Sunday, October 1, 2023
More

    วิโรจน์ ฉิมมี นายหัวบ้านไร่ ไออรุณ กับการปรับตัวในวิกฤต หวังเพียงความสุขที่ทำร่วมกัน

    ตลอดระยะทาง 50 กิโลเมตร จากใจกลางเมือระนอง สู่ทิวแถวเขียวขจีของบ้านไร่ ไออรุณ ธุรกิจฟาร์มสเตย์ ที่เงียบลงไปถนัดตา จากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

    BLT พาทุกคนมาพูดคุยกับเบส-วิโรจน์ ฉิมมี ในวันที่ “การปิดตัว” รุกคืบเข้ามาสู่คนทำงานในไร่ฯ อีกครั้งอย่างน่าหวาดเสียว นายหัวของบ้านไร่ฯ แห่งนี้ ต้องปรับตัวอย่างไร


    ลองมาสัมผัสได้ ผ่านเรื่องราวที่ระคนไปด้วยความรัก และความจริงใจ ที่เขามีต่อคนทำงานในชุมชนกัน

    เริ่มจากการดึงฐานลูกค้าในจ.ระนอง เข้ามาทดแทน

    เบส-วิโรจน์ ฉิมมี : อย่างที่รู้กันดีว่า บ้านไร่ ไออรุณ เป็นธุรกิจที่พัก แล้วนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาพักบ้านไร่ฯ จะมาจากต่างจังหวัด แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และทางภาครัฐ ประกาศให้จังหวัดระนอง กลายเป็นพื้นที่สีแดง

    ทำให้ความมั่นใจในการเดินทางของลูกค้าที่จองห้องพักไว้หายไป เพราะเข้ามาก็ต้องโดนกักตัว เขาเลยยกเลิกกันหมด ลูกค้าใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาก็ไม่มี ดูใน Booking ของเรา ก็พบว่าว่างเปล่า

    เราเลยเรียกพนักงานมาประชุม โดยมีชอยส์ให้เขาเลือก 2 ข้อ หนึ่ง คือเราจะปิดตัวไปชั่วคราวก่อนเลยไหม ให้ทุกคนแยกย้ายกลับไปอยู่บ้าน แล้วค่อยกลับมารวมตัวกันเปิดใหม่ ในวันที่สถานการณ์มันดีขึ้น

    หรือสอง คือสู้ต่อ ซึ่งทุกคนก็โหวตด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ ว่าขอทำงานต่อ เพราะว่ามีภาระค่าใช้จ่าย อยากมีรายได้เอาไปเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม เราก็เลยเอามติในที่ประชุม มาคิดต่อว่าจะปรับตัวกันอย่างไร

    เลยได้เป็นการเปิดบ้านไร่ ไออรุณ ให้คนในพื้นที่เข้ามาพักได้ ด้วยราคาที่ลดลงมา 50% ซึ่งก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ใช้การดึงดูดคนในจังหวัดระนอง ให้เข้ามาใช้บริการกัน ด้วยการทำโปรโมชั่นผ่านทางเพจของเรา ซึ่งตอนนี้ ลูกค้าในจังหวัดก็เริ่มทยอยเข้ามาพักกันเรื่อย ๆ

    รถพุ่มพวง บ้านไร่ ไออรุณ ส่งตรงผักสด ๆ ของชาวบ้านไร่ฯ แก่คนระนอง

    เบส : รถพุ่มพวง เป็นไอเดียสด ๆ ร้อน ๆ จากเมื่อวานซืน (9 ม.ค. 63) โดยพนักงานเกือบทุกคน ตอบตรงกันตอนประชุมหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ในช่วงวิกฤตครั้งนี้ ว่าไม่อยากทำน้ำพริก, ขายของออนไลน์ เหมือนครั้งที่เราโดนโควิด-19 เล่นงานรอบแรก รวมถึงตัวเราเอง ที่ไม่อยากขายวอชเชอร์ นำเงินค่าที่พักในอนาคตของลูกค้ามาใช้

    จึงเอารถสองแถวไม้ของบ้านไร่ฯ มาดัดแปลงเป็นรถพุ่มพวง และนำผักผลไม้ที่คนสวนปลูกไว้ในแปลงของบ้านไร่ ไออรุณ ซึ่งปกติ เราเตรียมไว้เป็นสวนสำหรับส่วนครัวของบ้านไร่ฯ กอปรกับผลผลิตของคนในชุมชน ที่ทำงานอยู่ในบ้านไร่ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ เขาก็ปลูกเก็บไว้ทาน รอบบ้านตัวเองกันอยู่แล้ว

    ให้สามารถเอามาฝากขายกันที่รถพุ่งพวงดัดแปลงของบ้านไร่ฯ ได้ โดยรถฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเอาผักผลไม้สด ๆ ปลอดสารพิษ ไปส่งถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ซึ่งเรากับน้องอีกคน ก็จะไปวิ่งรถพุ่มพวงขายกับคนสวนของบ้านไร่ฯ อย่างเราก็มีหน้าที่คอยไปช่วยเรียกลูกค้า เงินที่ได้มา ก็จะเอาไปแบ่งกัน

    แล้วก็ขายดีมากนะครับ หลังเมื่อวาน (10 ม.ค. 64) ไปขายมา แวะจอดแค่ 3 จุด ของก็หมดเลย มานั่งนับเงิน พบว่าได้มาหมื่นกว่าบาท แต่จริง ๆ เราไม่ได้หวังกำไร อะไร ขอเเค่ให้พนักงานทุกคน ยังมีทำงาน มีรายได้ เเละ “มีความสุข” ที่ได้ลงมือทำสิ่งนี้ร่วมกัน

    ตอนนี้ เรากำลังคิดกันอยู่ว่าอาทิตย์หนึ่ง อาจจะวิ่งรถพุ่มพวงกันประมาณ 2 วัน ยืนพื้นไว้ที่วันอาทิตย์แน่ ๆ หนึ่งวัน เพราะเป็นวันที่เรารู้สึกว่าคนส่วนใหญ่น่าจะอยู่บ้านกัน แล้วจะมีเพิ่มมาอีกสักหนึ่งวัน เดี๋ยวจะลองมาปรึกษากันอีกที

    เพราะว่าตอนนี้ บ้านไร่ ไออรุณ ก็เริ่มมีลูกค้า เข้ามาใช้บริการในที่พักมากขึ้น ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมดเลยนะครับ อย่างวันนี้ (11 ม.ค. 63) มีคนมาพัก 9 หลัง จากบ้าน 13 หลัง เมื่อวานที่พักก็เต็ม

    เลยว่าจะแบ่งไปวิ่งรถพุ่มพวง อาทิตย์ละหนึ่ง-สองวัน หมุนเวียนกันไปตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดระนอง โดยระวังไม่ให้ไปทับไลน์กับพื้นที่ ที่รถพุ่มพวงคันอื่น ๆ เขาวิ่งขายกันอยู่ครับ

    เก็บเกี่ยวความอบอุ่นให้หัวใจจาก บ้านไร่ ไออรุณ ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เพิ่มเติมได้ที่ FB : บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun