จากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่ชุบ นกแก้ว ได้สร้างการตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยการรีทัชหน้ากากอนามัยใส่ให้ยักษ์วัดอรุณ คราวนี้เขากลับมาอีกครั้งกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คุกคามสังคมเราอยู่ ณ ตอนนี้ ด้วยการออกไปตระเวนถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ในชื่อโปรเจกต์ “บันทึกสงครามโรคโควิด-19” ซึ่งทาง BLT ได้ถือโอกาสชวนเขามาคุยกันแบบหมดเปลือกถึงที่มาของภาพชุดนี้ ตลอดจนการปรับตัวในฐานะเจ้าของธุรกิจ-ช่างภาพ ในวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่นี้
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ “บันทึกสงครามโรคโควิด-19”
จริง ๆ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นงานตั้งแต่แรก เหมือนการออกไปถ่ายรูปเหตุการณ์เก็บไว้ ซึ่งช่วงแรก ๆ เราก็ชวนน้องออกไปเดินถ่ายรูปเล่น ที่นี้เหตุการณ์อย่างนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย วันต่อมาเราก็เลยไปของเราเอง ไปถ่ายพวกแลนด์มาร์กต่าง ๆ ว่าแต่ละที่มันเคยเต็มไปด้วยผู้คน เต็มไปด้วยรถรา แต่วันนี้มันเงียบไป ใช้เวลา 2-3 วันตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆของกรุงเทพฯ มันเหมือนอารมณ์แบบครั้งหนึ่งชีวิต แล้วก็เอาไปลงเฟสบุ๊ก ซึ่งข้อดีของเฟสบุ๊กคือทุกปีมันจะเตือนมาว่าวันนี้ ปีนี้ มันเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็เลยโพสต์ไป ที่นี้มันไปถูกจริตกับคนที่เขามีความรู้สึกเหมือนเรา ก็เลยถูกแชร์ไปเรื่อย ๆ จนตัดสินใจรวมเป็น “บันทึกสงครามโรคโควิด-19” คือเหมือนสงครามโลก แต่ใช้คำว่าโรค ให้เข้ากับวิกฤตในยุคสมัย แต่จริง ๆ ตอนแรกคิดแค่ว่าจะถ่ายเก็บไว้ดูเล่นและก็แบ่งปันกันดู แต่มันก็กลายเป็นได้รับความนิยมในวงกว้าง
อย่างงานล่าสุดที่เป็นการเปรียบเทียบกรุงเทพฯก่อน และหลังโควิด-19 เกิดมาจากไอเดียที่เคยมียุคหนึ่งได้ไปถ่ายภาพให้กับบริษัทประกัน ที่ให้ไปถ่ายบรรยากาศความวุ่นวายของกรุงเทพฯ แล้วเห็นว่าช่วงนี้ถนนมันโล่งก็เลยออกไปตระเวนถ่ายเกิดเป็นงานกรุงเทพก่อน และหลังโควิด-19
แล้วจริง ๆ โปรเจกต์บันทึกสงครามโรคโควิด-19 เราไปตระเวนถ่ายมาหลายที่มาก ๆ ที่ปล่อยออกมายังเป็นแค่ส่วนหนึ่ง และก็ยังมีองค์กรต่าง ๆ มีโปรดักชั่นเฮ้าส์มาขอซื้อภาพ มีหลายคนอยากได้รูปเราไปทำภาพยนตร์ ก็สร้างรายได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นความโชคดีไป แต่เราก็ไม่ได้ขายแพงเพราะเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นงาน ก็เป็นผลพลอยได้ไป แล้วอีกอย่างงานพวกนี้พอนาน ๆ ไปมันก็จะมีมูลค่าในตัวของมันเอง
เพจ “ภาพเพื่อพ่อ” คอมมูนิตี้สำหรับคนรักในหลวง
เพจภาพเพื่อพ่อ เกิดจากเมื่อตอนวันที่ 5 ธันวาคม ที่เราวาดรูปไฟฉายเป็นภาพไฟรูปในหลวง แล้วก็ทำเป็นเพจต่อมาได้ 4-5 ปี ซึ่งเกิดจากความรู้สึกเราที่เวลาไปไหนก็เจอแต่รูปในหลวง ก็เลยชวนเอารูปในหลวงมาโพสต์ในกลุ่ม ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังทำ ถ้าไปไหนแล้วเจอรูปท่านเราก็ถ่ายแล้วก็โพสต์ไป ซึ่งงานส่วนตัวพวกนี้มันไม่ได้มีมูลค่าอะไรหรอก แต่ว่ามันได้คุณค่าทางจิตใจ เราเป็นช่างภาพ เรามีความสุขเวลาไปเจอภาพของพระองค์ท่านก็ถ่ายเอามาโพสต์ เกิดเป็นเพจ “ภาพเพื่อพ่อ” เพราะความสุขของเราไม่ว่าด้านไหนมันก็มาจากการถ่ายภาพ และเราไม่ได้มีความสุขจากทางอื่น แล้วพอความสุขเรามันเป็นงานได้ มันก็เลยไม่เหนื่อย
“พาแม่เที่ยวรอบโลก” งานที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุดของชุบ นกแก้ว
งาน “พาแม่เที่ยวรอบโลก” เป็นงานที่ทำจากความรู้สึกเราจริง ๆ แล้วพองานมันปล่อยออกไป มันก็ไปโดนใจลูก ๆ แบบแฝงความรู้สึกจริง ๆ ของลูกที่แบบมีความคิดถึงแม่เหมือนเรา เพราะตอนทำงานก็ไม่ค่อยได้พาแม่เที่ยว พอจะพาไปเที่ยวแม่ก็แก่แล้ว เราก็เลยใช้การตัดต่อรูปแม่เข้าไปยังสถานที่ที่เราเคยไปมา แล้วมันเป็นงานที่ดังไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย ทำให้มีคนรู้จัก เราทำโฆษณามา 20 กว่าปีไม่มีคนรู้จัก แต่พอทำแคมเปญนี้คนรู้จักหมดเลย แต่จริง ๆ ตอนทำก็ไม่ได้คิดว่าจะโดนใจ เราก็ไปโพสต์ตอนวันแม่ แล้วทุกวันที่ 12 สิงหาคม เราเอารูปเซ็ตนี้มาโพสต์อีก เราก็ยังรู้สึกมีความสุขกับมันอยู่ตลอด
เบื้องหลังงานยักษ์วัดอรุณใส่หน้ากากอนามัย
จริง ๆ แล้วงานวัดอรุณเกิดขึ้นหลังโปรเจกต์พาแม่เที่ยว ช่วงที่มีวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ได้คอนเซปต์มาจากการดูทางทีวีว่าคนจะต้องสวมหน้ากาก แต่พอเดินออกไปก็ยังเห็นคนไม่ค่อยสวม เลยเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่ไม่สวมรู้ว่ามันมีอันตราย อาจเพราะว่าตาเรามองไม่เห็น มันก็เลยไม่รู้สึกว่าอันตราย จึงเกิดความคิดไปถ่ายรูปปั้นยักษ์ที่ยืนอยู่กลางแจ้ง แล้วก็มารีทัชหน้ากากอนามัยลงไป พอโพสต์ไปก็เป็นเรื่องเป็นราว ถึงขั้นมีตำรวจเรียกไปที่สน. เพราะมีคนไปแจ้งว่าเราไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเขาเข้าใจว่าเราปีนขึ้นไป ก็เลยหาว่าไปทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุ แต่จริง ๆ มันเป็นงานรีทัช ก็เลยต้องเข้าไปที่สน. แล้วก็เข้าไปที่วัดอรุณ ก็มีทางเจ้าอาวาสเข้ามานั่งคุย ก็ปรับความเข้าใจกันไป แล้วเรื่องมันก็จบ ตอนหลังท่านยังชมเลยว่าแบบทำเนียนดีนะ
ความสำเร็จในโกลด์คานส์
จะมีอยู่ 2-3 ครั้งที่ไปได้รางวัลระดับโลก ก็จะมีงานที่ล็อกจักรยาน อันนี้เป็นงานที่ไปได้รางวัลที่คานส์ตัวแรก แล้วก็ทำให้คนในวงการโฆษณารู้จักเรา แล้วก็เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ก็มีงานตัวกาแฟอาราบัส เป็นคอนเซปต์เกี่ยวกับถ้าดื่มกาแฟแล้วมันจะทำให้คุณไม่เผลอหลับ แล้วไปโดนตัดต่อในโลกโซเชียล แล้วพี่ก็ตัดต่อรูปคนเผลอหลับล้อในโลกโซเชียล และก็มันเข้ากับกระแสตอนนั้นพอดี มันก็เลยได้รางวัล เพราะมันจะมียุคหนึ่งที่งานปริ้นมันกำลังบูม ๆ ก็ส่งประกวด และก็ได้รางวัล ซึ่งเราก็ถือว่าประสบความสำเร็จในสายอาชีพ มันรู้สึกว่าเราได้ทำงานภาพที่สนุก และตอบไอเดีย ตอบโจทย์จนโลกยอมรับ
