Tuesday, December 6, 2022
More

    “ยังธน” กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลอมรวมเรื่องราวในย่านฝั่งธน สู่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

    หากมอง ฝั่งธนบุรี ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเรียบง่ายและความมีเสน่ห์ของย่านเมืองเก่า ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าหลายสาย เพื่อเชื่อมต่อฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครได้สะดวกยิ่งขึ้น “ยังธน” คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในย่านธนบุรี กับการสนใจด้านกิจกรรมการมีส่วนร่วม พร้อมการตั้งคำถาม “บ้านเกิดตัวเองมีอะไรดี” สู่การเริ่มต้นพัฒนาในย่านบ้านเกิด ดึงความเป็นคนฝั่งธนเชื่อมโยงให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ ผ่านกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาชุมชน ความรู้และทักษะแก่เยาวชน BLT Bangkok ชวนคุยกับกลุ่ม “ยังธน” ที่ประกอบไปด้วย เมฆ – เมฆ สายะเสวี, บลู – รวิพล เส็นยีหีม และฮิน – ฐากูร ลีลาวาปะ

    “ยังธน” เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร


    เมฆ : เริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากจะพัฒนาอะไรสักอย่างแถวบ้าน และได้เจอกับเพื่อนที่คิดคล้ายกัน จึงเริ่มทดลองทำอะไรเล็กๆน้อยๆ พอทำเข้าจริงๆแล้วมันรู้สึกสนุก เริ่มจากตรงนั้นมาเรื่อยๆ

    บลู : ผมอาศัยอยู่ในชุมชนย่านฝั่งธน และได้เห็นพี่ๆกลุ่ม “ยังธน” เข้ามาทำกิจกรรมในชุมชนพอดี พอได้คุยกับพี่ๆ ได้แชร์ไอเดีย ก็เริ่มสนุก หลังจากนั้นก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยังธน

    ฮิน : ผมมีคำถามกับตัวเองว่า ตอนปิดเทอมเพื่อนๆกลับบ้านต่างจังหวัดกันแทบทุกคน เราเป็นคนกรุงเทพฯ ย่านฝั่งธน บ้านเกิดเรามีอะไรดี ในพื้นที่ที่เราอยู่ สามารถทำอะไรได้บ้าง ชุมชนหลายกลุ่ม ที่อยู่ในย่านนี้มีความหลากหลายเฉพาะตัว เช่น ศิลปะวัฒธรรม อาหาร ท่องเที่ยว จะดีกว่าไหมถ้าเรามาร่วมกันทำอะไรที่มันคล้ายกัน และบงบอกถึงพื้นที่นั้นมีอะไรดี

    โปรเจกต์แรกคืออะไร

    ฮิน : เป็นช่วงตอนที่ทำธีสิส ตอนนั้นเราไม่ค่อยเชื่อในระบบการศึกษา ที่ต่างคนต่างต้องไปหาข้อมูลกันเอง มันจะดีกว่าไหม ถ้าเรามาร่วมทำฐานข้อมูลการออกแบบด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่เราทดลองไอเดียว่า Open Data แพลต์ฟอร์ม Sharing ข้อมูลในการทำธีสิส ได้แชร์ฐานข้อมูลร่วมกัน

    บลู : โปรเจคแรกของบลูที่ร่วมทำกับพี่ๆยังธนคือ “ยังธนคัพ” เป็นโปรเจคการเตะฟุตบอลที่พูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะ

    เมฆ : ของผมเริ่มทำที่ตลาดพลู ซึ่งเราเห็นว่าในย่านที่เราอยู่นั้นเป็นย่านเมืองเก่า งั้นเราลองทำที่โครงการตลาดพลูกัน จริงๆแล้วมีกิจกรรมที่คนในตลาดพลูทำกันอยู่แล้ว ถ้าหากเราเข้าไปเหมือนเป็นตัวเชื่อมซึ่งนำความรู้ที่เรามี ให้หลายๆ คนมาทำอะไรร่วมกันมันจะเป็นอย่างไร จึงเริ่มเห็นโอกาสรวมถึงมีคนสนใจกับย่านนี้เยอะ จึงได้รับความร่วมมือจากหลายๆ คน เลยเริ่มมองว่าหากขยายวงกว้างออกไปเป็นฝั่งธนจะเป็นอย่างไร

