ปี 2561 อาเซียนนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,265,962 ตัน หรือคิดเป็น 27% จากทั่วโลก โดยมาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นจุดหมายหลักของการส่งออกขยะจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องเร่งมือหาแนวทางเพื่อรับมือกับการไหลบ่าของขยะที่เพิ่มขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
อาเซียนกำลังจะกลายเป็นถังขยะโลก!
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนพยายามผลักดันการนำเข้ามหาศาลของขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก นับตั้งแต่ประเทศจีน ผู้นำเข้าขยะรายใหญ่สุดของโลกหยุดรับพลาสติกรีไซเคิล ในช่วงปลายปี 2560 ส่งผลให้การค้าขยะพลาสติกส่วนใหญ่เปลี่ยนเป้าหมายไปยังประเทศที่มีการควบคุมอ่อนแอกว่า โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ขาดแคลนกฎหมายการนำเข้าที่มากเกิน หรือขาดความสามารถที่แท้จริงในการจัดการขยะเหล่านั้น
จากสถิติระหว่างปี 2559-2561 พบว่า การนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ
ด้านงานวิจัยของกรีนพีซ พิจารณาการเดินทางของขยะพลาสติกในภูมิภาค ระบุว่า มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นเป้าหมายแรกของขยะพลาสติก โดยปี 2561 มาเลเซียนำเข้าขยะพลาสติกมากสุดในอาเซียน 872,797 ตัน ตามด้วยเวียดนาม 492,839 ตัน และไทย 481,381 ตัน (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางปี 2561 ประเทศเหล่านี้ได้สร้างกฎหมายข้อบังคับของตนเองขึ้น เพื่อกำจัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น โดยไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2564 ด้านมาเลเซียยุติการให้ใบอนุญาตใหม่แก่การนำเข้าขยะพลาสติก เช่นเดียวกับเวียดนามที่ยุติให้ใบอนุญาตใหม่สำหรับการนำเข้าขยะและจัดการกับการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าขยะพลาสติกนับพันตันกองอยู่ที่ท่าเรือของประเทศ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ญี่ปุ่นส่งออกขยะพลาสติกสู่ไทยสูงสุด
เมื่อพิจารณาจากการส่งออกขยะพลาสติกจากทั่วโลกมายังภูมิภาคอาเซียน พบว่า ผู้ส่งออก 5 อันดับต้นคือ สหรัฐอเมริกา 439,129 ตัน ญี่ปุ่น 430,064 ตัน ฮ่องกง 149,516 ตัน เยอรมนี 136,034 ตัน และสหราชอาณาจักร 112,046 ตัน โดยในปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 173,371 ตัน ตามด้วยฮ่องกง 99,932 ตัน และสหรัฐอเมริกา 84,462 ตัน
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่า คนญี่ปุ่นจะทุ่มเทให้กับเรื่องของการแยกขยะพลาสติกก่อนที่จะนำมาแยกประเภททิ้งตามที่ทางการกำหนด แต่ในความเป็นจริงเมื่อขยะพลาสติกจากครัวเรือนเหล่านี้เข้าสู่โรงงานขยะ กลับไม่ได้ถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก โดย 70% ของขยะเหล่านี้ถูกขายให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะพลาสติกจากครัวเรือน ที่ทั้งสกปรก จัดการยาก และไม่มีมูลค่า ด้วยเหตุนี้จึงถูกฝังกลบหรือไม่ก็นำไปเผา เป็นสาเหตุว่าทำไมขยะพลาสติกจำนวนมากจึงมีจุดจบในทะเล
ขณะที่ไทยเองก็เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกไปสู่ประเทศอาเซียนเช่นเดียวกันสูงสุดถึง 74,906 ตันในปี 2561 โดยขยะพลาสติกกว่า 61,470 ตัน ถูกส่งไปที่เมียนมาร์ และกว่า 11,514 ตัน ถูกส่งไปที่เวียดนาม (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)
อาเซียนเดินหน้าควบคุมมลพิษพลาสติก
บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังทุ่มเทความพยายามเพื่อต่อกรกับมลพิษพลาสติก เพื่อควบคุมการทะลักเข้ามาของขยะพลาสติก โดยไทยเสนอแผนจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 ที่ประกาศว่า ในปี 2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ 1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2. ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และ 3. ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead)
ส่วนปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ได้แก่ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และ 4. หลอดพลาสติก
ล่าสุด ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ทในประเทศไทยกว่า 11,000 แห่ง ประกาศแคมเปญ “ไม่รับถุง” เพื่อสนับสนุนนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากลภาคธุรกิจและการค้าขนาดใหญ่
ส่วนเวียดนามก็แนะนำการใช้ถุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ลูกค้า โดยรัฐบาลจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากถุงพลาสติกต่อกิโลกรัมที่ 40,000 ดอง หรือประมาณ 54 บาท
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้ริเริ่มโครงการที่เข้มงวดน้อยกว่าและโดยสมัครใจ เช่น บรูไนตั้งเป้าหยุดใช้พลาสติกในห้างสรรพสินค้าภายในปี 2562 ประเทศลาวกระตุ้นให้ประชาชนใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลที่วางขายตามตลาดในเขตเมือง
อินโดนีเซียและเมียนมาร์ก็นำกฎหมายเรียกเก็บภาษีการใช้ถุงพลาสติกมาใช้เช่นกัน ขณะที่หลายเมืองในฟิลิปปินส์บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับถุงพลาสติกและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เก็บเงินหรือห้ามใช้)
