ขยะพลาสติกได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 2.7 ล้านตัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 80% หรือประมาณ 2 ล้านตัน เฉลี่ย 5,300 ตันต่อวัน โดยคนกรุงใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ซึ่งกว่า 79% ยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ต้นเหตุสำคัญคือการกำจัดไม่ถูกวิธีและปริมาณที่เพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ถุงพลาสติกภัยคุกคามระบบนิเวศ
รายงานจากกรีนพีซระบุว่า ทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลราว 9% เข้าโรงงานเผาขยะ 12% และหลงเหลือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 79% ถ้าแนวโน้มการผลิตและการจัดการขยะยังดำเนินต่อไปแบบปัจจุบัน คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ขยะพลาสติกประมาณ 12,000 ล้านตันจะยังคงหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
ด้านประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 80% หรือ 5,300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นขยะโฟมประมาณ 700,000 ตัน ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี โดยพบว่าขยะพลาสติก 50% กำจัดไม่ถูกวิธี ที่สำคัญหากใช้วิธีฝังกลบจะใช้พื้นที่มากกว่าขยะปกติถึง 3 เท่า หรือหากนำไปเผาทำลายจะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก รวมทั้งมีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถุงพลาสติกทำจากเม็ดปิโตรเลียม ทำให้มีการปนเปื้อนของสารตกค้างในดินและน้ำ ส่งผลก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
โดยข้อมูลของกรมควบคุมมล-พิษพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
ขณะที่ปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกมากถึง 481,381 ตัน สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน โดยถุงพลาสติก กล่องโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก คือขยะทะเล 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุด มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งแสนชิ้น เหล่านี้คือมลพิษที่เป็นภัยคุกคามหลักของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล โดยล่าสุด ไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2564 (ดูอินโฟกราฟิก 1)

ภาคเอกชนผนึกกำลังงดแจกถุงพลาสติก
ในช่วงวันที่ 3 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) ถูกกำหนดโดยองค์กร Plastic Bag Free World Organization เพื่อเป้าหมายลดขยะพลาสติก หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงห้างดังต่างรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกต่างๆ และออกแคมเปญลดใช้ถุงพลาสติก
กลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทโฮลดิ้งสัญชาติญี่ปุ่นชั้นนำระดับโลกในธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านยูนิโคล่ และร้าน GU ประกาศแผนการจัดการการใช้พลาสติกพร้อมกับลดปริมาณพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงชอปปิง และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า โดยตั้งเป้าลดการใช้ลง 85% หรือประมาณ 7,800 ตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2563
ด้านเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย เปิดตัวโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาชอปปิง หากมีความจำเป็นใช้ถุงพลาสติก ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อพลาสติก 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย
ด้านกลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ พร้อมจัด Green Checkout หรือแคชเชียร์ช่องพิเศษ อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง
นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อิเลฟเว่น สานต่อโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” โดยลูกค้าปฏิเสธการรับถุง จะนำเงินค่าถุง 20 สตางค์ไปสมทบทุนบริจาค 77 โรงพยาบาลทั่วไทย ด้านแฟมิลี่มาร์ทมีการจำหน่ายถุงกระดาษโดยรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้วจะนำไปมอบให้กับมูลนิธิอนุรักษ์สัตว์ทะเล รวมถึงแม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต มีแคมเปญรณรงค์ให้ทุกคนงดใช้ถุงพลาสติก พร้อมเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม (ดูอินโฟกราฟิก 2)

รัฐเดินหน้าแผนจัดการขยะพลาสติก
สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าหมายลด ละ เลิก ใช้พลาสติกภายในปี 2565 และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
สาระสำคัญประกาศยกเลิกการใช้พลาสติก 7 ชนิด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก กำหนดยกเลิกใช้ภายในปี 2562 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกผสม สารอ็อกโซ่ และพลาสติกผสมไมโครบีด
ส่วนที่สอง กำหนดยกเลิกให้ใช้ภายในปี 2565 ได้แก่ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยจะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมทั้งจะนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% ซึ่งจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายในส่วนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ภายในปี 2570 (ดูอินโฟกราฟิก 3)
นอกจากนี้ยังเชิญชวนทุกภาคส่วนและประชาชน ลดและงดใช้ถุงพลาสติก ให้ใช้ถุงผ้าในการจับจ่ายใช้สอยและดำเนินชีวิตประจำวันแทน รวมทั้งร่วมกันเก็บและคัดแยกขยะตั้งแต่ในบ้านเรือน โรงเรียน หน่วยงานและชุมชน เพื่อให้ขยะพลาสติกและมูลฝอยหมดไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาขยะพลาสติกของไทยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดไม่ใช่แก้ต้นเหตุ ดังนั้นการแก้ไขที่ดีที่สุดต้องผลักดันกฎหมายกำหนดนโยบาย และการใช้มาตรการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม อื่นๆ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมโรงงานต่างๆ ไม่มีมาตรการมาช่วยสนับสนุนจัดการขยะพลาสติก ประเทศไทยจะประสบปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมหนักขึ้น
คุณพิชามญชุ์ รักรอด – หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“หากเราต้องต่อกรวิกฤตมลพิษพลาสติก รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบาย มาตรการและแผนงานโดยเฉพาะการยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ออกประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ และเน้นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนเพื่อเปิดกว้างให้กับกระบวนการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากสาธารณะชน แทนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างฉาบฉวย ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องมีนโยบายและคำมั่นที่ชัดเจนในการลงมือปฏิบัติเพื่อยกเลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”
[English]
Thailand’s single-use plastic usage remains alarming
A report from Greenpeace stated that the world currently produces around 6.3 billion tons of plastic waste and only 9% is recycled while 12% goes to the incinerators. This means 79% remains unmanaged.
In Thailand, it was reported that 2.7 million tons of plastic and Styrofoam waste are produced each year, with 80% being plastic. It was also found that 50% of plastic waste is not correctly disposed of, while wrong methods, such as burying and burning, have caused contamination in the environment and contributed to global warming.
Plastic Bag Free World Organization has declared July 3 the International Plastic Bag Free day, in a campaign aimed at discouraging the use of plastic bags around the world. Retailers across the globe, such as Japan’s Uniqlo and GU, have already set a goal to reduce the use of plastic bags by 7,800 tons a year by 2020.
In Thailand, The Mall Group has launched “The Mall Group Go Green; Green Everyday” in which no plastic bags will be offered for free to its customers, while Central Group introduced the Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ campaign that has been planned to make it the first retailer in the country to be plastic bag-free by the end of this year.
The Thai government has also targeted to effectively tackle single-use plastics by 2022 and the Ministry of Interior has been tasked to work with the Ministry of Natural Resources and Environment as well as related agencies to accordingly implement the 2018-2030 action plan against plastic waste.