นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 โดยการคาดการณ์ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะลดลงจากปี 2561 โดยในแง่จำนวนยูนิตจะลดลง 17.9% จาก 196,630 ยูนิต มาอยู่ที่ 145,300-177,600 ยูนิต และในแง่มูลค่าจะลดลง 15.1% จาก 565,112 ล้านบาท มาอยู่ที่ 431,900-527,900 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นบ้านสร้างใหม่ 123,664 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 63% และอีก 37% เป็นบ้านมือ 2 ที่มียอดการโอนกรรมสิทธิ์รวม 72,966 ยูนิต
ขณะที่ภาพรวม 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2562 พบว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ที่ 71,019 ยูนิต โดยบ้านสร้างใหม่ยังคงเป็นสัดส่วนหลักที่ 41,990 ยูนิต แต่ลดลงเหลือ 59% ขณะที่บ้านมือสองอยู่ที่ 29,029 ยูนิต สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 41%
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้คาดว่ายังเติบโตได้ในระดับ 4% หลังจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการเติบโตสูงถึงกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเร่งขอสินเชื่อเพื่อให้ทันก่อนมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ซึ่งเป็นเกณฑ์ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา
ขณะที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2562 อยู่ที่ประมาณ 447,000 ล้านบาท หรือ 3.11% และหลังจากหักสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว หรือ NPLสุทธิ อยู่ที่ประมาณ 1.53% หรือราว 217,000 ล้านบาท
โดยระดับ NPL ที่ 3.11% ถือว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี NPL สูงที่สุดในโลก เทียบกับไต้หวัน และฮ่องกง NPL อยู่ในระดับ 0.22% และหากเกิน 0.4-0.5% จะถือว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตการเงินแล้ว ในขณะที่เกาหลี มีระดับ NPL ที่ 0.1% เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการเงินที่ผ่อนปรนการให้สินเชื่อมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นผลดีที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่าย แต่ข้อเสียคือทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับ NPL สูงที่สุดในโลก และเป็นที่มาที่ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่งด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ยังเปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 อยู่ที่ 92,528 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 93,065 ล้านบาท ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรอการขายของธนาคารพาณิชย์ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 31,777 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 23,705 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 15,548 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 8,520 ล้านบาท และธนาคารเกียรตินาคิน 4,821 ล้านบาท