รายงาน “พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยยุค COVID-19” ที่ทำการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 6,150 คน (เม.ย. – ก.ค. 63) พบทิศทางการท่องเที่ยวในประเทศจะได้รับความนิยมมากขึ้น
คนไทยร้อยละ 92.6 จะเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
โดยจากการสำรวจของศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว ททท. (TATIC) ร่วมกับบริษัท บารามีซี่ จำกัด ในครั้งนี้พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ 92.6 เปิดเผยว่าจะเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยเหตุผลหลัก ๆ จะเป็น
– ค่าใช้จ่ายไม่สูง / มีงบประมาณจำกัด
– ในประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวเยอะ / มีหลายแห่งที่ยังไม่เคยไป / อยากเที่ยวให้ทั่วก่อน
– การเดินทางสะดวก / ไม่ต้องเดินทางไกล / ไม่ต้องทำพาสปอร์ต
– มีความปลอดภัยสูง
– ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
คนไทยร้อยละ 64.8 เปิดเผยว่าจะเดินทางท่องเที่ยวในความถี่เท่าเดิม
ด้านสัดส่วนความถี่ของการท่องเที่ยวในประเทศ พบนทท.ไทยร้อยละ 64.8 เปิดเผยว่าจะเดินทางท่องเที่ยวเท่าเดิม
– ร้อยละ 20.5 จะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง
– ร้อยละ 14.7 จะเดินทางท่องเที่ยวบ่อยขึ้น
Gen Z มีแนวโน้มจะเดินทางท่องเที่ยวบ่อยขึ้นที่สุด
ส่วนช่วงวัยที่พบว่าจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยว พบว่ากลุ่มคน Gen Z (20-24 ปี) มีแนวโน้มจะเดินทางท่องเที่ยวบ่อยขึ้นที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 17.9 ขณะที่กลุ่ม Baby Boomer (61-75 ปี) เป็นกลุ่มที่จะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 23.2
พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย ร้อยละ 48.7 จะเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19
ขณะที่พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนทท.ชาวไทยพบว่าร้อยละ 48.7 จะมีการเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 แบ่งเป็น
– ร้อยละ 27.74 จะเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย
– ร้อยละ 20.99 จะระมัดระวังสุขอนามัยของตนเองระหว่างการเดินทาง
คนกรุงเทพฯมีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวมากสุดในไทย
และหากเจาะจงไปเป็นพื้นที่จะพบว่าคนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุดในไทย (เป็นการวัดด้วยการเทียบสัดส่วนกับกลุ่มประชากรในภาคนั้น ๆ) ตามด้วยภาคอื่น ๆ ดังนี้
– กรุงเทพฯ ร้อยละ 62.8
– ภาคอีสาน ร้อยละ 52.8
– ภาคเหนือ ร้อยละ 51.5
– ภาคตะวันออก ร้อยละ 37.2
– ภาคกลาง ร้อยละ 36.4
– ภาคใต้ ร้อยละ 33.5
ชาวกรุงเทพฯ แชมป์ หันมาเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศบ่อยขึ้นที่สุด
ทั้งนี้ยังพบว่าชาวกรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 1 พื้นที่ที่นทท.จะหันมาเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศบ่อยขึ้นที่สุด ตามมาด้วยภาคต่าง ๆ ดังนี้
– กรุงเทพฯ ร้อยละ 34.3
– ภาคอีสาน ร้อยละ 15.6
– ภาคกลาง ร้อยละ 15.6
– ภาคใต้ ร้อยละ 6.2
– ภาคเหนือ ร้อยละ 5.3
– ภาคตะวันออก ร้อยละ 4.3