ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีการจดทะเบียนสมรสลดลง แต่หย่าร้างกันมาก ขณะที่มีประชากรเพิ่มถึง 3 ล้านคน ส่งผลให้มีคนโสดเยอะขึ้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีรายจ่ายกิน-เที่ยว-ชอป ต่อหัวมาก แต่กลับพบว่ามีความสุขน้อยกว่าคนที่มีครอบครัว
สมรสน้อย-หย่ามาก คนโสดเพิ่ม
ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มเป็นโสดกันมากขึ้น จากสถิติการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น โดย Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครอง พบว่าการจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1% จาก 3.13 แสนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนในปี 2560 สวนทางกับการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้น 19.7% จาก 1.02 แสนในปี 2550 มาเป็น 1.22 แสนในปี 2560 ทั้งนี้ ในช่วงปี 2550-2560 ไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นราว 3 ล้านคน ดังนั้นการแต่งงานที่ลดลงและการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นจึงอาจหมายถึงจำนวนคนโสดที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีคู่ที่อยู่ด้วยกันแบบไม่จดทะเบียนสมรสด้วย
สอดคล้องกับรายงานของ UNFPA พบว่ากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงทั้งขนาดของครอบครัวที่เล็กลง และลักษณะการอยู่คนเดียวหรือกลุ่มคนโสดมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่โครงสร้างที่อยู่เป็นครอบครัวยังมีถึง 84% ในขณะที่คนโสดมี 13.9%
เทรนด์ใช้จ่ายคนโสดเน้นกินเที่ยว
เมื่อดูข้อมูลการใช้จ่ายและสินทรัพย์ อีไอซีระบุว่าคนโสดและคนมีครอบครัวมีความแตกต่างในหลายด้าน จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 พบว่าคนโสด (นับเฉพาะผู้อายุเกิน 20 ปี ซึ่งสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย และนับกลุ่มที่หย่า) มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวมากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ย 11% โดยคนโสดมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อรายได้สูงกว่าเล็กน้อย แต่คนมีครอบครัวมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงกว่ามาก
ขณะที่ด้านสินทรัพย์ คือบ้านและรถ พบว่าคนโสดมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของน้อยกว่าคนมีครอบครัว เช่น ช่วงอายุ 31-35 ปี มีคนโสดเพียง 18% ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่วนคนมีครอบครัวเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถึง 51% เป็นต้น สะท้อนถึงการที่คนโสดอาจมีความจำเป็นในการมีสินทรัพย์ที่น้อยกว่า ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้นสัดส่วนความเป็นเจ้าของบ้านและรถก็เพิ่มขึ้นทั้งสองกลุ่ม
เมื่อดูรายจ่ายต่อหัวตามประเภทการใช้จ่ายจะพบความแตกต่างระหว่างคนโสดและคนมีครอบครัว โดยที่คนโสดใช้จ่ายมากกว่าทั้งในด้านการทานอาหารนอกบ้าน การเดินทาง และการท่องเที่ยวและความบันเทิง หากแต่คนมีครอบครัวจะใช้จ่ายมากกว่าในด้านสุขภาพ โดยในส่วนของการใช้จ่ายด้านอาหารนั้น คนโสดใช้จ่ายมากกว่าประมาณ 12% เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์ออกไปทานอาหารนอกบ้านมากกว่า ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด ขณะที่คนมีครอบครัวใช้จ่ายเพื่อการทานข้าวนอกบ้านเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น
ขณะที่ค่าเดินทาง คนโสดที่มีรถต้องจ่ายค่าน้ำมันสูงกว่าคนมีครอบครัว 4% ทั้งยังจ่ายค่าเดินทางสาธารณะสูงกว่าถึง 42% นอกจากนั้น คนโสดยังมีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว สูงกว่าคนมีครอบครัวถึง 40% สำหรับกิจกรรมความบันเทิงอื่นๆ เช่น ดูหนัง เลี้ยงสัตว์ กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ คนโสดยังคงใช้จ่ายสูงกว่า 5%