งานถ่ายภาพแนวเซ็กซี่ ความสุขส่วนตัวนอกเหนือจากงานโฆษณา
เราเป็นคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยว ก็เลยมาลงที่การถ่ายรูปเซ็กซี่ ซึ่งในงานปกติเราไม่ได้ถ่าย เกิดเป็นการถ่ายแนวอีโรติก เพราะว่าพอเราจับกล้องต่อให้สาวสวย ดารา นางแบบที่ไหนก็ยิ้มให้เรา แต่ว่าในชีวิตจริงมันเป็นไปได้ยาก แต่ตอนแรกก็ถ่ายเล่น ๆ นะ พอถ่ายไปมา มันประจวบกับยุคที่ไอจีมาใหม่ ๆ พอลงไอจีคนก็เริ่มดู เริ่มสนใจ แล้วก็มีคนชอบเหมือนเรา ก็ทำมาจนทุกวันนี้ที่ลงวันละรูปมันเหมือนเป็นหน้าที่ไปแล้ว เราก็สนุกของเราไป ส่วนงานจริงก็ยังทำอยู่
การยอมรับในสังคมต่องานถ่ายภาพแนวเซ็กซี่
เราไม่อยากพูดว่าเป็นงาน อันนี้มันเป็นส่วนที่ทำแล้วเรามีความสุขมากกว่า ก็เลยไม่ได้ไปดูว่าได้รับการยอมรับไหม แต่เราว่ายังไม่ค่อยได้รับการยอมรับหรอก ตอนที่ถ่ายงานแนวนี้ใหม่ ๆ ก็มีคนมาบอกว่า “พี่ชุบทำงานมีชื่อเสียงขนาดนี้ ไปถ่ายรูปอย่างนั้นมันจะดูไม่ดีไหม” เราก็ถามเขาไปว่าเราทำแล้วเรามีความสุขไหม ถึงเขาจะมองเราไม่ดียังไง แต่ถ้าเราทำแล้วมีความสุข ก็ทำไปเถอะ แต่เราก็ต้องยอมรับในการที่โดนมองแบบดูถูก คือมันมีสองด้านนั่นแหละ แต่ที่นี้พอเราเลือกว่าเราจะกลัวไหม เราก็ถือว่าเราทำไป เรามีความสุขของเรา แล้วมันก็จะมีกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกัน ก็มาติดตามเรา จนทุกวันนี้ก็มีคนมาจ้างให้ถ่ายแนวนี้ ซึ่งเราก็พยายามจะรับน้อย ๆ นะ ไม่อยากให้มันเป็นงานหลัก
กิจกรรมที่อยากทำหลังพ้นวิกฤตโควิด-19
แม่เราอยู่ที่เพชรบุรี แล้วตอนนี้แกก็ไม่สบาย พ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ไป เราก็คงไปหาแม่ แต่หลัก ๆ คือขอทำงาน เพราะตอนนี้งานคือหายไปเลย แบบไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่เราทำงานมา จริง ๆ มันก็เคยมีปี 2540 ที่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่มันก็ไม่ได้แย่ขนาดตอนนี้ แล้วตอนนั้นบริษัทยังมีไม่กี่คน แต่วิกฤตตอนนี้ถ้ามันอยู่แค่เดือนสองเดือนมันก็ยังโอเค แต่ถ้านานกว่านี้เราก็ต้องเรียกน้องในบริษัทมาคุย แต่ก็ไม่อยากให้ถึงขนาดนั้น
สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือในวิกฤตโควิด-19
ในส่วนของภาครัฐเราว่าเขาก็ทำอยู่นะ แต่ว่ามันก็คงมีข้อจำกัดเรื่องต่าง ๆ นั่นแหละ อย่างโครงการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็คงไม่มาถึงพวกเราหรอก อันนั้นก็ให้คนที่เขาเดือดร้อนจริง ๆ ไป แต่สิ่งที่อยากบอกก็คืออยากให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง และสังคมมากกว่า อย่าให้เราไปเป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่น เหมือนอย่าง Chubcheevit Studio เราก็ให้น้อง ๆ หยุดกันไปเลย แต่ว่าไปไหนมาไหนก็ให้รู้ขอบเขตว่าเราไม่ควรเอาตัวเองไปเสี่ยง เพราะส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้วิกฤตมันผ่านไปได้เร็วที่สุด ก็คงเป็นการหยุดอยู่บ้านนี่แหละ