    เห็นการเปลี่ยนแปลงของย่าน “ฝั่งธนบุรี” อย่างไรบ้าง

    บลู : ทางกายภาพมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ความเป็นคนฝั่งธนมันจะยังอยู่คงเดิมถึงทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา สำหรับผม คิดว่าความเข้าใจในพื้นที่ตัวเอง ยังคงอยู่ครับ แต่ว่าวิธีการที่จะดำรงชีวิตมันจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามปัจจัยรอบๆ

    เมฆ : ผมว่ามันเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ทั้งความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนฝั่งธนดั้งเดิม ซึ่งหลายพื้นที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่ แต่แน่นอนเวลาผ่านไปคนก็เริ่มแก่ขึ้นทุกวัน บางคนที่มีภูมิปัญญาที่น่าสนใจ วัฒธรรมบางอย่างหรือประเพณีบางอย่าง อาจจะตายไปกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งน่าเสียดายเหมือนกัน แต่ก็ยังคงเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีสนใจในย่านตัวเองและเรียนรู้ที่จะรักษาสิ่งเหล่านั้นเอาไว้

    มองเห็นเสน่ห์ของฝั่นธนตรงไหน

    เมฆ : โอโฮ (หัวเราะ) อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับผมนะ คือเรารู้จักหลายสถานที่ที่อยู่ใกล้บ้าน เช่นตลาด วัด ซอยที่เราเดินผ่านทุกวัน แต่เราไม่เคยได้รู้จักกับเพื่อนบ้านหรือคนในย่านนั้นเลย ซึ่งมีหมู่บ้านขึ้นในฝั่งธนเมื่อ 50 ปีก่อน พวกเขาก็รู้สึกผูกผันในพื้นที่ตรงนั้น รวมถึงความเป็นส่วนตัวที่มีความหลากหลาย บางชุมชนมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างเช่น วัด พื้นที่สาธารณะใต้สะพาน หลายๆคนในชุมชนพยายามที่จะรักษาสถานที่สำคัญหรือพื้นที่ดั้งเดิมของชุมชนตัวเองไว้ คิดว่าตรงนี้คือเสน่ห์ของคนในย่านฝั่งธน

    ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือกับชุมชนอย่างไรบ้าง

    เมฆ : ส่วนใหญ่ได้รับความร่วมมือ ในหลายๆส่วนค่อนข้างดี อย่างโปรเจค “ยังธนคัพ” เราจับมือกับชุมชนใน เขตบางกอกใหญ่ ชุมชนในเขตธนบุรี เขตคลองสาน บางพื้นที่ เราเชื่อมต่อชุมชนโดยผ่านเพื่อนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น จึงง่ายต่อการที่เราได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน หลังจากนั้นเราต่อยอดไปถึงผู้อำนวยการเขต ซึ่งความร่วมมืออาจจะต้องค่อยๆไต่ไปทีระดับ แต่ก็มีบ้างในบางพื้นที่ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเรามากนัก อาจเพราะพื้นที่ดังกล่าวยังมีความเซนซิทีฟอยู่แต่โดยรวมแล้วได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกชุมชนที่ร่วมทำกิจกรรม

    บลู : ส่วนใหญ่แล้วโปรเจคของ “ยังธน” จะเริ่มจากการรับฟังจากชุมชนก่อน เป็นโปรเจคที่เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนซึ่งมาพร้อมความร่วมมือ ในบางโปรเจคอาจจะต้องขยายความช่วยเหลือออกไปมากขึ้น หรืออาจจะต้องเชื่อมต่อกับอีกหลายๆคน บางทีอาจจะมีบ้างที่ความร่วมมือน้อยไปบ้าง จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้วคงมาจากชุมชนเสียมากกว่า ซึ่งจะได้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

    วัตถุประสงค์ที่ทำยังธนคืออะไร

    ฮิน : “ยังธน” เสมือนเป็นพื้นที่ที่ให้เราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างเช่นบางชุมชนอยากเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเรือในย่านของตัวเอง แต่กำลังหาคนที่จะช่วยในการทำโปรเจคนั้น เราก็จะเข้าไปช่วย ซึ่งอยากให้มันเกิดขึ้นจริง ให้มันเป็นเฟสติวัลที่สามารถทำให้คนย่านฝั่งธนได้มีกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงเราอยากสนับสนุนคนในฝั่งธนได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่หรือพัฒนาย่านของตัวเอง

