Tuesday, December 6, 2022
More

    คุยกับ คุณเอ๋-พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของ Poomjai Garden สวนลิ้นจี่ 100 ปีในตำนาน

    เปิดตำนาน Poomjai Garden หนึ่งในสวนลิ้นจี่ 100 ปี ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน

    คุณ เอ๋-พรทิพย์ เทียนทรัพย์​ เจ้าของสวนลิ้นจี่ 100 ปี ผู้มีมิติทางความคิดอันน่าทึ่ง เธอคือหนึ่งในบุคคลตัวอย่างของชาวคลองบางขุนเทียน ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติพื้นที่อันรกร้างให้กลายเป็นเรือกสวนสวยและทรงคุณค่า สร้างประโยชน์ในการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่ถ่ายทอดให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านอันปราดเปรื่อง การคุยถึงตำนานของสวนลิ้นจี่ของเธอครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งต่อชาวกรุง เพราะบอกได้เลยว่า เธอคือนักปราชญ์ นักคิด นักพัฒนา ที่ยืนหยัดอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวให้อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ โดยแท้จริง

    ประวัติความเป็นมา


    “บรรพบุรุษเราเป็นคนสวนค่ะ เมื่อก่อนย่านนี้เป็นพื้นที่สวนทั้งหมด แต่พอเริ่มพัฒนากลายมาเป็นชุมชนเมือง มีตึกรามต่างๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ในปี 2549 เราเริ่มเข้ามาดูแลสวน เพราะคุณพ่อและคุณแม่ชรามาก โดยทำการบูรณะ ก่อนค่อยๆ ขยับขยายด้วยการซื้อที่ข้างเคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่รกร้างมีแต่กองขยะ แต่สิ่งที่จุดประกายให้เกิดแนวทางในการทำงาน คือการตามรอยพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9

    โดยเราได้เรียนรู้เกี่ยวการดำเนินชีวิตหลายเรื่อง ผ่านหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ การทำไร่นาสวนผสม ฯลฯ และมีคำสอนหนึ่งที่ติดตรึงใจเรามากๆ คือท่านได้ตรัสไว้ว่า ‘การจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้ทำจากสิ่งใกล้ตัว เพราะจะทำได้ง่ายและประสบความสำเร็จ’ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ให้เราอยากเดินหน้าฟื้นฟูและเก็บรักษาสวนที่เรารักและคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กเอาไว้”

    ที่มาของชื่อ Poomjai Garden (ภูมิใจการ์เดน)

    “หลังจากที่ใช้เวลา 2 ปี เคลียร์พื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วยขยะ ซึ่งเป็นที่ดินที่ค่อยๆ ทยอยซื้อมาร่วมกว่า 7 ไร่ ก็เริ่มฉุกคิดว่าเราควรตั้งชื่อสวน จึงไปขอคำปรึกษากับอาจารย์ที่เคยไปเรียนอบรมมัคคุเทศก์ ซึ่งท่านได้ถามเราว่า ‘สิ่งที่คุณเอ๋ทำอยู่เนี่ย เกิดความภูมิใจหรือเปล่าล่ะ’ เราจึงตอบไปว่าภูมิใจสิคะ นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อ Poomjai Garden (ภูมิใจการ์เดน) ค่ะ” ประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ที่คุณเอ๋เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

    ลักษณะโดดเด่นของลิ้นจี่ในสวน

    แถมเธอยังบอกว่าย่านนี้โดยเฉพาะริมคลอง มีการปลูกต้นลิ้นจี่แทบทุกบ้าน ส่วนตระกูลเธอมีต้นลิ้นจี่ร้อยปีหลายต้น ด้านหน้าสวนมีต้นหนึ่งเกือบ 150 ปี ซึ่งปลูกมาตั้งแต่สมัยคุณทวด พอมาถึงรุ่นคุณเอ๋ก็ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ และมีที่ซื้อมาปลูกใหม่ ตอนนี้รวมๆ มีต้นลิ้นจี่ประมาณ 100 ต้น ส่วนสายพันธุ์ที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่คือ ‘กะโหลกใบยาว’ หรือเรียกว่า ‘กะโหลกใบไหม้’ ซึ่งมีลักษณะพิเศษตรงที่มีเนื้อแห้งมาก แต่รสชาติหวานไม่มีติดรสฝาด และทางคุณเอ๋ยังได้ทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI ) เรียบร้อย

    ลิ้นจี่ที่นี่ติดผลเร็วสุดคือเดือนพฤศจิกายน ต้องอาศัยอุณภูมิในช่วงกลางคืนที่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกัน 15 วัน และใบต้องพอดีไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ลิ้นจี่ถึงจะออกลูกซึ่งไม่ง่ายเลย นอกจากลิ้นจี่แล้วในสวนแห่งนี้ก็ยังมีการปลูกไม้เบญจพรรณ รวมถึงปลูกพืชและผักต่างๆ รวมกว่าร้อยชนิด

    จากสวนลิ้นจี่สู่การพัฒนากลายเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงศึกษาดูงาน

    และด้วยความที่เธอมีวิถีชีวิตแบบชาวสวน เช้าไปทำงาน ตกเย็นกลับมาทำสวน เพื่อนๆ จึงมาเที่ยว กันอยู่บ่อยๆ จนเริ่มพัฒนากลายเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อปเล็กๆ คือ เดินสวน เก็บผัก ทำกับข้าว จากนั้นก็มีชมรม บริษัท และหน่วยงานราชการต่างๆ ติดต่อเข้ามาขอท่องเที่ยวกึ่งศึกษาดูงาน เธอจึงตัดสินใจเปิดการ์เดนทัวร์ขึ้นช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ รับทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ แต่… ต้องโทรนัดหมายล่วงหน้าว่าเธอสะดวกหรือไม่ ที่ผ่านมาบางทีทำกิจกรรมอยู่ก็มีแขกที่ไม่ได้นัดเข้ามาร่วมด้วย เพราะคิดว่าเข้ามาได้เลย หรือบางคนเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัดอยากเข้ามาศึกษาดูงาน แต่วันนั้นสวนปิดเขาไม่รู้ ด้วยความที่ไม่อยากให้เสียความตั้งใจและผิดหวัง คุณเอ๋ก็ต้องจำยอมเปิดต้อนรับ หากเธอไม่อยู่ก็ให้ลูกน้องรับหน้าเสื่อแทนนั่นเอง

    เปิดคาเฟ่ เพื่อต้อนรับแขก

    “พอมีคนมาเยอะมาก จึงเริ่มปรึกษากับลูก จนได้ข้อสรุปว่าจะเปิดคาเฟ่ขึ้นชื่อ Natura Garden Café เพื่อไว้รองรับแขกค่ะ เราจะได้ทำหน้าที่อย่างอื่น เพราะแค่พัฒนาสวนก็ใช้สรรพกำลังมากมายแล้ว แต่หากจะนำสิ่งก่อสร้างหนึ่งมาใส่ไว้ในสวน เราก็อยากให้มันดูมีความหมายและมีดีไซน์ที่เข้ากับธรรมชาติ จนกระทั่งลูกชายได้นักออกแบบฝีมือดีมาทำร้านให้ นั่นก็คือคุณตั๊บ ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิก/เจ้าของบริษัท ธ.ไก่ชน ซึ่งเขาเก่งเรื่องงานไม้ไผ่”

    สร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาท้องชาวบ้าน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ชุมชน

    “ถือว่าตอบโจทย์เรามาก เพราะที่นี่ล้วนแต่นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการดำเนินชีวิต ไผ่เป็นไม้ที่เรานำมาใช้สอยสารพัด ตั้งแต่ทำแคร่ ทำงอบ ทำไม้ค้ำ หรือทำตะขาบไว้สำหรับชักลิ้นจี่และชักไล่ค้างคาว ที่นี่ไม่ได้ปลูกพืชขายพืช แต่ทำเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ที่ทำแล้วสามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นได้ อาหารที่เสิร์ฟส่วนใหญ่ล้วนมาจากพืชผักที่ปลูกไว้ในสวนทั้งสิ้น เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกแล้วกิน กินแล้วปลูก มันก็จะอยู่ได้ทั้งสภาพแวดล้อมวิถีชีวิต

