ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำโครงการโลกของช้าง (Elephant World) เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายวัฒนธรรมระหว่างคนกับช้าง ณ หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตคนกับช้างอาศัยอยู่ด้วยกันจำนวนมาก โดยได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio และเจ้าของรางวัล The Royal Academy Dorfman Award 2019, The Royal Academy of Arts ,London และ ศิลปินศิลปาธร ประจำปี 2562 เข้ามารับหน้าที่ออกแบบโครงการ โดยใช้เวลากว่า 5 ปีกว่าจะสำเร็จลุล่วง และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
BLT จึงชวนพูดคุยกับ ผศ.บุญเสริม ผู้ออกแบบโครงการฯ นอกจากคุยถึงเรื่องการออกแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งสุดยิ่งใหญ่แล้ว ผศ.บุญเสริม ยังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตระหว่างคนกับช้างที่อาศัยอยู่ด้วยกันแบบที่ไม่เคยพบในโลก เป็นชีวิตที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองมากว่า 360 ปี ผ่านงานสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์และช้าง
โครงการโลกของช้าง สร้างงาน สร้างโอกาส ให้ชุมชน
“โลกของช้าง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งรัฐบาลให้งบประมาณมาสนันสนุนในการอนุรักษ์หมู่บ้านช้าง หรือหมู่บ้านชาวกูย ที่มีวิถีชีวิตคนกับช้างอยู่ด้วยกัน ซึ่งแตกต่างและไม่เหมือนที่ไหนในโลก ถือเป็นลักษณะเด่นของหมู่บ้านช้างที่นี่” ผศ.บุญเสริม เริ่มเล่าถึงจุดประสงค์หลักในการสร้างโครงการโลกของช้าง
สาเหตุที่รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการนี้ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มีปัญหาเกี่ยวกับช้างมากมาย อย่างที่เรารับรู้คือ ช้างกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เมื่อช้างมาอยู่ในเมือง ก็เกิดปัญหามากมาย ทั้งการเจ็บป่วย ตาย การเกิดอุบัติเหตุ และกีดขวางการจราจร รัฐบาลจึงมีนโยบายพาช้างกลับบ้าน ซึ่งช้างส่วนใหญ่ที่เข้ามาในเมืองนั้นเดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีช้างมากที่สุด ฉะนั้น โครงการโลกของช้าง นอกจากจะเพื่อพาช้างกลับบ้านแล้ว ยังทำให้ช้างกลับมาสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ชุมชนที่อยู่ในหมู่บ้านช้างด้วย
เมื่อถามถึงอุปสรรคในการเริ่มต้นทำโครงการฯ ผศ.บุญเสริม เล่าว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะเขารู้ว่าหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน และรู้ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปให้ หรือให้เงินเดือนเท่านั้น ซึ่งโดยปกติช้างจะมีเงินเดือน รัฐบาลให้เงินเดือนช้างเพื่อให้คนนำเงินไปดูแลช้าง ความหมายคือช้างอยู่ได้ คนก็อยู่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่พอ เพราะการที่ให้เงินอย่างเดียวไม่ได้เกิดประโยชน์
“ผมถือว่าโครงการนี้ช่วยให้พื้นที่หนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการรักษาวัฒนธรรม สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ นี่เป็นวิธีคิดที่ดี ซึ่งโดยปกติแล้วงบประมาณต่างๆ ที่ออกมา กว่าจะมาถึงสัตว์นั้นทีหลังเลย เพราะหลักๆ ก็จะคิดถึงคนก่อน แต่เมื่อคิดถึงสัตว์ก่อนก็ทำให้คนอยู่รอดได้ เมื่อคนรอด ธรรมชาติ ป่า แหล่งน้ำ ทุกอย่างก็อยู่รอด เพราะนี่คือวงจร”
การทำงานในแบบ Bangkok Project Studio
ผศ.บุญเสริม ใช้เวลาในการออกแบบ ศึกษาข้อมูล ทำวิจัย เพื่อเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และอุปนิสัยของช้าง เพื่อหาวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ผมเริ่มวาดภาพในหัวก่อนว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นโครงการสูญเปล่า เพราะเงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชน สำคัญที่สุดคือทำแล้วต้องไม่ดูถูกคนดู ไม่ดูถูกคนมาเที่ยว แปลว่า สิ่งต่างๆ อาคารก่อสร้าง ทำแล้วต้องมีคุณค่า มีเรื่องราวบอกเล่าชีวิตของชุมชน”
