เยี่ยมชม “องค์พระครุฑ” งานศิลป์ทรงคุณค่า ที่เคยได้รับการประดับอยู่ตามธนาคาร ห้างร้าน ศาล ฯลฯ ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญทางสถาปัตยกรรม ของบ้านเราหลายแห่ง
และพูดคุยกับคุณเบน–ณรงค์วัฒน์ แย้มประเสริฐ พี่ใหญ่ และทายาทรุ่นสองของ “บ้านรักครุฑ” บริษัททำตราตั้งครุฑ แห่งเดียวในย่านเจริญกรุง ที่ต้องการส่งต่อประวัติศาสตร์ และงานศิลป์ของ “องค์พระครุฑ” สู่วงกว้าง ด้วยการนำเสนอให้ง่าย ต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในสังคม
เริ่มต้นความงดงามของ “องค์พระครุฑ” ณ “บ้านรักครุฑ”
เบน–ณรงค์วัฒน์ แย้มประเสริฐ : ต้องย้อนไปสมัยคุณพ่อของเรา ซึ่งเป็นช่างไม้ฝีมือดี มาตั้งแต่เรายังไม่เกิด ก็เลยมาทำ “องค์พระครุฑไม้” โดยเริ่มแรก ก็เป็นลูกจ้างแถววงเวียน 22 มาหลายสิบปีนะครับ ก่อนมาตั้งบริษัททำตราตั้งครุฑ และผลิตงานป้ายดีไซน์ต่าง ๆ เมื่อปี 2529 บนที่ดินของคุณแม่ ตรงที่เราทำงานกันอยู่ในปัจจุบันนี่แหละครับ
และก็เกิดการสืบทอดกันมา จนถึงทายาทรุ่นสองอย่างพวกเราสามคนพี่น้อง ซึ่งมีเรา (เบน–ณรงค์วัฒน์ แย้มประเสริฐ) น้องชาย (แย้ม–อภิชาติ แย้มประเสริฐ) และก็น้องสาว (ธิติมา แย้มประเสริฐ) แต่ด้วยความที่เราเป็นพี่ชายคนโต ทำให้จะมีส่วนในการดูแลกิจการเยอะที่สุด
โดยลูกค้าส่วนใหญ่แต่แรกเริ่มของเรา ที่มาสั่งผลิต “องค์พระครุฑ” จะเป็นธนาคาร และห้างร้านต่าง ๆ จนต่อมาบริษัทที่ได้รับพระราชทานอนุญาตใช้ตราแผ่นดิน ที่มาเป็นลูกค้า ก็เห็นว่าบริษัทเรา สามารถทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ มีความตั้งใจ รับผิดชอบ และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เขาก็เลยคงบอกต่อ ๆ กัน จนกลายมาเป็นบริษัททำตราตั้งครุฑ ทุกวันนี้ครับ
การทำงานผลิต “องค์พระครุฑ” ของ “บ้านรักครุฑ”
เบน : สมัยก่อน เราก็จะรับทำ “องค์พระครุฑ” ตามออเดอร์ ให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็เป็นเหมือนช่างตัดเสื้อ มีการใช้ไม้จากทางภาคเหนือเป็นวัสดุ แต่กว่าจะผลิตได้องค์หนึ่ง ใช้เวลานานมากครับ
ก่อนที่ต่อมา มีการพัฒนาพิมพ์รูปหล่อได้ เลยใช้ทองเหลือมาเป็นวัสดุแทน แต่ก็ติดปัญหาตรงน้ำหนักที่สูงมาก อย่างองค์พระครุฑขนาดเมตรกว่า ๆ ต้องใช้แรง 4-5 คนยก
จนมาตกผลึกที่การใช้วัสดุไฟเบอร์กลาส ซึ่งตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะเข้ากับหลักการผลิตที่ลดขั้นตอนยุ่งยากหลาย ๆ อย่างลงไป รับน้ำหนักขององค์พระครุฑได้ดี สามารถคงสภาพอยู่ได้เป็นร้อย ๆ ปี ทำแม่พิมพ์มา แล้วสามารถหล่อมาได้หลายองค์ ก่อนจะมาลงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ประณีต ด้วยมืออีกที
ซึ่งองค์แรก ๆ ที่เราเริ่มทำด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาส ก็มีการติดตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, สำนักงานใหญ่ ธนาคารทหารไทย และธนาคาร ห้างร้าน ตลอดจนลูกค้ารายอื่น ๆ เรื่อยมา
จนพอมาช่วงหลัง ๆ เริ่มมีคนทั่วไปสนใจงานศิลป์ประเภทนี้มากขึ้น เราก็มีการผลิตองค์พระครุฑ ขนาดพกพา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม
โดยส่วนที่ยากที่สุดของการผลิตองค์พระครุฑ มี 2 ส่วน
1.ใบหน้า
2.กายวิภาคศาสตร์ อาทิ การวางขา การยกมือ ฯลฯ ให้มีความสมมาตร สวยงาม
แต่ด้วยประสบการณ์ที่เราทำกันมานาน ส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไรในขั้นตอนการผลิตครับ
สโคปการทำงานผลิต “องค์พระครุฑ” ในทุกกระบวนการ
เบน : สโคปการผลิตองค์พระครุฑของเรา มีความครอบคลุมตั้งแต่เริ่มปั้น จนติดตั้งให้ลูกค้า เราไม่ได้ผลิตออกมาเสร็จแล้วจบกัน แต่ยังต้องขนส่งไปติดตั้งให้ลูกค้าด้วย มีการทำพิธีเชิญติดตั้ง ซึ่งศัพท์โบราณเขาเรียกว่า “พิธีกว้านองค์ครุฑ”
ส่วนมุมที่จะทำการติดตั้ง ซินแสของลูกค้าจะเป็นคนกำหนด แต่เราก็ช่วยแนะนำเพิ่มเติม ว่าสามารถทำได้ไหม เพราะต้องมีการคำนวณความเหมาะสมของโครงสร้าง ให้องค์พระครุฑ มีความแข็งแรง ไม่โอนเอน หรืออาจจะตกลงมาจนเกิดความเสียหายได้ ก็ต้องมีการประนีประนอมกันไป ให้เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย แต่ส่วนใหญ่ ลูกค้าก็จะติดตั้งตามหน้าจั่วของอาคารตัวเองเป็นหลัก
แล้วองค์พระครุฑ การที่เราจะติดตั้งได้ ต้องมีตราตั้งพระราชทาน ซึ่งต้องได้รับพระราชทานจากสำนักพระราชวัง หรือสำนักพระมหากษัตริย์เท่านั้น สังเกตได้จากข้อความ “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” ที่ติดอยู่ในริบบิ้น ใต้องค์พระครุฑ แต่ถ้าเป็นองค์ที่ใช้สำหรับบูชาส่วนตัว ก็ไม่ต้องมีก็ได้ครับ
ด้านแบบขององค์พระครุฑ มี 2 กรณี
อย่างถ้าทำตราตั้งพระราชทาน ทางลูกค้าเขาก็จะให้รูปต้นแบบมาเลย เราก็ทำตามนั้น กับอีกกรณี คือลูกค้าจะให้แบบที่ชอบมา เราก็ทำตามนั้นเหมือนกัน แต่อาจจะมีการต่อยอดลวดลายเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์แบบ สำหรับงานของลูกค้า
แต่ลักษณะโดยรวม องค์พระครุฑจะมีความคล้ายกัน แตกต่างกันไปแค่ในรายละเอียดเล็กน้อย ตามบรีฟของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเริ่มปั้นมาก่อน แล้วให้ลูกค้ามาดูว่าชอบไหม ถ้าถูกใจก็ทำต่อ ถ้ามีจุดให้แก้ ก็ทำได้ ก่อนจะนำมาทำเป็นพิมพ์หล่อ
บทบาทของ “องค์พระครุฑ” ในชีวิตประจำวันของเรา
เบน : “องค์พระครุฑ” เป็นเทพที่อยู่รอบตัวเรามาตลอด ไม่ว่าจะในธนบัตรที่เราใช้ บัตรประชาชนที่พกติดตัว ฯลฯ ตลอดจนรถยนต์พระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง หรือจะเป็นแลนด์มาร์กทางสถาปัตยกรรมของบ้านเราอีกหลายแห่ง
แล้วตามตำนาน “องค์พระครุฑ” เป็นเทพที่ใจดีมากนะครับ ท่านเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่สร้างความอุ่นใจให้เราเสมอมา และถ้าเราทุกคนได้นับถือ ศรัทธาแล้วท่านจะบันดาลให้ทั้งอำนาจ, วาสนา, เงินทอง และโชคลาภ
การทำงานบูรณะ “องค์พระครุฑ”
เบน : นอกจากการผลิตแล้ว “บ้านรักครุฑ” ยังมีส่วนของการไปบูรณะองค์พระครุฑ ให้กับลูกค้า อย่างสาขาต่าง ๆ ของธนาคารที่เป็นลูกค้าหลักของเรา พอนานไป องค์พระครุฑที่เราไปติดตั้งให้ มีการซีดจางของสี หรือร่องรอยตำหนิ ตามระยะเวลาการใช้งาน
เราก็ไปบูรณะให้ รวมถึงลูกค้าจากที่อื่น ซึ่งไม่ได้สั่งทำองค์พระครุฑกับเรา แต่มีความต้องการบริการตรงส่วนนี้ เราก็ยินดีไปทำให้ เพราะการขึ้นไปทำงานบูรณะ มันต้องใช้ความเชียวชาญ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทางเจ้าของเขาอาจจะไม่สะดวกแน่นอน
ซึ่งการที่เราได้ไปบูรณะ ให้องค์พระครุฑตามจุดติดตั้งต่าง ๆ กลับมามีความสมบูรณ์ สวยงามดังเดิม ก็เป็นความสุขในการทำงานของพวกเราอีกส่วนหนึ่ง
ความสุขในการทำงานของ “บ้านรักครุฑ” ทุกวันนี้
เบน : ธุรกิจทำตราตั้งครุฑของ “บ้านรักครุฑ” ทุกวันนี้ เราทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่า มีสมาชิกกันอยู่ประมาณสิบกว่าคน และการทำองค์พระครุฑของเรา ก็ต้องใช้เวลา เพราะพวกเราให้ความสำคัญกับคุณภาพ และความประณีตเป็นหลัก
แล้วทุกวันนี้ การทำงาน เราไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก เราให้ความสำคัญเรื่องของการสืบทอดคุณงามความดีขององค์พระครุฑ ต้องการส่งต่อคุณค่าขององค์ท่านให้ทุกคนได้รับรู้
และเรามองว่า “บ้านรักครุฑ” เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่ได้ตอบแทนแผ่นดิน ด้วยการทำองค์ครุฑให้กับห้างร้าน ธนาคาร และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับพระราชทานตราตั้ง เท่านั้นเอง
พิพิธภัณฑ์บ้านรักครุฑ การส่งต่อเรื่องราวขององค์พระครุฑ ให้เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน
เบน : เดิมที คนส่วนใหญ่จะรู้จักบริษัททำตราตั้งครุฑของเรา ในชื่อบ้านทำครุฑ ทำป้ายดีไซน์ต่าง ๆ แต่พอเราได้มาออกงาน Bangkok Design Week 2020 (BKKDW 2020) ของ CEA เราก็เริ่มกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม “บ้านรักครุฑ” เพราะทุกคนมองว่าเราทำองค์พระครุฑ ด้วยความรัก
ซึ่งพอได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน BKKDW 2020 ก็มีคนมาเยี่ยมชมตลอด และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเปิดพิพิธภัณฑ์ เพื่อจะได้เผยแพร่คุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงามขององค์พระครุฑ ให้กับคนในวงกว้างมากขึ้น
อย่าง “พิพิธภัณฑ์บ้านรักครุฑ” จริง ๆ ตอนนี้ ยังไม่เชิงเป็นพิพิธภัณฑ์เต็มตัว แต่ก็มีองค์ครุฑให้มาชมกว่า 100 องค์ ซึ่งในอนาคต เราก็อยากจะต่อยอดการทำงานของพิพิธภัณฑ์ไปมากกว่านี้
โดยตอนนี้ก็กำลังขอผู้บริหารธนาคารอยู่ ว่าถ้ามีที่ดินแถว ๆ นี้มอบให้ เราก็จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์เต็มตัวไปเลย แต่ว่าขอเป็นบริเวณเดียวกับที่ตั้งของบริษัทเรา เพราะว่าเราไม่สะดวกเดินทางไปไกล ๆ และเราอยากจะไปคอยดูแลด้วยตัวเอง
ซึ่งถ้ามีโอกาสได้ทำจริง ๆ เรามีความคิดว่าจะเพิ่มความน่าสนใจ ด้วยการสร้างมุมถ่ายรูปสวย ๆ ให้เยาวชนได้มาเซลฟี่กัน เป็นต้น ก็คิดว่าน่าจะทำให้เรื่องราวขององค์พระครุฑ เป็นที่รู้จัก และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้นครับ เพราะตามตำนานจริง ๆ แล้วท่านเป็นเทพที่ใจดีมาก เป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่รอบตัวเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ
และเรายังมองว่าทุกวันนี้ ช่างฝีมือ และงานศิลป์คุณภาพในไทย ไม่ได้มีความขาดแคลนเลย แต่ที่ขาดอยู่คือเรื่องของการตลาด แล้วจริง ๆ ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเรา มีความสวยงามหลายอย่าง อย่างประวัติศาสตร์ขององค์พระครุฑ เราเชื่อว่าสามารถทำให้มีความสนุกสนาน และเป็นเรื่องราวที่ย่อยง่ายสำหรับทุกคนได้ ขอแค่มีการสื่อสารที่ฉลาด
ทั้งช่วงนี้ ผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาชมองค์พระครุฑ ที่ “บ้านรักครุฑ” ได้ครับ และขอแอบกระซิบว่างาน Bangkok Design Week 2021 ที่จะถึงนี้ เราก็อาจจะมีกิจกรรมให้ผู้มาชมงาน ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กันเช่นเคย