มีเพียงด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นค่าซื้อยา ค่าตรวจสุขภาพในด้านต่างๆ ค่าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสุขภาพ ฯลฯ ที่คนมีครอบครัวจะใช้จ่ายสูงกว่า 48% สะท้อนถึงเรื่องความใส่ใจสุขภาพและการมีค่าใช้จ่ายที่มีเฉพาะสำหรับคนมีครอบครัว เช่น ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของลูก เป็นต้น
ชี้คนมีครอบครัวเป็นสุขกว่าคนโสด
มีคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วคนโสดหรือคนมีครอบครัวมีความสุดมากกว่ากัน ซึ่งจากผลการศึกษาของศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics พบว่าคนมีครอบครัวระบุว่ามีความสุขถึง 60% มากกว่าคนโสดที่มีแค่ 45%
ขณะที่การมีครอบครัวมักจะถูกมองว่าต้องแบกภาระหนักและใช้ชีวิตตามแบบแผนตลอด จึงมีการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินของคนมีครอบครัว โดยพบว่าคนมีครอบครัวที่มีความสุขที่มีสัดส่วน 60% และกลุ่มที่ไม่มีความสุขที่มี 40% มีพฤติกรรมทางการเงินแตกต่างกัน โดยการใช้จ่ายในด้านค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น อย่างการกิน ท่องเที่ยว ชอปปิง การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไม่แตกต่างกันนัก แต่กลุ่มที่ไม่มีความสุข มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากภาระเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนบุตร
ส่วนพฤติกรรมการเป็นหนี้พบว่า กลุ่มที่มีความสุขก็มีการก่อหนี้เช่นกัน แต่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า เช่น เลือกผ่อนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงๆ ก่อน อีกทั้งส่วนใหญ่มีรายการผ่อนแบบคิดดอกเบี้ยเพียง 1-2 รายการ ขณะที่เกือบครึ่งของกลุ่มที่ไม่มีความสุข มีรายการที่ต้องผ่อนชำระแบบเสียดอกเบี้ยมากกว่า 3 รายการ และมักเลือกชำระหนี้แบบจ่ายขั้นต่ำ แถมยังมีบางส่วนจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดด้วย
ในส่วนการออม พบว่ากลุ่มที่มีความสุข มีสัดส่วนคนที่มีเงินออมสูงกว่าถึง 3 เท่า อีกทั้งยังมีรูปแบบในการเก็บออมบางอย่างที่แตกต่างกัน แม้ทั้งสองกลุ่มมีการออมสำหรับใช้ยามฉุกเฉินเป็นพื้นฐาน แต่กลุ่มที่มีความสุขมีรูปแบบการออมเพื่อวัยเกษียณกับการเก็บออมเพื่อลงทุนเป็นสัดส่วนสูงกว่าถึง 2 เท่า
ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีความสุขก็ยังมีการ เตรียมความพร้อมในชีวิตที่ดีกว่า อย่างค่ารักษาพยาบาล แม้ทั้งสองกลุ่มจะเลือกใช้เงินตัวเองจ่ายก่อนเป็นพื้นฐาน แต่ในกลุ่มมีความสุขจะมีการซื้อประกันสุขภาพไว้มากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการป้องกันความเสี่ยงในด้านค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยไว้รองรับ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันสุขภาพและประกันอื่นๆ เฉลี่ยต่อปีอยู่ 24,100 บาท มากกว่ากลุ่มไม่มีความสุข 2 เท่า และกลุ่มที่มีความสุขเกือบทั้งหมดก็มีการวางแผนเกี่ยวกับเงินที่จะใช้ยามเกษียณแล้ว ขณะที่กลุ่มไม่มีความสุขเป็นจำนวนกว่า 11% สารภาพว่ายังไม่รู้จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ในยามเกษียณ
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคนที่มีครอบครัวแล้ว หรือว่าเป็นโสด ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง ประกอบกับการเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ไม่ว่าจะมีสถานะใดก็คงต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบให้มากขึ้นไม่ต่างกัน
คุณเมวดี ศุภสุข – ประกอบธุรกิจส่วนตัว
“คนโสดมีความสุขน้อยกว่าจริงๆ เพราะอาจจะเหงาบ่อยกว่าคนมีคู่ แต่อย่างไรก็มีความสบายใจในเรื่องความอิสระ ส่วนการชอป การเที่ยว ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรายจ่ายเหมือนคนแต่งงานที่ต้องคิดเยอะกว่า การจับจ่ายเลยคล่องมือ เพราะใช้คนเดียว แต่ดิฉันเองก็จะมีการวางแผนทางการเงิน ถึงจะชอปจะเที่ยวแต่เงินก็ยังเหลือ เป็นการเตรียมการรองรับหากวันหนึ่งมีคู่”