Wednesday, May 24, 2023
More

    เผยกรณี “ครู” ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน พบคนไทย 86.77% ระบุไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู

    สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเรื่อง “ครูอนุบาล/ครูพี่เลี้ยง/ครูผู้ดูแลเด็ก” ในสายตาประชาชนจากความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,896 คน ทำการสำรวจออนไลน์ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563

    เผยการสำรวจครูในสายตาประชาชน ร้อยละ 84.36% เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง

    จากกรณีที่ครู “จุ๋ม” ครูพี่เลี้ยงที่ทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ทำให้เกิดความสนใจของสังคมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองหลายท่านเป็นกังวลต่อความปลอดภัยของบุตรหลายในเวลานี้ โดยผลสำรวจ “ครูอนุบาล/ครูพี่เลี้ยง/ครูผู้ดูแลเด็ก” ในสายตาประชาชน พบว่า


    ประสบการณ์ตรงเรื่อง “ความรุนแรงในชั้นเรียน” ซึ่งเกิดจากครู
    – 78.90% ไม่เคย
    – 21.10% เคย (ตีด้วยไม้บรรทัด ไม้เรียว แปรงลบกระดาน หยิก ดึงหู ขู่ ตะคอก ฯลฯ )

    ความคิดเห็นที่มีต่อข่าว “ครู” ทำร้ายนักเรียน
    – 84.36% เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
    – 83.41% ไม่มีจรรยาบรรณความเป็นครู ขาดจิตสำนึก
    – 79.71% รู้สึกหดหู่ สลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    – 74.59% โรงเรียนขาดการดูแลเอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย
    – 73.64% กระทรวงศึกษาธิการควรมีมาตราการป้องกันอย่างเร่งด่วน

    สาเหตุที่ “ครู” มักมีข่าวลักษณะนี้บ่อยมากขึ้น
    – 86.77% ครูขาดจิตสำนึก ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู
    – 73.33% การสอบคัดเลือกครูไม่สามารถคัดกรองครูดีได้จริง
    – 63.28% โรงเรียนไม่เข้มงวด
    – 49.73% สภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ทำให้ครูเกิดความเครียด
    – 47.18% ปัญหาครอบครัว/เรื่องส่วนตัว

    นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจ “ครูอนุบาล/ครูพี่เลี้ยง/ครูผู้ดูแลเด็ก” กรณีที่เกิดขึ้นประชาชนมอง “ครู” ขาดจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูทุกคนควรจะต้องมี ผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ และผู้บริหารโรงเรียนควรที่จะดำเนินการตรวจสอบ แก้ไข และหามาตรการป้องกัน ซึ่งรัฐบาลเองก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นอีกด้วย ต้องใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขครูทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นปัญหาความรุนแรงในชั้นเรียนอาจจะเป็นเสียงสะท้อนต่อการทำงานของรัฐบาล

    เผยวิธีป้องกัน “ครู” ใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน พบ 79.80% ผู้บริหารโรงเรียนต้องสอดส่องดูแลและเอาใจใส่มากขึ้น

    เรื่องที่ผู้ปกครองเป็นห่วงบุตรหลานมากที่สุด
    – 80.54% การทำโทษของครู (ตี หยิก ดุ ด่า)
    – 62.41% การเรียน
    – 54.08% เพื่อนแกล้ง
    – 43.11% อาหารการกิน
    – 40.46% การเดินทาง (รถรับส่ง/รถสาธารณะ)

    วิธีป้องกันแก้ไขเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
    – 79.80% ผู้บริหารโรงเรียนต้องสอดส่องดูแลและเอาใจใส่มากขึ้น
    – 77.32% มีระบบคัดเลือกครูที่ดีมีมาตรฐาน คัดคนดี มีใจรัก
    – 72.31% ต้องควบคุม ดูแลทั้งพฤติกรรมของครูและเด็ก
    – 68.46% ผู้ปกครองต้องคอยสังเกต ซักถาม ดูแลบุตรหลานใกล้ชิด
    – 60.76% มีมาตรการและบทลงโทษที่รุงแรง

    ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ครูมีหน้าที่ที่ต้องดูแลเอาใจ ให้ความเมตตาต่อเด็ก สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การตีหรือหยิก เพื่อการสั่งสอน ลงโทษเพื่อให้หลาบจำ ไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีก หากมีการอธิบายความผิดให้เข้าใจ นักเรียนยอมรับความผิดและรับการลงโทษนั้นๆ สิ่งนี้ อาจจะไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดจากครู ซึ่งกรณีครู “จุ๋ม” จะเรียกว่าเป็นครูก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้จบปริญญาตรีครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าผิด