Wednesday, May 24, 2023
More

    เตรียมรับมือ PM2.5 วังทองหลาง ยานนาวา ลาดกระบัง และบึงกุ่ม ฝุ่นเยอะสุด

    นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 6-11 ม.ค. 2563 ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีลมอ่อน หรือสงบในช่วงเช้า อาจส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น

    กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” รวมทั้งเตรียมความพร้อมตามแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว


    นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ เช่น รณรงค์ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่องและบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการในสังกัดไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน พร้อมประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษารถเพื่อลดมลพิษแก่ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชน

    รวมถึงการห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ การคุมเข้มปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอาคารตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน และเมื่อฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานได้มีการประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจ ภายใต้แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครด้วย

    ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้เชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และสำนักงานประชาสัมพันธ์ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อมีค่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

    ขณะเดียวกัน สำนักนามัย กทม. ได้เตรียมพร้อมแพทย์ พยาบาลดูแลประชาชนจากภาวะฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยนายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

    โดยมอบหมายให้กองควบคุมโรคติดต่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และระวังอันตรายจากภาวะฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ตามแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ดำเนินการดังนี้

    ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ในการป้องกัน และดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แก่ประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์

    ในสถานการณ์ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข

    เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 50 – 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 76 – 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน

    ทั้งนี้สำนักอนามัยได้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้บรรเทาความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น

    อย่างไรก็ตามผลการรายงานสถานการณ์ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา พบว่าผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 10.00-12.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 41-71 มคก./ลบ.ม. โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59 มคก./ลบ.ม.

    โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังคงมีค่าเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 25 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตบางกะปิ เขตลาดกระบัง เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตบางขุนเทียน เขตพระนคร เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม เขตสวนหลวง และเขตคลองสามวา

    ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ที่ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้มากที่สุด 10 อันดับแรกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่
    อันดับ 1 ริมถนนลาดพร้าว ซ.ลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง 70 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 2 ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา 70 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 3 ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 70 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 4 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม 70 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 5 ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอมแหลม 69 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 6 ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ 68 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 7 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย 68 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 8 แขวงคลองเตย เขต คลองเย 68 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 9 ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน 66 มคก./ลบ.ม.
    อันดับ 10 ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ 65 มคก./ลบ.ม.