ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุด พบว่า นอกเหนือจากเรื่องของทำเลในภาพรวมแล้ว ระยะห่างระหว่างที่พัก และสถานที่ต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยใช้พิจารณามากที่สุด ซึ่ง 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 ความสะดวกและระยะทางในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ (60%)
อันดับ 2 ระยะทางจากที่พักถึงที่ทำงาน (51%)
อันดับ 3 ระยะทางจากที่พักถึงสถานบริการทางการแพทย์ (38%)
อันดับ 4 ระยะทางจากที่พักถึงห้างสรรพสินค้า (32%)
อันดับ 5 ระยะทางจากที่พักถึงสวนสาธารณะ (25%)
ซึ่งทั้ง บางซื่อ จตุจักร ลาดพร้าว ได้ตอบโจทย์ครบทั้ง 5 ปัจจัย ตั้งแต่การพัฒนาสถานีรถไฟบางซื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางของประเทศ เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก (EEC) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น ลาว จีน และมาเลเซีย เพื่อพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็น Gateway สำคัญของประเทศไทยสู่อาเซียนและเวทีโลก
ทั้งยังเป็นส่วนต่อขยายของสถานีรถไฟสายต่างๆ เช่น สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่ครอบคลุมพื้นที่หลัก ๆ ของกรุงเทพฯ โดยคาดว่าในอนาคตจะมีผู้ใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อประมาณ 200,000 คน/เที่ยว/วัน ส่งผลให้ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีบางซื่อมีราคาพุ่งสูงถึง 250,000 บาทต่อตารางวา (ข้อมูลปี 2560) และจากราคาประเมินที่ดินรอบล่าสุดของกรมธนารักษ์ พบว่า ราคาประเมินที่ดินแนว ถ.พหลโยธิน อยู่ที่ 130,000-500,000 บาท/ตารางวา จากเดิมอยู่ที่ 100,000-400,000 บาท/ตารางวา หรือเพิ่มขึ้น 30%
สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างของโครงการคมนาคมต่าง ๆ (ข้อมูล ณ เม.ย. 2562) มีดังนี้
– โครงการสถานีกลางบางซื่อ คืบหน้า 70.86%
– โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%
– โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คืบหน้า 99.42%
– โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้า 30.40%
ซึ่งจากอานิสงส์ของโครงการคมนาคมต่างๆ นอกจากจะส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีรายงานจาก DDproperty Property Index รอบล่าสุด พบว่า เขตจตุจักร มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 22% ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 144,591 บาทต่อตารางเมตร ส่วนเขตบางซื่อ อยู่ที่ 90,444 บาทต่อตารางเมตร และลาดพร้าว อยู่ที่ 51,800 บาทต่อตารางเมตร
รวมทั้งในเขตจตุจักรยังเป็นพื้นที่ตั้งสำนักงานขององค์กรภาครัฐ เอกชน และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมกับแวดล้อมด้วยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง คือ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ มีพื้นที่กว่า 375 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ขนาดกว่า 140 ไร่ และสวนจตุจักรที่มีขนาดกว่า 140 ไร่
ขณะที่ย่านบางซื่อ ก็มีห้างที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 61 รวมถึงโครงการพาณิชย์ต่างๆ เช่น คอมมูนิตี้มอลล์ ที่ขยายตัวเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในชุมชนใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเมื่อสถานีกลางบางซื่อพร้อมใช้ ย่านนี้อาจจะกลายเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพ เพื่อรองรับผู้บริโภคที่สัญจรไปมาเพิ่มมากขึ้น
ทั้งยังมีข้อมูลจากรายงาน DDproperty Property Market Outlook 2019 พบว่าทำเลที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจและเน้นพัฒนาโครงการมากขึ้นคือพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งที่ใกล้เปิดให้บริการและอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com กล่าวว่า ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่รอบนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ เช่น จตุจักร บางซื่อ สะท้อนให้เห็นการขยายพื้นที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมืองมาสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น และที่น่าจับตาคือดัชนีราคาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คาดว่าจะเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจยิ่งขึ้นเมื่อรถไฟฟ้าเปิดให้บริการในปี 2562
ซึ่งทำเลที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นจนน่าจับตาคือบริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเผยว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมีราคาเพียง 100,000 -150,000 บาท/ตารางวา แต่ปัจจุบันดีดตัวขึ้นถึง 10 เท่า แตะราคาที่ 1,000,000 บาท/ตารางวา ด้วยการเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า 2 สายสำคัญ BTS และ MRT จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาที่ดินทำเลนี้จะวิ่งไปแตะตารางวาละ 2 ล้านบาท ในเร็วๆนี้ เมื่อรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) จะเปิดให้บริการเดินรถช่วงแรก 1 สถานี จากหมอชิตไปเซ็นทรัลภายในเดือนสิงหาคม 2562 และขยับเปิดอีกระลอกปลายปีนี้ ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์