ่งแง่หนึ่งยังช่วยให้คนไทยลดภาวะความเหงา เพิ่มเป็นความสุขได้ เทรนด์ตลาดคนเหงาจึงจะเป็นกระแสที่ต้องจับตาในปีนี้ว่าจะมีการเติบโตมากน้อยเพียงไร


    ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร – หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
    “แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่ความเหงา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านอารมณ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายด้าน รวมถึงการรับสารและพฤติกรรมการบริโภค การตลาดคนเหงา ได้รับการจัดอันดับเทรนด์มาร์เก็ตติ้งในปี 2562 จากสื่อทั่วโลกชั้นนำ อย่าง ยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) และ มินเทล (Mintel) สะท้อนให้เห็นว่าในด้านตลาดผู้บริโภคเอง ยังมีช่องว่างอีกมากที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจตลาดคนเหงา”