Tuesday, May 23, 2023
More

    ดีเดย์เปิด “สถานีห้าแยกลาดพร้าว” 11 ส.ค. นี้ รฟม. พร้อมเร่งอีก 4 สถานีให้ทันใช้ปลายปี 62

    11 สิงหาคมนี้ คนกรุงจะเดินทางสะดวกมากขึ้น เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 1 สถานี จากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว จากนั้น รฟม. ผู้รับผิดชอบด้านงานโยธา จะประสานความร่วมมือกับ กทม. และ บีทีเอส เพื่อเร่งเปิดให้บริการ ต่ออีก 4 สถานีจนถึงหน้า ม.เกษตรศาสตร์ ภายในปลายปี 2562 พร้อมยืนยันให้บริการตลอดเส้นทางภายในปี 2563

    เปิดเดินรถไฟฟ้าเพิ่ม 1 สถานี  
    นับเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่สามารถเร่งงานก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว(เหนือ) ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จนขณะนี้ในส่วนของงานด้านโยธาเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว โดยพร้อมให้เอกชนทยอยเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ


    นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับงานโยธาที่ รฟม. รับผิดชอบแล้วเสร็จ 100% ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคืบหน้าประมาณ 70-80% และได้เริ่มทดสอบระบบการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว ซึ่งจะเปิดให้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้

    โดยในช่วงการทดสอบเดินรถเสมือนจริงประมาณ 1 เดือน จะเป็นการทดสอบระบบการสื่อสาร การจอดรถไฟฟ้าที่ประตูรถให้ตรงกับจุดที่ผู้โดยสารจะเข้า-ออก โดยเฉพาะการเดินรถข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งมีความสูง 26 เมตร เพื่อให้มั่นใจและมีความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ

    ชั่วโมงเร่งด่วนไป


    ห้าแยกลาดพร้าว แบบเว้นขบวน
    สำหรับรูปแบบการให้บริการจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว มี 2 รูปแบบ คือ ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak Hour) เช้าและเย็น ระหว่างเวลา 07.00-09.00 น. และ เวลา 17.00-19.00 น. จะเดินรถแบบขบวนเว้นขบวน คือ ขบวนหนึ่งจะวิ่งไปสิ้นสุดที่สถานีปลายทางห้าแยกลาดพร้าว ส่วนอีกขบวนจะสิ้นสุดปลายทางที่สถานีหมอชิต โดยผู้โดยสารจะต้องลงจากขบวนรถเพื่อรอต่อขบวนถัดไปเพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว หรือสังเกตจากตัววิ่งหน้าขบวนรถไฟฟ้าและเสียงประกาศภายในขบวนรถที่จะแจ้งให้ทราบว่าขบวนรถจะไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีใด ส่วนช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ทุกขบวนจะวิ่งให้บริการถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว

    เพิ่ม Sky Walk อำนวยความสะดวก 
    นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างเร่งงานก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Sky Walk) เชื่อมต่อบริเวณใกล้เคียงในแต่ละสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน ซึ่ง รฟม. จะเน้นเชื่อมต่อกับอาคารที่เป็นหน่วยงานรัฐ และสะพานลอยคนเดินข้ามที่มีอยู่ในหลายจุดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ คาดว่าจะก่อสร้างได้สมบูรณ์ภายในปลายปีนี้

    เร่งเปิดใช้อีก 4 สถานีปลายปี 2562  
    ทั้งนี้ รฟม. รวมถึง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเร่งปรับแผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว(เหนือ) โดยทยอยเปิดตามความพร้อมของงานก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการเร็วขึ้นและช่วยบรรเทาการจราจร ซึ่งภายหลังจากเปิด 1 สถานีแรกไปแล้ว จะเร่งเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในปลายปี 62

    ปี 2563 พร้อมให้บริการตลอดสาย 
    จากนั้น เร่งดำเนินการให้สามารถเปิดบริการถึงปลายทางที่เหลืออีก 11 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรมป่าไม้, สถานีศรีปทุม, สถานีกรมทหารราบที่ 11, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ, สถานีพหลโยธิน 59, สถานีสายหยุด, สถานีสะพานใหม่, สถานี รพ.ภูมิพลอดุลยเดช, สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต ภายในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะเร็วกว่าแผนเดิมที่มีกำหนดจะเปิดบริการในปี 2564


    รฟม. ร่วมช่วยแก้ปัญหาของเมือง 
    ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการเดินทางของประชาชน รฟม. ยังได้คำนึงถึงด้านความปลอดภัยและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชมและสังคมเป็นสำคัญ โดยเน้นย้ำให้บริษัทที่ปรึกษาควบคุมโครงการและผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ดำเนินงานตามมาตรการความปลอดภัยและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ทั้งมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน โดยขุดลอกท่อระบายน้ำตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้างของโครงการฯ

    พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยก่อสร้างบ่อพักเสริมและเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำทดแทนท่อระบายน้ำเดิมที่ได้รื้อย้ายในระหว่างการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี และเชื่อมท่อระบายน้ำใหม่เพิ่มเติม รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกันระดับพื้นราบ ได้แก่ การจัดรถดูดฝุ่นบนถนนตามแนวสายทาง การจัดพนักงานเก็บกวาดพื้นที่ก่อสร้างและจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันเศษวัสดุกีดขวาง การระบายน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

    เมื่อส่วนต่อขยายสายสีเขียว(เหนือ) เปิดให้บริการ จะสามารถบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต จากปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 80,000 คน-เที่ยว/วัน ลงไปได้ครึ่งหนึ่ง รวมถึงมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดจนย่านสะพานใหม่ไปจนถึงคูคต ให้ลดความแออัดลงไปได้เป็นอย่างมาก ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น


    คุณสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข – รองผู้ว่าการ รฟม. 
    “สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในส่วนของการก่อสร้างงานโยธาที่ รฟม. รับผิดชอบแล้วเสร็จ 100% ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ทั้งนี้ รฟม. กทม. และ บีทีเอส ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเร่งปรับแผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือจะทยอยเปิดตามความพร้อมของงานก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการเร็วขึ้นและช่วยบรรเทาการจราจร โดยสถานีแรก คือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว พร้อมจะเปิดให้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 จากนั้นจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ภายในปลายปี 2562 และจะพยายามเร่งให้สามารถเปิดให้บริการถึงปลายทางที่สถานีคูคตภายในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะเร็วกว่าแผนเดิมที่มีกำหนดจะเปิดบริการในปี 2564”


    [English]
    Bangkok’s Lat Phrao intersection traffic congestion expected to start easing in August
    Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA) is confident that the construction of the the Green Line electric train extension (Mochit – Saphan Mai – Kukot) has progressed as planned and at least one more station should be opened for a one-month free trial run on August 11.

    The new station, the Lat Phrao Intersection Station, once opened, will be the new end of the line during off-peak hours, and will take turn with the Mochit Station as the terminal station during morning (07.00 a.m. and 09.00 a.m) and evening (05.00 p.m. and 07.00 p.m.) peak hours.

    In addition, MRTA has been rushing the construction of the Sky Walk passage to connect all nearby electric train stations with key government buildings and existing pedestrian overpasses to facilitate the public.  This is expected to be completed by the end of 2019.

    Furthermore, MRTA has been working with Bangkok Metropolitan Administration (BMA) and Bangkok Mass Transit System Public Company Limited (BTSC) in completing the entire Green Line extension project as it aims to open four more stations before the end of this year.

    MRTA has also assured that the construction has taken into consideration the safety of nearby communities and the society as well as the environmental impact.

    The company believes that the Green Line extension will help alleviate the crowdedness at the BTS Mochit Station, which is currently handling an average of 80,000 per trip, as it expects to lower this number by half, while noting that the extended service will help ease road traffic in adjacent areas considerably.