    การเก็บรักษาสวนให้อยู่ยืนยาว ต้องมีการบริหารจัดการเรื่องน้ำด้วย พืชชนิดใดที่ใช้น้ำเดียวกันได้ อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน เราก็จะปลูกด้วยกัน มีท้องร่องที่สะท้อนถึงเรื่องการใช้น้ำได้ตอบโจทย์ที่สุด น้ำมาจากแม่น้ำ เข้าคลอง เข้าลำประโดง และมีท่อเข้ามาในสวน จึงสามารถตักน้ำในท้องร่องรดน้ำต้นไม้ได้ตลอดทั้งปี นี่ล่ะคือนวัตกรรม ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่น เพียงแต่พวกเรามองข้าม

    ที่สำคัญเรายังได้กระจายรายได้ให้แก่ชุมชน เปิดคาเฟ่เล็กๆ ก็จริง คนส่งน้ำแข็ง เด็กเสิร์ฟ คนคั่วมะพร้าว คั่วถั่วก็มาจากชุมชนนี้ อย่างร้านเรามีรับขนมใส่ไส้จากชุมชนชาวคลองบางประทุนมาขาย ก็เป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่ง เรือที่ขับมาส่งขนมก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คนที่ปลูกใบตองใช้สำหรับห่อขนมก็มีรายได้ เราทำเพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้พื้นที่สีเขียวยังอยู่ การคมนาคมทางเรือยังอยู่ นั่นล่ะเป็นสิ่งที่เราต้องการ”

    คุณเอ๋บอกเล่าการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านและการกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ฟังอย่างฉะฉาน ก่อน BLT จะถามถึงสิ่งที่เธอประทับใจและภาคภูมิใจมากที่สุด ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาดูแลสวนที่นี่

    ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในสวน Poomjai Garden

    “จริงๆ แล้วภูมิใจหลายเรื่องค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลิ้นจี่ 100 ปี ริมคลองละแวกนี้ รวมทั้งลิ้นจี่ของเรา ได้คัดเลือกให้เป็นรุกขมรดกอันทรงคุณค่าของแผ่นดิน เทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

    และลิ้นจี่บางขุนเทียนของเราสามารถที่จะขอขึ้นทะเบียน Geographical Indications หรือ GI ได้
    คือทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่ต้องมีหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือ 1.ต้องมีอายุ 100 ปีขึ้นไป 2.เป็นต้นไม้หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ 3. ต้นไม้ต้องมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

    เธอเล่าถึงความภาคภูมิด้วยสีหน้าแต้มยิ้ม ก่อนเราจะเปิดโอกาสให้คุณเอ๋ปิดท้ายประโยคชวนมาท่องเที่ยวที่ Poomjai Garden แต่เธอกลับพูดได้น่ายกย่องว่า

    “สิ่งที่อยากพูด คืออยากเชิญชวนให้คนกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ เห็นคุณค่าของคลองกันมากขึ้นค่ะ ถ้ามีการใช้เรือ ใช้คลอง หรือกระตุ้นเตือนเรื่องการใช้คลอง อีกหน่อยการทิ้งขยะก็จะลดลง นี่คือสิ่งหนึ่งอยากฝากไว้ และอีกเรื่องคือ การเห็นคุณค่าของตัวเอง ใครมีทรัพยากรท้องถิ่นไม่ว่าคน สิ่งของ หรืออะไรก็แล้วแต่ให้คุณมองคุณค่าของพื้นที่ แล้วนำกลับมาใช้ เพื่อช่วยกันทั้งประเทศ สิ่งที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้น และความภาคภูมิใจก็จะอยู่ที่ตัวของเจ้าของเองค่ะ”

    ดูคลิปวีดิโอ “ภูมิใจการ์เดน” สวนลิ้นจี่ 100 ปี แห่งสุดท้ายย่านบางขุนเทียน