ศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics เปิดเผยว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของคนโสดมีเยอะก็จริง แต่กลุ่มคนแต่งงานยังเป็นโครงสร้างหลักของครอบครัวไทย ซึ่งจากรายงาน UNFPA ล่าสุดพบว่ากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งขนาดของครอบครัวที่เล็กลง และลักษณะครอบครัวอยู่คนเดียวหรือที่กลุ่มคนโสดมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่โครงสร้างที่อยู่เป็นครอบครัวยังมีถึง 84% ในขณะที่คนโสดมีเพียง 13.9%
ซึ่งการมีครอบครัวมักจะถูกมองว่ามาพร้อมกับการแบกภาระหนัก เพราะมีภาระทางการเงินสูง แถมยังต้องใช้ชีวิตตามแบบแผนตลอด จึงมีการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินของคนมีครอบครัว โดยพบว่าคนมีครอบครัวที่มีความสุข มีสัดส่วนอยู่ที่ 60% และกลุ่มคนที่ไม่มีความสุข มี 40% ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีพฤติกรรมทางการเงินแตกต่างกัน โดยการใช้จ่ายในด้านค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น อย่างการกิน ท่องเที่ยว ชอปปิง การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไม่แตกต่างกันนัก แต่กลุ่มที่ไม่มีความสุข มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากภาระเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนบุตร
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจพฤติกรรมการเป็นหนี้ พบว่า กลุ่มที่มีความสุขก็มีการก่อหนี้เช่นกัน แต่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า เช่น เลือกผ่อนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงๆ ก่อน อีกทั้งส่วนใหญ่มีรายการผ่อนแบบคิดดอกเบี้ยเพียง 1-2 รายการ ขณะที่เกือบครึ่งของกลุ่มที่ไม่มีความสุข มีรายการที่ต้องผ่อนชำระแบบเสียดอกเบี้ยมากกว่า 3 รายการ และมักเลือกชำระหนี้แบบจ่ายขั้นต่ำ แถมยังมีบางส่วนจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดด้วย
ด้านการออม พบว่ากลุ่มที่มีความสุข มีสัดส่วนคนที่มีเงินออมสูงกว่าถึง 3 เท่า อีกทั้งยังมีรูปแบบในการเก็บออมบางอย่างที่แตกต่างกัน แม้ทั้งสองกลุ่มมีการออมสำหรับใช้ยามฉุกเฉินเป็นพื้นฐาน แต่กลุ่มที่มีความสุขมีรูปแบบการออมเพื่อวัยเกษียณกับการเก็บออมเพื่อลงทุนเป็นสัดส่วนสูงกว่าถึง 2 เท่า
ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีความสุขก็ยังมีการเตรียมความพร้อมในชีวิตที่ดีกว่า อย่างค่ารักษาพยาบาล แม้ทั้งสองกลุ่มจะเลือกใช้เงินตัวเองจ่ายก่อนเป็นพื้นฐาน แต่ในกลุ่มมีความสุขจะมีการซื้อประกันสุขภาพไว้มากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการป้องกันความเสี่ยงในด้านค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยไว้รองรับ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันสุขภาพและประกันอื่นๆ เฉลี่ยต่อปีอยู่ 24,100 บาท มากกว่ากลุ่มไม่มีความสุข 2 เท่า และกลุ่มที่มีความสุขเกือบทั้งหมดก็มีการวางแผนเกี่ยวกับเงินที่จะใช้ยามเกษียณแล้ว ขณะที่กลุ่มไม่มีความสุขเป็นจำนวนกว่า 11% สารภาพว่ายังไม่รู้จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ในยามเกษียณ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น คนที่มีครอบครัวแล้ว หรือว่าเป็นโสด ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง ประกอบกับการเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ไม่ว่าจะมีสถานะใดก็คงต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบครอบให้มากขึ้นไม่ต่างกัน