จากสวนมะพร้าวที่รกร้างไปนานนับสิบปี การขาดเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด เตาเคี่ยวตาลที่ผุผัง ฯลฯ ดูเหมือนจะเป็นเหตุตั้งต้นอย่างดีที่ทำให้ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าวของผู้คนในต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เริ่มสูญหายไป แต่ด้วยความรัก และความมุ่งมั่นของคุณเอก-อัครชัย ยัสพันธุ์ เกษตรกรอินทรีย์หนุ่ม จึงเกิดเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล ซึ่งในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราจะสัมผัสได้ถึงความรักในการทำงานอนุรักษ์การทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างจริงใจ
จุดเริ่มต้นแห่งความหวาน จากการทำเฉพาะน้ำตาลมะพร้าวสู่การเปิดการท่องเที่ยวเชิงชุมชน
“ตอนแรกก็มีเรากับพี่เก๋-ศิริวรรณ ประวัติร้อย อีกคนที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาลขึ้นมา คือพี่เก๋เป็นคนในชุมชนที่เติบโตมาในพื้นที่ แล้วเห็นว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวในชุมชนเริ่มหายไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายวันที่เราเริ่มก่อตั้งขึ้นมา ก็เหลือพี่เก๋แค่คนเดียวที่ยังพอทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่ได้ เลยเกิดความคิดอยากทำเรื่องน้ำตาลอนุรักษ์ ก็เริ่มมาประมาณปี 2017 ครับ ซึ่งที่จริงต้องบอกว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนมาก่อนการจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวด้วยซ้ำ เพราะว่าวันแรกที่เราเริ่ม หลังคุยกับพี่เก๋ว่าเราอยากอนุรักษ์อาชีพนี้ อยากให้มันอยู่ได้ ก็เลยไปสำรวจสวนกันว่ามันผลิตไม่ได้เพราะอะไร ก็พบว่าสวนหลายที่รกร้างไปนานหลายสิบปีแล้ว แล้วตอนนั้นสมาชิกในกลุ่มนี่อายุ 60 ขึ้นหมดเลยครับ มีแค่พี่เก๋ที่อายุ 40 ปี แล้วก็มีพี่ไก่-กฤศณพันธ์ อารักษ์ ที่ตอนนี้ขึ้นตาลอยู่ที่อายุ 37 ปี นอกนั้นอายุ 60 – 80 ปีทั้งนั้นเลย ก็ขึ้นตาลไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน แล้วต้องไปจ้างคนมาขึ้น พอจะไปจ้างคนมาขึ้น ก็พบว่าคนรุ่นหลังก็ไม่กลับมาทำอาชีพนี้แล้ว มันก็ไม่มีคนขึ้นตาล หรือถ้าสมมุติว่าหาคนขึ้นได้อีก เตาหลอมน้ำตาลหลาย ๆ ที่ก็ผุพังไปแล้ว คือพอเรามองทุกอย่างแล้ว พบว่ามันทำไม่ไหวแน่ ๆ ก็เลยเปลี่ยนแผน”
“ที่นี้ก็มานั่งวิเคราะห์กันว่าเรามีอะไรอยู่ในมือบ้าง ก็เลยคิดว่าเปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ดีกว่าไหม เราให้คนเขาเข้ามาเห็นดีกว่าว่าจริง ๆ แล้วขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวมันเป็นยังไง ถ้าเขาได้เห็นมันตั้งแต่เริ่มจริง ๆ เขาน่าจะรู้ว่าน้ำตาลมะพร้าวมันมีคุณค่าอย่างไร มันสมควรที่จะเป็นราคาเท่าไหร่ ก็เลยจัดเป็นกิจกรรมแทนดีกว่า ลงทุนไม่สูงด้วย เพราะทุกคนก็ทำน้ำตาลกันเป็นหมดเลย มีเตาเก่าที่พอจะรื้อเอามาโชว์ได้ จึงตัดสินใจใช้สวนของพี่ไก่เป็นหลักแล้วกัน อุปกรณ์เก่า ๆ ที่เก็บเอาไว้ ก็เอามาล้าง”
“เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่ผู้มาเยี่ยมชมจะได้ประสบการณ์ตั้งแต่เข้าสวนไปด้วยกัน ไปชิมน้ำตาล ไปเจาะมะพร้าวโดยตรง เห็นขั้นตอนการทำสวนอินทรีย์ การเอาน้ำตาลไปเคี่ยว คือเขาได้เห็นข้อมูลทุกสเต็ป ได้ลองทำ ได้ลองชิม มันก็ไปช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการยอมรับในราคาน้ำตาลแบบนี้ได้ สุดท้ายมันก็เลยมีคนต้องการเยอะขึ้น”
ก้าวกระโดดของการเผยแพร่ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าว ในงาน Bangkok Design Week 2020
“งานนี้เป็นโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับพี่พาร์ทเนอร์อีกคนชื่อพี่กัล-ภาวิดา กฤตศรัณย์ ซึ่งเป็นทีมวัตถุดิบนิยมที่เป็นออแกไนซ์ ช่วยจัดการ เพราะไอเดียเริ่มมาจากที่พี่กัลซึ่งเข้ามาชวน หลังรู้ว่าเราทำเรื่องอนุรักษ์น้ำตาลมะพร้าว แล้วพอดีพี่เขาก็สนใจในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เลยคิดว่างาน Bangkok Design Week 2020 ซึ่งหัวข้อใหญ่ครั้งนี้มันน่าจะเหมาะกับเพียรหยดตาล เพราะเป็นหัวข้อเรื่อง “ปรับตัว อยู่รอด เติบโต” ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ไปออกงาน”
