นับว่าการงดดื่มเหล้าได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท
ปี 2562 รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า”
จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 – 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1%
ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560
ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 16 นับตั้งแต่ปี 2546 โดยมีประชาชนเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่อง ซึ่งเทศกาลเข้าพรรษาปี 2562 นี้ ได้รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” เพื่อเชิญชวนให้ช่วงเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อฟื้นฟูตับให้กลับมาดี
นอกจากนี้ จากการประเมินผลจากการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต่อการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ พบว่าในเดือนที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% และการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย
เผยจำนวนนักดื่มไทยสูงสุดในรอบ 5 ปี
เมื่อดูสถิติการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา จากรายงานโครงการประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2561” โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุว่าจำนวนนักดื่มปัจจุบัน (Current Drinker) ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณการว่ามีมากถึง 22,556,461 คน หรือคิดเป็น 42.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2557-2561) โดยผู้ดื่มเพศชายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 ล้านคน สวนทางกับผู้ดื่มเพศหญิงที่มีตัวเลขลดลงเกือบ 1 ล้านคน ขณะที่ผู้ไม่ดื่มมีจำนวน 30,419,139 คน คิดเป็น 57.4%
ที่น่าสนใจคือพบว่านักดื่มอายุ 20 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยผู้ดื่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากที่สุด ประมาณ 6.479 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 33.2% ของคนอายุ 50 ปีขึ้นไปทั้งหมด แต่ก็มีเรื่องที่น่ายินดีที่นักดื่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีจำนวนลดลงกว่า 4 แสนคน จากเดิมมีกว่า 1.289 ล้านคน เหลืออยู่ที่ 8.51 แสนคน คิดเป็น 20.3% ของคนอายุ 15-19 ปี โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีจํานวนผู้ดื่มสูงที่สุด 8.516 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 47.7% ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีผู้ดื่ม 3.568 ล้านคน คิดเป็น 46.9%
ขณะที่กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะดื่มกับเพื่อนมากที่สุด ซึ่งเบียร์ และสุราสี/สุราแดง เป็นเครื่องดื่มที่นิยม โดยกว่า 3 ใน 4 จะดื่มอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในส่วนค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (รวมค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กับแกล้ม มิกเซอร์ มาลัย ฯลฯ) พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 325 บาท/ครั้ง
คนไทยงดเหล้าครบพรรษา 6 ล้านคน
ในการจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบว่าทำให้ผู้ดื่มมีสัดส่วนที่ลดลง อย่างไรก็ดีจากการสำรวจในปี 2561 กลับพบกลุ่มที่สามารถงดตลอดเทศกาลเข้าพรรษาลดลงกว่า 7.5% ขณะท่ีกลุ่มที่ดื่มไม่ต่างจากเดิมเพิ่มขึ้นถึง 12.0%
โดยในปี 2561 มีผู้ที่สามารถงดดื่มได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา 6,855,938 ล้านคน คิดเป็น 30.4% ของนักดื่มปัจจุบันทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่งดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) มี 2,239,270 คน คิดเป็น 9.9% ส่วนกลุ่มที่ไม่งด แต่ลดการดื่มลง พบกว่า 3,420,068 คน เป็นสัดส่วน 15.2% และในทางกลับกันผู้ที่ดื่มไม่ต่างจากเดิม มีมากถึง 10,041,185 คน คิดเป็น 44.5%
