เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือการแสวงหากำไรสูงสุด ฉะนั้นการคาดหวังให้ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมจึงเป็นไปได้ยาก แต่สำหรับ คุณนิว-ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ซีอีโอ บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด สามารถตั้งโมเดลธุรกิจที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวนาไทย พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับบริษัทในเวลาเดียวกัน
จากปัญหาสู่การสร้างธุรกิจ
“สยามออร์แกนิคตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยในภาคอีสาน โดยใช้นวัตกรรมสร้างสินค้าที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบด้วยสินค้าประเภท ข้าวออร์แกนิก ชาออร์แกนิก เส้นพาสต้า แป้ง ภายใต้แบรนด์ Jasberry (แจสเบอร์รี่) มุ่งเน้นในการนำเสนอสินค้าเพื่อสุขภาพที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์และปราศจากสารเคมี โดยเราเชื่อเสมอว่าผลตอบแทนทางธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาสังคม”
แจ้งเกิดข้าวแจสเบอร์รี่
“เริ่มจากที่เราเป็นศิษย์เก่าจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รวมตัวกันเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจ ‘ข้าวแจสเบอร์รี่’ พันธุ์ข้าวใหม่ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงแถมอร่อยด้วย และได้รางวัลชนะเลิศในปี 2554 จากนั้นก็ชนะการประกวดแผนธุรกิจระดับโลกมาหลากหลายเวที แล้วได้สานต่อทำแผนธุรกิจให้เป็นธุรกิจจริงในวันนี้ ซึ่งช่วงที่เราทำโครงการ เราได้ไปที่สหรัฐอเมริกา ก็เล็งเห็นว่าที่นั่นเป็นตลาดออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ภาพลักษณ์แจสเบอร์รี่ในสายตาตลาดโลก
“แจสเบอร์รี่ เป็นสินค้า Innovative คือเกิดขึ้นใหม่ ‘Healthy & Delicious’ และช่วยเกษตรกร ฉะนั้นผู้บริโภคก็จะมองว่าพรีเมียม ดีต่อสุขภาพ และได้ช่วยเหลือสังคม ซึ่งก็เป็นเมสเสจของแบรนด์ที่เราสื่อออกไป ผู้บริโภคก็จะเข้าใจและเต็มใจจ่าย ซึ่งถ้ามาทำในเมืองไทยจะไม่ค่อย Effective เพราะต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สนใจที่จะซื้อสินค้าเพื่อช่วยเหลือสังคม บ้านเรายังเน้นสินค้าราคาถูก และขาดความเข้าใจพื้นฐานด้านสุขภาพ”
ทำกิจการเพื่อสังคม
“เราจะสร้างธุรกิจที่แก้ปัญหาสังคมและผู้บริโภค ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับเกษตรกว่า 1,800 ครัวเรือน ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าเกษตรกรทั่วไป 14 เท่าตัว ในฝั่งผู้บริโภคคือ สร้างสินค้าออร์แกนิคจากนวัตกรรมที่ดีต่อสุขภาพให้ผู้บริโภคทั่วโลก และในอนาคตเราหวังว่าสยามออร์แกนิคจะเป็นหนึ่งใน Social Enterprise (SE) ที่ดีที่สุดของโลก อยากให้เมื่อคนพูดถึงเกษตรเขานึกถึงเรา”
เป้าหมายต่อไป
“ตอนนี้เรามีเกษตรร่วมอยู่ 1,800 ครัวเรือน แต่ในปีนี้จะขยายเป็น 2,500 ครัวเรือน ส่วนตลาดโลกเราจะนำแบรนด์เข้าห้างชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ให้เป็นแบรนด์ไทยในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มสนใจธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม และเราก็ได้เปรียบตรงที่ Business Model ของเราตอบโจทย์นั้น”
สิ่งที่ทำให้สยามออร์แกนิคมาถึงทุกวันนี้
“ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ แม้แผนธุรกิจเราจะเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ Mission ยังเหมือนเดิม พลังที่มีอยู่ในการทำงานยังเหมือนเดิม ถ้า ‘Why’ ของคุณเป็นแค่วัตถุ แค่เงินทองชื่อเสียง มันจะไม่มีวันยั่งยืน ผมมองว่าการให้คือสิ่งที่ก่อให้เกิดพลัง และผมเชื่อว่าสิ่งนี้ทำให้แจ๊ค หม่า, ริชาร์ด แบรนสัน และ สตีฟ จ๊อบ ประสบความสำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่เงิน แต่มันคือสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อให้โลกนี้และสังคมนี้ดีขึ้น สำหรับผม การทำงานที่ได้เงินเยอะ แต่ไม่มีความสุข ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้างานนั้นทำให้เรามีความสุขด้วย และยังได้ช่วยเหลือคนอื่นไปด้วย มันมีความหมายกว่ามาก”
ทำอย่างไรให้อยู่รอด
“ข้อเสียของสตาร์ทอัพคือ Copy ง่าย ฉะนั้นสตาร์ทอัพต้องมีทั้งคนที่มีทักษะดีและ Financial Support เพราะสตาร์ทอัพทำแล้วขาดทุน ใครยอมขาดทุนมากกว่าก็อยู่รอด ซึ่งในส่วนของแจสเบอร์รี่ ข้อดีคือ เป็นอาหาร ไม่ใช่ Tech ฉะนั้น Copy ยาก แม้ธุรกิจจะไม่โตเร็วเหมือน Tech แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า จุดแข็งของเราคือการเกษตร และคนอื่นก็สู้เราไม่ได้ ประเทศเรามีการท่องเที่ยว, การเกษตร, อาหาร, Health Care และ Medical Tourism ฉะนั้นทำไมเราไม่เริ่มทำสตาร์ทอัพตรงนี้ ซึ่งถ้าไปมุ่งทำแต่ Tech ก็สู้คนอื่นเขายาก”
โอกาสที่สตาร์ทอัพไทยจะเติบโต
“ปัจจุบันเราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 แต่มีคอร์สที่สอนเรื่องนี้จริงจังหรือยัง เราไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เด็กจบใหม่ 100 คน มี Potential แค่ 1 คน ซึ่งต่ำมาก เด็กรุ่นใหม่ออกมาทำสตาร์ทอัพ แต่เขาไม่มีทักษะ ไม่มีประสบการณ์ มันก็ไปไม่รอด เราเป็นห่วงว่าเด็กที่เข้ามาทำสตาร์ทอัพเขามีความรู้มากขนาดไหน เพราะการแข่งขันไม่ได้แข่งแค่คนไทย แต่แข่งทั่วโลก ต่อไปจะเกิดวิกฤต Skill Talent เพราะในที่สุดแล้ว องค์กรก็คือคน ถ้าคนไม่มีคุณภาพ องค์กรก็ไม่รอด”