ในการทำงานของ ผศ.บุญเสริม และ Bangkok Project Studio เริ่มจากการทำวิจัย เพื่อให้ได้เห็นภาพกว้างและลึก เชื่อมโยงได้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่ในหมู่บ้าน แต่มองไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ ประชากร สิ่งแวดล้อม และช้าง
“ชีวิตชาวกูยและช้างเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยพบในโลก เป็นชีวิตที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในพื้นที่แห่งนี้ มากว่า 360 ปี คนและช้างอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน มีความสัมพันธ์เสมือนลูกหลาน มากกว่าที่จะเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไป อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย มีประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางคชศาสตร์เกี่ยวกับช้างเป็นมรดกสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน”
ผศ.บุญเสริม เล่าถึงประสบการณ์ที่มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับชาวกูยให้ฟังว่า “อย่างคุณลุงคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของช้าง ช้างเกิดอาการตกมันไปแทงลูกของคุณลุงจนเสียชีวิต แต่คุณลุงก็ยังเลี้ยงช้างตัวนั้นไว้จนถึงปัจจุบัน ลุงไม่ได้โกรธ เพราะเป็นธรรมชาติของช้างที่จะเกิดอาการตกมัน จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น นี่คือเหตุสุดวิสัย จะไปยิงช้างทิ้งให้ได้อะไร”
“ชาวกูยเลี้ยงช้างเหมือนสมาชิกในครอบครัว เหมือนลูกหลาน ดุได้ว่าได้ คนเลี้ยงเป็นอย่างไรช้างก็เป็นอย่างนั้น คนอารมณ์ดีช้างก็อารมณ์ดี หลักการเดียวกับพ่อแม่เป็นอย่างไรลูกเป็นอย่างนั้น แต่บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของช้าง เมื่อช้างตกมันเขาก็จะจำใครไม่ได้ คนเลี้ยงก็ต้องมีวิธีการป้องกัน จัดการในแบบคนเลี้ยงช้าง”
“ผมว่านี่คือปรัชญาธรรมชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นคือได้เห็นถึงทัศนคติ ซึ่งเรื่องนี้สอนกันไม่ได้ เป็นทัศนคติที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านว่าเขาสามารถอยู่ร่วมกับช้างได้ เมื่อผมลงไปสัมผัสถึงและได้เรียนรู้”
ลมหายใจชาวกูย ชีวิตระหว่างคนกับช้าง
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์กูยนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่สันนิษฐานได้ว่า ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กูยถือว่าเป็นชนชาติกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หนาแน่นที่สุดคือ พื้นที่จังหวัดสุรินทร์
“ชาวกูยกระจัดกระจายกันไปในหลายหมู่บ้าน แต่ที่หมู่บ้านตากลาง มีการรวมตัวชาวกูยผู้เลี้ยงช้างมากที่สุด ชาวบ้านอยู่กับช้างกันอย่างราบรื่น จนมาถึงช่วงเศรษฐกิจเติบโต ทุกคนหันมาทำพืชเศรษฐกิจ เมื่อไม่มีพื้นที่ปลูกก็ต้องไปถางป่า ทำให้ช้างไม่มีที่อยู่ ไม่มีแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ เกิดความยากลำบาก ชาวบ้านไม่มีอาชีพอื่น เพราะเขามีอาชีพเดียวคือเลี้ยงช้าง ทำให้เกิดปัญหา ทั้งคนทั้งช้างเลยออกมาตายเอาดาบหน้า” ผศ.บุญเสริม เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงการพาช้างกลับบ้าน
“เรากำลังมุ่งแข่งขันด้านเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง แต่ชีวิตชาวชนบทกลับแย่ลง คนเลี้ยงช้างพาช้างไปขอทาน แลกเงิน ซื้ออาหาร ทำเครื่องรางต่างๆ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็น ก็ถ่ายรูปออกไป กลายเป็นภาพจำว่า ประเทศไทยมีการทรมานสัตว์ในลักษณะนี้ แต่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่รู้ที่มาว่า เพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา”
“การนำช้างกลับบ้าน เพื่อพวกเขาจะได้มีคนดูแลที่ถูกต้อง ที่นี่มีโรงพยาบาลช้าง สาธารณสุข โรงดูแลช้างชรา และมีสุสานช้าง มีพิธีประเพณีต่างๆ เป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมไปถึงมีแหล่งปลูกพืชเพื่อให้ช้างกินอาหารได้อย่างเหมาะสม มียาสมุนไพรสำหรับช้าง เรื่องเหล่านี้เกิดจากการสืบทอดต่อๆ กันมา หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ต้องลงไปสัมผัสถึงจะทราบเรื่องราว ”
“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อช้าง แต่ทำเพื่อให้คนอยู่รอดด้วย ผมเชื่อว่าเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ทุกคนจะอยากเข้าไปเยี่ยมชม เมื่อถึงเวลานั้นก็เป็นหน้าที่ของคนในชุมชนว่าจะทำอะไรต่อไป”
ออกแบบโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับโครงการโลกของช้าง ในส่วนที่ ผศ.บุญเสริม รับหน้าที่ดูแลและออกแบบ ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์ หอชมวิว และลานแสดงวัฒนธรรมของช้าง
“ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้คือที่โล่ง ผมต้องทำให้พื้นที่โล่งนี้มีเรื่องราว พิพิธภัณฑ์ในความหมายของผม ไม่ใช่แค่ตัวอาคาร แต่คือทุกอย่าง ตั้งแต่อาคาร หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ 300-400 ปี ต้นไม้ ภูมิทัศน์ดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้คือพิพิธภัณฑ์”
“ผมต้องการเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้และให้มันค่อยๆ เติบโตและฟื้นฟูด้วยธรรมชาติ โดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวตั้งต้น ปลูกทัศนคติของคนในการทำความเข้าใจระหว่างคน ช้าง และป่า จึงเป็นที่มาของเรื่องราว ลมหายใจชาวกูย ชีวิตระหว่างคนกับช้าง”
ผศ.บุญเสริม เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า “เราทราบว่าช้างดื่มน้ำ 200 ลิตรต่อวัน อาบน้ำวันละ 1,100 ลิตร รวมเป็น 1,300 ลิตรต่อวัน มีช้าง 207 เชือก จะต้องใช้น้ำประมาณ 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน แต่สุรินทร์ไม่มีน้ำเพียงพอ ยิ่งช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำมูลแม่น้ำชีแห้ง ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้น้ำ คำตอบคือ ขุดดิน เพื่อให้ได้น้ำมา ส่วนดินที่ขุดขึ้นมานั้นก็นำไปถมทำเป็นอัฒจรรย์ที่นั่ง เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของทรัพยากร”
“เรานำหินบะซอลต์ที่ได้จากเหมืองหินตำบลนาบัว มาทับหน้าเพื่อให้เกิดความแข็งแรง เมื่อขุดลึกได้ระดับหนึ่งแหล่งน้ำก็จะโผล่มา เหมืองหินจึงกลายเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ดินส่วนหนึ่งที่ได้มาก็จะนำไปปั้นเป็นหินส่งเข้าโรงอิฐ นี่คือเห็นผลว่าเมื่อคุณเดินเข้าไปยังโครงการโลกของช้าง ทำไมถึงเห็นแต่อิฐกับดิน เพราะนี่คือการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้แค่น้ำ แต่เมื่อได้น้ำมาแล้วเราจะสามารถปลูกป่าและปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารและยารักษาโรคของช้างได้ด้วย”
พิพิธภัณฑ์ในแบบของ บุญเสริม เปรมธาดา
หากมองเข้าไปในพื้นที่โครงการโลกของช้าง จะเห็นว่าตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นี้ทำด้วยอิฐสีแดง หลายคนขนานนามพิพิธภัณฑ์นี้ว่า อียิปต์สุรินทร์ เมื่อเดินเข้าไปอาจมีเสียงพร่ำบ่นว่าร้อน แต่เมื่อคุณเดินเข้าไปในอาคารจะรู้สึกเย็นขึ้นมาทันที ด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจากฝีมือของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา ผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio
“อาคารพิพิธภัณฑ์นี้ไม่มีมัลติมีเดียใดๆ ใช้แค่แสงแดดแสดงให้เห็นชีวิตของช้างและคน เล่าถึงชีวิตของช้างตั้งแต่เกิดจนตาย เล่าถึงชีวิตของชาวกูย ความสุข ความทุกข์ ความยากลำบาก การไปตายเอาดาบหน้า เล่าถึงข้อกล่าวหาจากคนภายนอก และสุดท้ายผมก็สรุปให้เห็นว่านี่คือวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แท้จริง”
“ผมไม่มีวันเล่าได้ซาบซึ้งเท่ากับคนในพื้นที่ เมื่อคุณเข้าไปคุณจะได้รับรู้เรื่องจริง เมื่อคุณออกไปกลางแจ้ง คุณจะได้เห็นของจริง ได้เห็นความคิดทั้งหมดของผมผ่านสถาปัตยกรรม”
“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ต้องใช้อะไรนอกจากแสงแดดและธรรมชาติในการเล่าเรื่อง ซึ่งในแต่ละวันแสงก็จะเปลี่ยนไป ในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน หากคุณมาไม่ตรงเวลาก็อาจไม่เห็น พรุ่งนี้คุณก็ต้องมาใหม่ นี่คือกลยุทธ์ในการทำให้คนอยากมาเรื่อยๆ พิพิธภัณฑ์ก็จะถ่ายทอดให้เห็นถึงชีวิตของชาวกูยและช้าง เมื่อดูเสร็จแล้วก็กลับออกไป คุณอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ แต่อยากให้รู้ว่า เมื่อคุณออกไปแล้วที่นี่ก็ยังดำเนินชีวิตต่อไป ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่จะเปลี่ยนเขาได้คือธรรมชาติ”
