Wednesday, December 6, 2023
More

    กรุงเทพฯ ค่าครองชีพพุ่งสูงติดอันดับ 40 ของโลก

    เผยผลสำรวจเมืองที่มีค่าครองชีพสูงในโลกปี 2562 กรุงเทพฯ​ ไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก 19 ของเอเชีย และ 2 ของอาเซียน โดยยังพบว่าครัวเรือนมีรายจ่ายสูงกว่า 2.1 หมื่นบาท ขณะที่มีรายได้เฉลี่ย 2.6 หมื่นบาท ทั้งนี้พบข้อมูลว่าการเรียนจบสูงๆ เงินเดือนก็ยิ่งมาก และการเปลี่ยนงานบ่อยยังทำให้เงินเดือนยิ่งพุ่ง

    กรุงเทพฯ เมืองค่าครองชีพสูง 
    จากการเปิดเผยผลสำรวจอัตราค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 (2019 Cost of Living) โดยเมอร์เซอร์ พบว่าในปี 2562 เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก (รวมค่าใช้จ่ายในการเช่าที่พักอาศัย) มีถึง 8 เมืองที่อยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยที่มีการผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดย ฮ่องกง ยังคงครองตำแหน่งแชมป์ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินที่ตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยอันดับ 2 โตเกียว ที่รั้งตำแหน่งเดิมไว้ได้เช่นเดียวกัน และอันดับ 3 สิงคโปร์ ซึ่งขยับขึ้นมาจากอันดับ 4 เมื่อปีก่อน


    ส่วน กรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงติดอันดับโลก ในอันดับ 40 ซึ่งไต่ขึ้นมา 12 อันดับจากปีที่แล้ว สูงกว่าเมืองใหญ่อย่างวอชิงตัน ไมอามี มิลาน ปารีส บอสตัน กระทั่งซิดนีย์ โดยมีปัจจัยมาจากการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยจากเมืองอื่นๆ และผลของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยมีผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


    ครัวเรือนไทยมีรายจ่าย 21,346 บาท/เดือน
    ขณะที่ค่าครองชีพของคนไทยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2561 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,346 บาท/เดือน ลดลง 0.4% จากปี 2560 ที่มี 21,437 บาท/เดือน สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายของคนในครัวเรือนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อาจมีผลกระทบมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาสินค้าทางการเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายรัฐสวัสดิการมาช่วยพยุงก็ตาม

    โดยครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (3 จังหวัด จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ) มีค่าใช้จ่าย 33,408 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 0.9% จากปี 2560 ที่มี 33,126 บาท ซึ่งถือว่ามีค่าครองชีพสูงกว่าภาคอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคต่อคนเฉลี่ย 6,602 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นจากในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 6,540 บาท/เดือน

    สำหรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ อาหาร เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) และยาสูบ รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน, การเดินทางและยานพาหนะ, ของใช้ส่วนบุคคล เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และการสื่อสาร


    คนไทยมีรายจ่ายเบียดรายได้
    หากดูรายได้ของครัวเรือนไทย จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 พบว่ามีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 26,946 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 ที่มี 26,915 บาท/เดือน (สำรวจทุกๆ 2 ปี) ขณะที่ในปี 2562 ได้มีการประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยแบ่งเป็น 7 ระดับ ตั้งแต่ 308-330 บาท/วัน ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับ 325 บาท/วัน หรือคิดเป็น 9,750 บาท/เดือน ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชูนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ได้ในอัตราวันละ 400-425 บาท/วัน ล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้เผยว่ายังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน เพราะการขยับขึ้น 400-425 บาทในทีเดียวจะมีผลกระทบต่อภาคเอกชน พรรคจึงจะเสนอให้ขึ้นค่าแรงในลักษณะขั้นบันได ก็จะใช้กับนโยบายค่าแรงของปริญญาตรีขั้นต่ำ 20,000 บาท/คน ส่วนผู้ที่จบอาชีวะ 18,000 บาท/คน จึงเท่ากับว่าคงต้องรอดูท่าทีต่อไป


    เผยเรียนจบสูง เงินเดือนยิ่งมาก 
    ขณะที่ อีไอซี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัครงานในไทยพบว่า ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับเงินเดือนของผู้สมัครงาน โดยเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นของผู้ที่จบระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่าจะอยู่ที่ราว 14,000 บาท ขณะที่ระดับปริญญาตรี เฉลี่ยที่ 17,000 บาท โดยระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไปคือ ระดับปริญญาโท 24,000 บาท และปริญญาเอก 36,000 บาท ตามลำดับ

    ขณะเดียวกันยังพบว่ายิ่งผู้สมัครงานเกรดสวยก็ยิ่งได้รับเงินเดือนมากด้วย เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของเงินเดือนระหว่างผู้สมัครงานที่จบระดับปริญญาตรี ซึ่งได้เกรดเฉลี่ยน้อย ระหว่าง 2.00-2.50 กับผู้ที่ได้เกรดเฉลี่ยสูง ระหว่าง 3.50-4.00 พบว่า ผู้ที่ได้เกรดสูงจะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าประมาณ 1,700 บาท และ ในช่วง 10 ปีแรกหลังจากเรียนจบ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ได้เกรดสูงจะมีเงินเดือนสูงกว่าผู้ที่ได้เกรดน้อย ทั้งเงินเดือนเริ่มต้น และอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่า

    อย่างไรก็ดี เกรดเฉลี่ยตอนปริญญาตรีอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความแตกต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้น หากแต่เกรดเฉลี่ยอาจเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งถึงคุณสมบัติอื่นๆ ของผู้สมัครแต่ละคนที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำงานซึ่งส่งผลถึงเงินเดือนที่ได้รับในท้ายที่สุด


    เปลี่ยนงานบ่อย เงินเดือนยิ่งพุ่ง
    ขณะเดียวกัน อีไอซียังระบุถึงความถี่ของการเปลี่ยนตำแหน่งงานว่ามีความสัมพันธ์กับเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากพบว่าข้อมูลประวัติการทำงานของผู้สมัครมีแนวโน้มบ่งชี้ระดับเงินเดือน ซึ่งข้อมูลนั้นจะประกอบไปด้วยตำแหน่งงานที่เคยทำในแต่ละช่วงเวลาและเงินเดือนในตำแหน่งงานนั้น การเปลี่ยนตำแหน่งงานอาจเป็นได้ทั้งกรณีได้รับตำแหน่งงานใหม่ในบริษัทเดียวกัน เช่น จากการย้ายฝ่ายหรือการเลื่อนตำแหน่งภายในองค์กร รวมไปถึงการย้ายที่ทำงาน เป็นต้น

    โดยกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานไม่เกิน 2 ปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งงาน 1-3 ครั้ง จะมีเงินเดือนในงานล่าสุดโดยเฉลี่ยสุดสูงกว่า 20-40% เมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงาน อย่างไรก็ตามผู้ที่มีการเปลี่ยนงานถึง 4 ครั้ง เงินเดือนในงานล่าสุดจะสูงกว่าเพียง 10% เมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงาน ซึ่งอาจสะท้อนว่าการเปลี่ยนงานบ่อยเกินไปขณะที่อายุงานยังน้อยก็ไม่ได้ส่งผลดีเพิ่มขึ้น

    ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน 2 ปีขึ้นไป ความถี่ของการเปลี่ยนตำแหน่งงานซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการเลื่อน-ย้ายตำแหน่งภายในองค์กร หรือการย้ายที่ทำงาน มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงานอย่างชัดเจน เป็นการสะท้อนถึงความสามารถและประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้นของผู้สมัคร อันนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งในองค์กรหรือการได้โอกาสในการย้ายงานที่บ่อยขึ้นซึ่งนำไปสู่เงินเดือนที่มากขึ้น


    คุณอิเลีย โบนิก – ประธานธุรกิจ Career เมอร์เซอร์
    “ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ทักษะการทำงานเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และการเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรทั่วโลก องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการโยกย้ายพนักงานไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่องค์กรได้ เกิดข้อดีสำหรับทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางอาชีพ ประสบการณ์ในระดับโลก การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งการมอบข้อเสนอค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จะทำให้องค์กรสามารถสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจได้จากการโยกย้ายพนักงาน”


    [English]
    Bangkok now 40th most expensive city in the world
    The latest 2019 Cost of Living survey by Mercer showed eight of the world’s top-10 cities with the highest cost of living are in Asia, mostly due to rising goods prices and volatile property prices.

    On the list, Hong Kong was ranked second, followed by Tokyo and Singapore, while Bangkok took the 40th spot — a rise of 12 places from last year.  The cost of living in Bangkok is now higher than such big cities as Washington DC, Miami, Milan, Paris, Boston and Sydney, because of urban migration and economic expansion as well as the impact of foreign exchange volatility and low inflation.

    A report from the National Statistical Office (NSO) also showed Thailand’s average household expenses stood at 21,346 baht a month, a 0.4% drop from 21,437 baht a month in 2017.  This decline suggested that Thais became more cautious in spending, likely due to economic issues.

    In terms of income, NSO’s said that Thai household’s average monthly income was at 26,946 baht in 2017, a slight increase from 26,915 baht recorded in 2015.  

    When compared with expenses, Bangkok residents are not living a comfortable life despite various political parties’ promise to increase minimum wages.

    Another study by EIC, which analyzed job applicants across Thailand, found the level of education has a correlation with the level of salary, as those that finished only high school or lower would make around 14,000 baht a month while PhD holders would get about 36,000 baht a month.

    EIC also found that people, who changed jobs frequently, likely made more money although those with work experience of no more than two years would not enjoy significant raises over the long term.