    เมฆ : ของผมจะคล้ายของ​ ฮิน คืออยากสร้างพื้นที่ทดลองให้ “ยังธน” เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ใครก็ได้มาแชร์ไอเดียร่วมกัน ทำให้สภาพแวดล้อมในย่านฝั่งธนน่าอยู่ยิ่งขึ้น หรือพลักดันศักยภาพของคนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผมรู้สึกว่าเมืองมันจะน่ารักหากถ้าคนเมืองรู้จักกัน หรือเราได้รู้จักย่านใหม่ๆ แต่ส่วนที่จะยั่งยืนหรือไม่ ยังคงขาดท่อน้ำเลี้ยงในการเริ่มทำโปรเจคหลายๆอย่างอยู่ ซึ่งเราไม่มีทุนถึงขนาดนั้น (หัวเราะ) บางครั้งเรามีพลัง มีไอเดีย แต่ยังคงขาดทุนทรัพย์ในการทำ

    โปรเจ็คที่ได้การตอบรับดี

    “ยังธนคัพ” (พร้อมกันตอบ)

    เมฆ : โปรเจค “ยังธนคัพ” ได้รับการตอบรับที่ดี ได้รับความร่วมมือหลายๆส่วน อย่างเช่น กรรมการที่มาคอยตัดสินการแข่งขันฟุตบอลในวันนั้น เป็นเยาวชนในชุนชม สมัครมาในเพจเฟสบุ๊กของเรา ซึ่งเขามีความฝันที่อยากจะเป็นกรรมการอาชีพ และนี้ถือเป็นพื้นที่โอกาสที่เขาจะได้แสดงความฝัน ซึ่งเราอยากให้กิจกรรมของเราเป็นพื้นที่สำหรับใครที่อยากจะทำร่วมหรือมีความฝันอะไรที่สอดคล้องกับกิจกรรม เราเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนเด็กๆให้ความสนใจอย่างมากในการเข้าร่วมกิจกรรมเตะฟุตบอล รวมถึงผู้ใหญ่หลายๆฝ่าย ไม่เพียงแต่คนในย่านฝั่งธน เรายังมองอีกกว่าถ้าหากมีกิจกรรมร่วมกันของคนกรุงเทพฯ ทั้งคนย่านฝั่งธนและฝั่งพระนครก็คงจะดี เคยมีโปรเจคหนึ่งที่คิดไว้ก่อนที่จะเกิด “ยังธนคัพ” เราชวนเพื่อนๆมานั่งคุยกัน และเกิดเป็นไอดีที่อยากจะทำกิจกรรม “ชักเย่อ” ข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา คนฝั่งธนกับคนฝั่งพระนครมาแข่งกัน ซึ่งอันนี้ดูเป็นโปรเจคที่ใหญ่เกินไปสำหรับพวกเรา (หัวเราะ)

    อยากฝากอะไรถึงภาครัฐบ้าง

    เมฆ : เราอยากให้สิ่งที่ทำขยายวงไปอีก หากภาครัฐหรือมีผู้ใหญ่คนไหนสนใจ ผลักดันโอกาสที่จะสามารถสร้างให้เกิดศักยภาพ ของคนย่านฝั่งธนหรือในชุมชน ก็ลองให้มานั่งคุยกัน หรืออาจสนับสนุนด้วยงบประมาณ แรงกำลัง เป็นประสบการณ์หรือคอนเนคชั่นก็คงน่าจะดี

    บลู : หากเราคุยกันและมองเห็นอะไรบางอย่าง ในมิติใดก็ได้ เราอาจจะมาร่วมกันสร้างเครือข่ายด้วยกัน ในรูปแบบของความรู้ ข้อมูล เม็ดเงิน หรืออะไรก็ได้ ทุกอย่างถ้าขับเคลื่อนด้วยคนมันจะทำให้เกิดกิจกรรมได้อย่างรวดเร็ว

    ฮิน : ฝาก “ยังธน” ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจด้วยนะครับ (หัวเราะ)