“ที่จริงมันเป็นงานออกแบบ ต้องบอกว่าตอนแรกเราก็นึกภาพไม่ออก ว่าเราจะไปอยู่ในงานออกแบบทำไม แต่เหมือนพี่กัล เขาก็ช่วยอธิบายภาพให้เข้าใจว่า งานออกแบบมันไม่ใช่เรื่องของการออกแบบอย่างเดียว แต่มันเหมือนเป็นการแก้ปัญหาบางอย่าง ทุกอย่างมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของความสวยงาม คราวนี้เพียรหยดตาลก็ต้องมีการออกแบบ การสื่อสาร เพื่อให้คนที่เขาไม่รู้ว่าสถานการณ์ของน้ำตาลมะพร้าวเป็นอย่างไร ได้เข้าใจ”
“ซึ่งพี่กัลเขาก็เล่าให้ฟังว่าที่จริงคนกรุงเทพฯ ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร แล้วตอนที่เขาอธิบายให้เราฟังมันก็ทำให้เราสนใจว่าการที่คนกรุงเทพฯ ได้รู้ข้อมูลจากเรา มันจะทำให้เขาเข้าใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารของเขาได้ดีขึ้น แล้วคนที่ซื้อน้ำตาลมะพร้าวจากเราส่วนใหญ่ก็เป็นร้านค้า หรือคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เราก็รู้สึกว่าถ้าได้ไปสื่อสารยังกลุ่มผู้บริโภคของเราโดยตรง ให้เขาได้รับรู้ถึงกระบวนการทำน้ำตาล ว่ามันมีที่มาอย่างไรก็น่าจะดี ซึ่งเราก็ได้ไปจัดแสดงมาเมื่อวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563”
โดยสื่อสารผ่าน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. นิทรรศการ (Exhibition) ให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าว
2. การแมตซ์กับทางทีมปิ่นโตสุขภาพ ซึ่งสื่อสารผ่านการทำเวิร์กชอป ปิ่นโตสุขภาพ โดยใช้วัตถุดิบของชุมชนของเรา คนที่มาเขาก็จะได้รู้ทั้งเรื่องที่มาของการทำน้ำตาลมะพร้าว ว่าที่เราเข้าใจว่าเมื่อก่อนมันทำได้แต่ขนมไทย อาหารไทย มันไปประยุกต์ใช้ให้มันร่วมสมัยกับวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างไร
3. ก็จะเป็นการที่เชฟปู-ปูริดา ธีระพงษ์ ที่ใช้วัตถุดิบน้ำตาลมะพร้าวจากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาลของเราเป็นหลัก ในการทำอาหารที่งาน”
เสน่ห์แห่งความหวานจากน้ำตาลมะพร้าวของกลุ่มเพียรหยดตาล
“จุดเด่นน่าจะอยู่ที่กระบวนการทำน้ำตาลมะพร้าวของเรามากกว่า คือเราจะทำให้มันสอดคล้องตามธรรมชาติมากที่สุด อย่างเช่นว่าในฤดูร้อนน้ำตาลก็อาจจะมีโอกาสติดรสชาติฝาดได้ แต่ในฤดูหนาวน้ำตาลก็จะอร่อย โดยธรรมชาติของมันเอง แล้วเนื่องจากพื้นที่ของเราเป็นน้ำเค็ม น้ำตาลของกลุ่มเราก็จะมีรสชาติเค็มโดยธรรมชาติ แต่เราจะไม่ไปปรุงแต่ง ความที่มันไม่คงที่ในแต่ละฤดูกาลของมัน เป็นเสน่ห์ของน้ำตาลมะพร้าวของเราที่ทางกลุ่มอยากให้มันเป็นแบบนี้ โดยธรรมชาติของเราเอง พอเราไม่ได้ไปปรุงแต่งอะไร เราก็ได้รสชาติของกลิ่น แล้วก็รสชาติสัมผัสของน้ำตาลมะพร้าวที่แตกต่างไปในแต่ละวัน ซึ่งเราก็สื่อสารว่ามันเป็นเสน่ห์ของมัน แล้วเราก็ใช้พวกเศษไม้พยอมแทนสารกันบูด”
“แต่ทั้งนี้ถ้าเราสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น สมาชิกคนอื่น ๆ ก็จะได้กลับมาทำได้ จากที่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะจุดประสงค์ของเราคือต้องการอนุรักษ์อาชีพนี้ และเราก็อยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วย โดยตอนนี้สินค้าหลักของเราก็เป็นน้ำตาลมะพร้าวครับ แต่แตกต่างที่บรรจุภัณฑ์แค่นั้นเอง เพื่อจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน อย่างถุงซีล (1 กก.) เราก็ไม่มีโลโก้ ไม่มีอะไรเลย เราไม่อยากให้มันไปสิ้นเปลืองในเรื่องบรรจุภัณฑ์ และก็มีกระปุกพลาสติก (400 ก.) กับแบบกระปุกแก้ว (250 กรัม) ที่ออกแบบมาให้ดูน่ารัก เพื่อให้คนที่อยากซื้อไปเป็นของฝากครับ”
ช่องทางการติดต่อ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล ตั้งอยู่ที่ 60/2 หมู่ 1 ต.นางตะเคียน อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม
FB : เพียรหยดตาล / เบอร์โทรศัพท์ 089-944-4841 / http://www.pleanyodtarn.com