สำหรับกลุ่มที่งดดื่มได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา ระบุถึงสาเหตุที่ทําให้งดได้ตลอดว่าเป็นเพราะปกติดื่มน้อย ไม่ค่อยดื่มอยู่แล้ว อีกทั้งยังงดดื่มเป็นประจําทุกปี และต้องการรักษาศีลช่วงเข้าพรรษา นอกจากนั้นยังจะมีการงดดื่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่า 53.7% ตั้งใจจะงดต่อไปหลังออกพรรษา ขณะที่ 4.8% ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต โดยประมาณการได้ว่ามีกว่า 8 แสนคน
พบเกือบครึ่งกลับมาดื่มใน 4 สัปดาห์
ขณะที่กลุ่มงดเป็นบางช่วง ก่อนที่จะกลับมาดื่มอีกในระหว่างพรรษา เกือบครึ่ง หรือ 48.3% กลับมาดื่มภายใน 4 สัปดาห์ ส่วน 51.7% งดได้นานกว่าคือกลับมาดื่มหลัง 4 สัปดาห์ที่เข้าพรรษา แต่โดยเฉลี่ยแล้วงดได้เกือบ 6 สัปดาห์ สําหรับสาเหตุที่ไม่สามารถงดตลอดได้คือ มีคนชวนดื่มซึ่งขัดไม่ได้ รวมถึงต้องไปงานเลี้ยง และชอบเที่ยวสังสรรค์
ส่วนกลุ่มที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง กว่า 3 ใน 4 หรือ 78.0% มีการลดการดื่มลงไม่เกิน 50% เม่ือเปรียบเทียบความถี่ในการดื่มระหว่างช่วงก่อนเข้าพรรษากับช่วงเข้าพรรษา แต่ที่น่ายินดีคือคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการดื่มของในช่วงเข้าพรรษาดื่มเฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งลดลงจากช่วงก่อนเข้าพรรษาที่ดื่มเฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน โดยเหตุผลที่เลือกจะไม่งดแต่ลดการดื่มลง เนื่องจากมีคนชวนดื่มซึ่งขัดไม่ได้ รวมถึงต้องไปงานเลี้ยง และชอบสังสรรค์ ซึ่งคล้ายกับกลุ่มงดเป็นบางช่วง
นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ที่คงมีการดื่มตามปกติ ไม่แตกต่างจากช่วงก่อนเข้าพรรษา ไม่ลดทั้งปริมาณและความถี่ ระบุถึงสาเหตุสําคัญที่ทําให้ไม่งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะว่า ดื่มเป็นประจํา ดื่มจนติด ทำให้อดไม่ได้ อีกทั้งมีคนชวนดื่มซึ่งขัดไม่ได้ รวมถึงชอบเที่ยวสังสรรค์ แต่ก็มี 17.4% ระบุว่าปกติดื่มน้อย ไม่ค่อยได้ดื่มอยู่แล้ว
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวถึงแนวทางสำคัญในการรณรงค์คือ สร้างชุมชนคนสู้เหล้า ให้คนในชุมชนชักชวนกันงดเหล้าอย่างทั่วถึง ซึ่งในปี 2561 เกิดเครือข่ายนายอำเภอนักรณรงค์ชวนงดเหล้า 157 คนครอบคลุม 69 จังหวัด ส่งผลให้การทำงานในชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ 1. มีการจัดงานศพและงานประเพณีปลอดเหล้า 430 แห่ง 2. มีชุมชนร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 1,546 แห่ง 3. มีคนลงนามบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา 24,376 คน และ 4. มอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคนงดเหล้าครบพรรษา 19,501 คน จนกลายเป็นคนหัวใจหิน และที่เลิกดื่มต่อเนื่อง 3 ปีขึ้นไป 3,222 คน กลายเป็นคนหัวใจเพชร ทำให้เกิดการต่อยอดโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2562 ภายใต้แนวคิด คนหัวใจเพชร สร้างคนหัวใจหิน
นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่กว่า 91.2% เห็นด้วยว่าการรณรงค์ให้งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน จะช่วยให้ประเทศไทยลดปริมาณการดื่มและจํานวนคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ลด ละ เลิก ดื่มในช่วงเข้าพรรษา ส่วนใหญ่ระบุว่าทําให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น ยังช่วยลดปัญหาในครอบครัวและมีความสุขมากขึ้น รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งพบว่าตลอด 3 เดือนสามารถประหยัดเงินได้เฉลี่ยคนละ 1,820 บาท ประมาณการว่าโดยรวมจะช่วยประเทศประหยัดเป็นมูลค่าถึง 10,724 ล้านบาท และในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปี 2562 ส่วนใหญ่กว่า 96% ตั้งใจจะลด ละ เลิกเช่นเดิม และเกือบ 2 ใน 3 ตั้งใจจะงดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา
นักดื่มชาวกรุง 32.2% จะงดตลอดพรรษา
กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่อง คนกรุงปฎิบัติตนอย่างไร…ช่วงเข้าพรรษา โดยพบว่า สิ่งที่ตั้งใจจะทำให้ช่วงเข้าพรรษาปีนี้ อันดับแรกคือ การทำบุญตักบาตรทุกวันพระตลอดช่วงเข้าพรรษา 48.6% รองลงมาเป็นการสวดมนต์นั่งสมาธิ 35.2% และไม่ดื่มเหล้าตลอด 3 เดือน 26.5%
ที่น่าสนใจคือ เฉพาะผู้ดื่มสุรา ส่วนใหญ่ 87% จะเข้าร่วมตามคำเชิญชวนของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบคำขวัญ “รักชีวิตอย่าติดสุรา” ในกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ พร้อมชวนคนไทยงดเหล้าตลอดเข้าพรรษานี้ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวระบุว่า คิดจะงดแต่อาจดื่มเฉพาะงานสังสรรค์บางงาน 36.8% ส่วนคนที่คิดว่าจะงดตลอด 3 เดือน มี 32.2% และ คิดว่าจะงดแต่อาจไม่ครบ 3 เดือน 18% นอกจากนั้น ยังพบว่าปัจจุบันพุทธศาสนิกชนคนกรุงส่วนใหญ่ 45.5% ระบุว่ายังคงคิดว่าใกล้ชิดกับวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม เหมือนเดิม โดย 39.9% คิดว่าห่างไกลมากขึ้น ส่วน 14.6% บอกว่าไม่แน่ใจ
งดเหล้าเข้าพรรษาถือเป็นแคมเปญใหญ่ที่มีการรณรงค์ในวงกว้าง ซึ่งในแง่ของผู้ที่ร่วมกิจกรรมก็จะได้ประโยชน์ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะทําให้ลดผลเสียต่อสุขภาพ ช่วยให้มีเงินเก็บ ในภาพใหญ่ของสังคมก็ยังสามารถลดอุบัติเหตุ รวมถึงเหตุร้ายต่างๆ แต่จากผลสำรวจข้างต้นในแง่ตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ส่อแววลดลง สวนทางกับจำนวนนักดื่มที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปีนี้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ – ผู้จัดการ สสส.
“จากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2561 พบว่า 30.4% สามารถงดได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษาและจะงดต่อไปจนออกพรรษา หรือประมาณ 6.9 ล้านคน ซึ่งจากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการดื่มโดยเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 325 บาท หากผู้ดื่มสามารถงดเหล้าได้ตลอด 3 เดือน จะประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนเฉลี่ยรายละ 1,820 บาท โดยประมาณการจำนวนเงินรวมที่ประเทศจะประหยัดได้มีมูลค่าถึง 10,724 ล้านบาท”
[English]
Campaign for alcohol break during Buddhist Lent lowers consumption by 10%
A survey by the National Statistical Office during 2001 and 2017 found the number of alcohol drinkers had fallen to 28.4% from 32.7% recorded before the study commenced
This clearly shows a decline in alcoholic beverage consumption during the past decades, which has been in line with a survey on Thais’ spending on alcohol drinks by the National Economic and Social Development Council that suggested a fall to 142.23 billion baht in 2017 from 151.61 billion baht in 2005.
The campaign to lower consumption of alcoholic beverages in Thailand during Buddhist Lent, which has been rallied by Thai Health Promotion Foundation and the StopDrink Network over the past 16 years, has seen more and people joining the cause every year. An evaluation of the campaign’s effectiveness found the number of fatalities and injuries caused by drinking has fallen 25% and overall consumption of alcohol has dropped by 10%.
But, another survey on the alcohol break campaign during Buddhist Lent in 2018 saw a 7.5% decline in the number of drinkers, who have successfully abstained throughout the three-month period, while the number of active drinkers increased 12%.
Research Centre for Social and Business Development Co., Ltd. (SAB) said that a study it collaborated with the Center of Alcohol Studies found that the number of current drinkers aged 15 years and above totaled over 22.5 million in 2018 — a 3% rise from 2017 and the highest in five years.
Nevertheless, the Thai Health Promotion Foundation and the StopDrink Network study found 91.2% of Thais agreed the alcohol break campaign during Buddhist Lent will eventually lower the level of alcohol consumption and the number of drinkers.