Wednesday, December 6, 2023
More

    คุยเรื่องเกษตรอินทรีย์กับเจ้าของคลีนฟาร์ม อารีดา ไวยะวงษ์

    รายงานจากสถาบันวิจัยเกษตรกรรมอินทรีย์ชี้ว่า ไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ 570,409 ไร่ อยู่ลำดับ 7 ของเอเชีย สร้างมูลค่าจากการส่งออก 1,817 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามยังพบว่าเกษตรกรไทยยังวนเวียนอยู่กับการใช้สารเคมี และพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เราจึงมาชวนคุยกับ คุณอารีดา ไวยะวงษ์ เจ้าของคลีนฟาร์ม จ.สระบุรี ผู้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในครอบครัวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ และเผยแพร่ความรู้สู้ผู้ที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง

    จากปัญหาสุขภาพสู่การปลูกผักกินเอง


    เราเริ่มหันมาปลูกผักกินเอง เพราะเมื่อ 15 ปีก่อนคุณแม่ป่วยหนักมาก ซึ่งเกิดจากสาเหตุว่าทานผักผลไม้สดมากเกินไป เนื่องจากทานคลีนเพื่อสุขภาพ ซึ่งตอนนั้นเราเข้าใจมาตลอดว่าสิ่งเหล่านี้คืออินทรีย์ แต่ความจริงแล้วแหล่งผลิตนั้นไม่ใช่ เราจึงเริ่มหาพื้นที่เพื่อปลูกผักผลไม้กินเอง เริ่มจาก 50 ไร่ แบ่งปลูกบ้านและปลูกไร่ ทำสภาพแวดล้อมรอบๆ เป็นอินทรีย์ไปด้วย เมื่อปลูกผักกินเอง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณแม่ก็หายป่วยจากโรคที่เป็นอยู่ ใช้เวลา 1-2 ปีก็หาย

    จุดเริ่มต้นของคลีนฟาร์ม

    แรกเริ่มเกิดจากปลูกให้ตัวเองกินจนเหลือเยอะ เลยแบ่งปันให้คนรอบข้าง ทั้งชาวบ้านและนักเรียนในโรงเรียน ทำมา 15 ปี จนกระทั่งมีความคิดอยากเผยแพร่ประสบการณ์ตัวเองให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ เพราะเราลงมือลงแรงหนักมากกว่าจะประสบความสำเร็จ อยากให้หัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง จึงเปิดอบรม โดยปัจจุบันคอร์สมีเดือนละ 2 ครั้ง รวมถึงมีกิจกรรมแบบวันเดย์ทริปสำหรับครอบครัวเพื่อเรียนรู้ด้านเกษตร และมีกิจกรรมแนวสุขภาพ คือ ออกกำลังกายเอาท์ดอร์ เพราะอากาศที่นี่ดีมาก คลีนฟาร์มจึงเป็นชรูปแบบของฟาร์มสเตย์ รวมถึงมี Animal Experience ด้วย คือคอร์กี้ 2 ตัว ที่เป็นพนักงานในฟาร์ม เขาจะทำหน้าที่พาลูกค้าทัวร์ฟาร์ม พาไปโรงมะเขือเทศ ซึ่งคอร์กี้จะเป็นผู้ที่บอกว่าลูกไหนที่หวานอร่อย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Experience ที่ให้นักท่องเที่ยวมาเช้าเย็นกลับได้

    เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงไหม

    เราอยากทำเกษตรต้นแบบให้คนรู้ว่า เกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความรู้เยอะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำได้ แม้ในโลกออนไลน์จะมีข้อมูลมากมาย แต่ความรู้นั้นกระจัดกระจาย เราต้องคัดสรรสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งคนที่ทำเกษตรส่วนมากมักใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งเราจะทำให้หลักภูมิปัญญานี้ยอมรับได้ว่าถูกต้อง คู่แข่งไม่ใช่คนที่ทำอินทรีย์ แต่เป็นคนที่ประกาศว่าทำอินทรีย์แต่มีสารปนเปื้อน เราจึงอยากให้มีพันธมิตรเยอะๆ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจมาทำอินทรีย์ด้วย เพราะทรัพยากรประเทศไทยเหมาะกับทำเกษตรอินทรีย์มาก ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะทำตอนไหน

    เกษตรอินทรีย์ไม่เหมาะกับคนขี้เกียจ

    ตลาดอินทรีย์ในประเทศไทยใหญ่มาก แต่อินทรีย์ที่ทำจริงๆ นั้นน้อยมาก ชอบมีการโปรโมทว่าทำเกษตรอินทรีย์สิ ลดต้นทุน แต่ความจริงแล้วคนไทยมีความขี้เกียจเล็กๆ ถ้าใช้สารเคมีก็แค่ฉีดไม่ต้องใส่ใจมากก็จะงอกเงยผลออกมา แต่ถ้าทำเกษตรอินทรีย์คือต้องใช้แรงคนคอยเก็บหนอนแมลง เมื่อขี้เกียจก็จะทำไม่ได้ ฉะนั้นเราเลยเปิดคอร์สสอนเพื่อไม่ต้องให้เขาไปจับแพะชนแกะทดลองทำว่าอันไหนผิดถูก เมื่อเขาเอาความรู้นี้ไปทำปุ๊บก็สามารถทำเป็นอาชีพได้เลย

    เป็นฟาร์มเดียวในประเทศไทยที่ทำอินทรีย์แบบครบวงจร

    เราเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย ที่เป็นรูปแบบทำเองส่งออกเอง ไม่มีเครือข่าย เพราะเรายังไม่มีทุนพอที่จะไปดูแล อีกอย่างเราเห็นแล้วว่า ความใจดีทำให้เกิดความอะลุ่มอล่วย เช่น มีเกษตรกรมาบอกว่าขอใช้ยาฆ่าแมลงหน่อยนะ เพราะผักไม่ขึ้นเลย ถ้าไม่มีผักไปขายก็ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นเราคงให้เงินเกษตรกรคนนั้นไปแล้วนำผักไปทำลายทิ้ง ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ตอนนี้เลยทำได้เพียงเผยแพร่ความรู้ไปยังผู้ที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ ก่อน

    คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเปลี่ยนวิถีเป็นอินทรีย์

    ถ้ามีเวลาและชอบท่องเที่ยว ให้ไปดูในสถานที่ที่บอกว่าปลูกแบบไร้สารเคมีเลย ลงไปดูว่าดินเป็นอย่างไร มีแมลงไหม ถ้าไม่มีอันนี้น่ากลัว เพราะถ้าดินธรรมชาติจริงๆ ต้องมีแมลง ต้องดูผึ้ง แมลงปอ ผีเสื้อ ชันโรง คือถ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ดีใจได้เลยว่าอินทรีย์แน่นอน หรือสำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็ให้ดูตราผลิตภัณฑ์ว่าเชื่อถือได้ไหม นอกจากนี้ ต้องใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ คือเสิร์ชว่าผักผลไม้ชนิดใดที่ติดลิสต์มีสารเคมีตลอด ก็เลี่ยงสิ่งนั้น หรือง่ายๆ ก็ดื่มน้ำเพื่อช่วยชำละล้างสารเคมีในร่างกาย ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาด ทานให้หลากหลาย รวมถึงอะไรที่เป็นพืชเศรษฐกิจพยายามอย่าไปยุ่ง หรือถ้าปลูกกินเองเลยก็จะช่วยได้มาก