หอชมวิว ห้องรับแขกสำหรับผู้มาเยือน
อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ได้รับความสนใจและมีเรื่องราวมากมายคือ หอชมวิว หรือที่ ผศ.บุญเสริม เรียกว่า Brick Observation Tower ห้องรับแขกสำหรับผู้มาเยือน
“ภาพของอาคารสูงตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แถบชนบทของจังหวัดสุรินทร์ ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากภาพอาคารสูงในเมือง ความตั้งใจที่จะทำอาคารสูงให้เป็นภูมิทัศน์ เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านช้าง อาคารสูงที่เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างผืนดิน ป่า และหมู่บ้าน เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ในความพยายามรักษาวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติ การนำดินขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อสัมผัสอากาศธรรมชาติคือหัวใจของการออกแบบ และเป็นที่มาของ “เสาบ้านช้าง” ที่ไม่ใช่อาคาร แต่เป็นส่วนหนึ่งภูมิทัศน์”
เสาบ้านช้าง เป็นเสาที่ชาวบ้านใช้เป็นที่อยู่ของช้างในช่วงวันที่ช้างต้องอยู่กลางแจ้ง นอกเหนือไปจากการอยู่ร่วมกับคนในบ้านหลังเดียวกัน
หอชมวิวมีความ สูง 28 เมตร กว้าง 8 เมตร ยาว 14 เมตร ทำด้วยอิฐทั้งอาคาร รูปทรงรี มุมแหลมหนึ่งด้าน เพื่อลดแรงปะทะของลม ไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งรับภาระการต้านลมมากเกินไป รวมถึงช่วยให้ลมค่อยไหลไปตามผิวของอาคารส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งค่อยๆ ถ่ายเทเข้าสู่ตัวอาคาร
“นอกจากสร้างหอชมวิวเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสอากาศธรรมชาติและเห็นบริบทความเป็นไปของชาวกูยและช้างจากมุมสูงแล้ว หากคนขึ้นไปปล่อยลูกยางนาลงมา ลูกยางเหล่านั้นก็จะเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณ 29-50 เมตร ถ้าโชคดีลมแรงลูกยางก็ปลิวได้ถึง 100 เมตร เติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งต่อไป”
สถาปัตยกรรมกับคุณภาพชีวิตคนในสังคม
สำหรับโครงการโลกของช้าง จังหวัดสุรินทร์ เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“ผมภูมิใจ เพราะคนก่อสร้างทั้งหมดคือคนสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง เงินไม่รั่วไหลไปไหน แสดงให้เห็นว่านี่คืิอฝีมือของคนในท้องถิ่น ซึ่งนี่คือเจตนารมณ์ของผมที่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เราสามารถใช้ของที่เป็นวัตถุในท้องถิ่น ทั้งอิฐ ดินต่างๆ ก็เป็นของในพื้นที่”
“ผมพูดเสมอว่างานของผมจะไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก ที่ไหนก็ไม่รู้ เข้าถึงยาก แต่ทำให้ทุกคนอยากไป ฉะนั้นงานของผมควรไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี หรือสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีต่อไป นี่คือเป้าหมายในการทำโครงการโลกของช้าง”
“ที่คุณถามผมว่า อาคารที่สร้างนั้นเสร็จหรือยัง ผมบอกเลยว่า ผมออกแบบอาคาร 50% หน้าที่ผมจบแล้ว ส่วนอีก 50% คือธรรมชาติ แสงแดด ลม น้ำ ฝน และคนในพื้นที่ จะเป็นผู้ออกแบบต่อไป ผมไม่สามารถออกแบบดวงอาทิตย์ได้ แต่เป็นดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง นำทางในการออกแบบให้แก่ผม”
“สถาปัตยกรรมของผมทำเพื่อส่วนรวมเป็นสมบัติของสาธารณชน และสาธารณชนทุกคนสามารถเข้าไปหาประโยชน์ได้ ต่อจากนั้นคงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชน ที่จะเข้าไปหาประโยชน์อย่างไร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น” ผศ.บุญเสริม ผู้ออกแบบโครงการโลกของช้าง กล่าวทิ้งท้าย
———————-
ที่ตั้ง : หมู่บ้านช้าง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 32000
โทร. 044511975
Facebook : โลกของช้าง – Elephant World
———————-
ขอบคุณภาพจาก Spaceshift Studio