สร้างความคึกคักให้กับคนกรุงอย่างมาก สำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design week 2020 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนอย่างล้นหลาม แต่มากกว่านั้นคือ ได้แสดงถึงศักยภาพของกรุงเทพฯ ที่สามารถสร้างสรรค์งานยิ่งใหญ่ให้ทั่วโลกจับตา BLT จึงมาจับเข่าคุยกับ คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ผู้นำพากรุงเทพฯ สู่มหานครสร้างสรรค์
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่เมือง
จากรายงานสหประชาชาติคาดว่า ปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน โดยสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 เป็น ร้อยละ 68 ทำให้เกิดแนวคิดการวางแผนและบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จึงต้องส่งเสริมเมืองให้มีคุณลักษณะ “Resilience” คือมีความทนทานและการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากผลกระทบต่างๆ โดยภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการทำความเข้าใจ และวางแผนการพัฒนา บริหารจัดการที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย นำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
อธิบายคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนทิศทางไปอิงกับระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนจากองค์ความรู้เดิมร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมหาศาล
เม็ดเงินที่ไทยได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ประเทศไทยในปี 2560 มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์คิดเป็น 9.1% ของ จีดีพี หรือ 1.4 ล้านล้านบาท มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553-2560 เติบโตเฉลี่ย 5.61% โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3 สาขาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 285,179 ล้านบาท ตามด้วย อาหารไทย 197,741 ล้านบาท และการออกแบบ 187,934 ล้านบาท
ผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางครีเอทีฟ
ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2562-2565 นั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลักดันมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ของจีดีพี CEA จึงต้องเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากร การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจ และการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งการจัดงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงภารกิจทั้ง 3 ด้านนี้ได้อย่างชัดเจน โดยสองปีที่ผ่านมามียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วไม่น้อยกว่า 400,000 คน
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2020
Bangkok Design Week คือเทศกาลสำคัญซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือ-ข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่างๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก ลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม และบริการขนส่งมวลชน ฯลฯ
เล่าถึงผลตอบรับของงาน
สำหรับปี 2020 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม เราได้เพิ่มย่านสร้างสรรค์ขึ้นอีก อย่าง สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ส่วนย่านเจริญกรุงซึ่งเป็นย่านหลักของการจัดงานที่ผ่านมาทั้งสองปี เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น TCDC ที่อยู่ในบริเวณเดียวกับอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ศุลกสถาน อาคารริมน้ำเจ้าพระยาทรงนีโอคลาสสิก ที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้า มัสยิดชุมชนฮารูณอายุกว่า 100 ปี เป็นต้น
ทำไมเจริญกรุงถึงเป็นย่านสร้างสรรค์ในชุมชน
การลงทุนใหม่ๆ โดยภาคเอกชนหลายรายเข้ามาลงทุนและเปิดให้บริการในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมบูทีคโฮเต็ล แกลเลอรีศิลปะที่มากกว่า 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่จัดงานสร้างสรรค์อย่าง Warehouse 30 และ การเติบโตของชุมชน มีการต่อยอดของสินค้าเก่าแก่ภายในชุมชน ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการให้บริการ ผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะกับโลกยุคใหม่มากขึ้น ให้สามารถจำหน่ายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเจริญกรุง ที่เกิดจากการเดินหน้าร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้คนในชุมชน จึงทำให้ภาพของย่านสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เด่นชัดมากขึ้นในทุกๆ ปี