Tuesday, May 23, 2023
More

    ชุมชนหล่ายแก้ว จ.เชียงใหม่ คราฟต์ชาวดอยสู่ผ้าทอกะเหรี่ยงออนไลน์

    ปัจจุบันไม่ว่าธุรกิจใดหากต้องการอยู่รอดในยุคนี้สมัยนี้ต่างก็ต้องหันมาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนไกลปืนเที่ยง อย่าง “ชุมชนหล่ายแก้ว” ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

    รู้จักชุมชนหล่ายแก้ว
    ชุมชนหล่ายแก้ว หรือบ้านหล่ายแก้ว คือชุมชนบนดอยสูง แม้จะห่างไกลอารยะธรรมคนเมือง แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์สำคัญของท้องถิ่น และยังใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาชนเผ่าในการสื่อสาร ซ้ำชาวบ้านบางคนยังอ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่ทุกวันนี้อัปเกรด ตัวเองให้เป็นกะเหรี่ยงออนไลน์ ด้วยการผสานวิถีชีวิตของคนสองยุคเข้าด้วยกัน นำไปสู่ธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืน


    นายจันทร์คำ ปู่เป็ด ประธานศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอกระเหรี่ยง เล่าว่า ชุมชนหล่ายแก้ว เป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงกลุ่มชาวโผล่ง ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านในชุมชนนี้จะพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา คือ ภาษาไทยกลาง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาเหนือ (คำเมือง)


    รายได้ของชุมชนมาจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำสวนลำไย ซึ่งจะมีการเก็บผลผลิตปีละหนึ่งครั้ง และมีอาชีพเสริมคือการทำหัตถกรรม ทำไม้กวาด ทอผ้ากะเหรี่ยงและแปรรูป ซึ่งผ้าที่ทอเป็นผ้าฝ้ายที่มีกรรมวิธีทำเป็นธรรมชาติทุกขั้นตอน และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนที่สวยงาม อาทิ ลายปะคังดอง (ลายแมงมุม) ลายหลึ่งเค้คลิ้ง (ลายเมล็ดฟักทอง) ลายก่ายกอง (ลายคดโค้ง) เป็นต้น ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นนี้ชุมชนจึงได้อนุรักษ์ผ้าทอลายดั้งเดิมควบคู่ไปกับการทำสินค้าหัตถกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

    โดยทางชุมชนได้มีการตั้งร้านค้าและศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อรวบรวมสินค้าในชุมชนออกไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และช่วยให้หลายๆ คนไม่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพไกลถึงในตัวเมือง


    พัฒนาหัตถกรรมสู่ร้านค้าออนไลน์
    ผลสำรวจล่าสุดเรื่อง สถานภาพธุรกิจชุมชนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จาก  795 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่ 56.12% ยังดำเนินการโดยใช้แรงงานเป็นหลัก ตามด้วย 35.59% ใช้แรงงานร่วมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก มีเพียง 0.13% เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ขณะที่ 46.70% มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดส่งสินค้า รับคำสั่งซื้อ จัดหาวัตถุดิบ รับชำระเงิน เป็นต้น และ 53.30% ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จำเป็น ไม่มีเงินทุนเพียงพอ และมองว่าธุรกิจขนาดเล็กไม่มีความจำเป็น เป็นต้น


    ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทำให้ธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเติบโต และก้าวสู่ธุรกิจระดับสากลได้ ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ลาซาด้า (Lazada) ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภายใต้ “โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการ สำหรับ SMEs” โดย  เข้ามาช่วยให้ความรู้ และให้คำแนะนำในการทำร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มของลาซาด้าผ่านเครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงการจัดอบรมการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้แก่ชุมชน เน้นการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน ในอนาคตชาวบ้านสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาและขยายธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ ทั้งยังรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชุมชนไว้อีกด้วย

    โดยชุมชนหล่ายแก้ว คือชุมชนหนึ่งที่ทาง สสว. และ ลาซาด้า มองเห็นศักยภาพ โดยการเข้ามาช่วยเหลือครั้งนี้ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านสามารถบริหารจัดการร้านค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ชีวิตของชาวบ้านแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องรอให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมชุมชนถึงจะขายสินค้าได้ แต่หลังจากเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้วปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมชุมชนก็สามารถขายสินค้าได้ทุกวัน


    สำหรับจุดเด่นของชุมชนนี้คือ การอนุรักษ์วิถีความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงไว้ได้เป็นอย่างดี อาทิ การแต่งกาย  โดยแม่บ้านและเด็กผู้หญิงจะทอผ้าใช้เองและสำหรับทุกคนในครอบครัวด้วย ผ้าที่ทอเป็นผ้าฝ้าย ลวดลายที่ทอเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงในชุมชน นอกจากเอกลักษณ์เรื่องการแต่งกายแล้ว ยังมีวิถีชีวิตที่ยึดถือประเพณีดั้งเดิม อาทิ การทอผ้าฝ้ายใต้ถุนบ้าน การเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน การใช้ภาษากระเหรี่ยงในการสนทนาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้มี ผู้มาเยี่ยมชม

    นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยง โดยผู้มาเยือนจะได้เห็นการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ และยังได้ชมแกลเลอรี่ที่มีชีวิตในหมู่บ้านอีกด้วย


    สุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต – รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารและพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย 
    “เพราะเทคโนโลยีเข้าถึงประชาชนได้ทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการรู้จักนำไปใช้และต่อยอดจนสร้างรายได้ สิ่งเหล่านี้ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันเข้าไปพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ดังเช่นที่โครงการฯ นี้ได้ดำเนินการอยู่ และยังคงเดินหน้าพัฒนาพร้อมทั้งสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการต่อไป”


    จิตต์ปภัสร์ ปู่เป็ด – สมาชิกชุมชนหล่ายแก้ว จ.เชียงใหม่
    “เราเห็นการเปลี่ยนผ่านของสิ่งต่างๆ มากมาย รับรู้ถึงความสำคัญและเรื่องราวในรากเดิม จึงอยากอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ขณะเดียวกันชาวบ้านเองต้องมีธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย จึงนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ่ายทอดเรื่องราวประเพณีผ่านผืนผ้า เพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์”