ด้านสภาคองเกรสกำลังพิจารณากฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในอุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ ปัจจุบันได้ห้ามใช้พลาสติก เช่น ฝาและหลอดพลาสติก สำหรับลูกค้าที่นั่งกินในร้าน
ส่วนมาเลเซียร่างแผนกำจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2573 โดยเริ่มด้วยการคิดเงินค่าถุงพลาสติกและห้ามใช้หลอด (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)
กรีนพีซ เรียกร้องอาเซียนยุติการค้าขยะพลาสติก
แม้หลายประเทศในอาเซียนทะยอยออกมาตรการห้ามนำเข้าและมีคำสั่งให้ส่งกากของเสียกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่รายงานจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า กรอบการปฏิบัติงานไม่ได้เน้นถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของมลพิษพลาสติก กลับมุ่งไปที่การจัดการของเสียมากกว่าเรื่องของการลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการเกิดขยะ เพราะพลาสติกเป็นปัญหามลพิษ ไม่ใช่ปัญหาขยะ และต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน
กรีนพีซจึงย้ำข้อเสนอแนะต่ออาเซียน ดังนี้ 1. ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก รวมถึงการนำเข้าเพื่อรีไซเคิล และรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขเพิ่มเติมในอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) 2. สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญและเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ และระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า และ 3. ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด
ทั้งหมดนี้คือความท้าทายร่วมกันของอาเซียนทุกประเทศที่ต้องหาแนวทางร่วมกันอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการนำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาในภูมิภาค และวางระบบเพื่อสนับสนุนโลกที่ยั่งยืนปราศจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง อันเป็นมลพิษซึ่งกำลังรุกรานโลก
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง – ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
“ปัจจัยหลักที่ทำให้ต่างประเทศส่งขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของเสีย รวมถึงมีการตั้งโรงงานขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลไทยมีมุมมองส่งเสริมอุตสาหกรรม และการเปิดให้อุตสาหกรรมรีไซเคิล ของเสียอันตราย โดยไม่คำนึงว่าก่อมลพิษหรือไม่ ผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่มีความรู้ว่าขยะเหล่านี้ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทั้งที่ในหลายประเทศมีการห้าม ควบคุมโรงงานเหล่านี้ ไม่ให้มีการขยาย และคำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้ได้มีการขยาย เปิดให้โรงงานขยะตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตร จนทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เนื่องจากเกิดการปนเปื้อน”
[English]
Thailand, ASEAN’s 3rd largest importer of plastic and electronic wastes
In the past few years, ASEAN has been pushing away the shipments of plastic and electronic wastes (e-wastes) from around the world after China, once the largest importers of such materials, stopped accepting them in late 2017.
Statistics showed ASEAN’s imports of such wastes during 2016 and 2018 grew 171% and a survey by Greenpeace suggested that Malaysia, Vietnam and Thailand became top destinations for these items.
But, from the middle of 2018, many countries started introducing new laws to limit such imports from the United States, Germany, United Kingdom and Japan. Thailand declared that it would completely ban plastic waste import in 2021, for instance.
In terms of origin, the world’s top-5 exporters of such wastes to ASEAN are USA (439,129 tons), Japan (430,064 tons), Hong Kong (149,516 tons), Germany (136,034 tons) and UK (112,046 tons).
Meanwhile, Thailand has been a major exporter of plastic wastes to other ASEAN nations and records showed Thailand shipped out 74,906 tons in 2018, with 61,470 tons to Myanmar and over 11,514 tons to Vietnam.
Various ASEAN countries have committed to fighting polluting plastic wastes and Thailand already announced the ban of plastic wrap for drinking water bottle caps, plastic products with Oxo-biodegradable additives and microbeads, by 2019, before the same policy is implemented for single-use plastics by 2022.
In addition, Greenpeace said that several attempts in ASEAN are not really addressing the root cause of the problem and suggested the ban on the imports of plastic wastes, even for recycling purpose, while asking the bloc to introduce region-wide policies to significantly reduce the use of single-use plastics, and to push for an economic framework based on the concept of zero waste.